“ทีมลุง” คุมบินไทย “กัปตันตู่” รับผิดชอบนะจ๊ะ

by
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005733601.JPEG

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า “ทีมลุงตู่” จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการ “บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน)” หลังจากทางบริษัททำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเรื่องการแต่งตั้ง “คณะกรรมการบริหารบริษัท” หรือ “บอร์ดใหม่” จำนวน 4 คนเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา

รวมทั้งการเสนอชื่อ“ผู้ทำแผนฝ่ายลูกหนี้” ต่อศาลล้มละลายกลาง ซึ่งศาล ล้มละลายกลางก็รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา

ทีมลุงตู่ในส่วนของ “บอร์ด” มี 4 คนประกอบด้วย “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค บุญทักษ์ หวังเจริญ ไพรินทร์ ชูโชติถาวรและปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์”

ส่วนทีมลุงตู่ในส่วนของ “ผู้ทำแผนฝ่ายลูกหนี้” มี 6 คน ประกอบด้วย พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร และนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

เหตุที่ใช้คำว่า “ทีมลุงตู่” เนื่องเพราะเมื่อไล่เรียง “ประวัติ-สายสัมพันธ์” แล้วมิอาจมองเป็นอย่างอื่นได้

พีระพันธุ์ อดีตเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งหลังจากพรรคประชาธิปัตย์ขัดแย้งกันอย่างหนักจากศึกเก้าอี้หัวหน้าพรรค พีระพันธุ์ก็ยื่นใบลาออก และ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก็แต่งตั้งให้เป็น “ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี”

ขณะที่ “ไพรินทร์” อดีตเคยเป็น ซีอีโอ ปตท. ก่อนจะเข้าสู่วงโคจรการเมือง ได้เป็น รมช.คมนาคม รัฐบาล คสช. และได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี หลังพ้นจากตำแหน่งรมช.คมนาคม โดยปัจจุบันนายไพรินทร์เป็นกรรมการอิสระ กรรมการบริหาร และกรรมการเทคโนโลยี ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และที่ลืมไม่ได้คือ ถือเป็นคนที่หลังบ้านของลุงตู่ชื่นชอบ เพราะเป็นผู้ที่ชอบงานด้านการศึกษาเหมือนๆ กัน

ทว่า สุดท้ายแล้วนายไพรินทร์ได้ตัดสินใจลาออกบอร์ดการบินไทย เนื่องจากมีติดข้อกฎหมายของทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ห้ามรับตำแหน่งภายใน 2 ปี หลังจากพ้นจากตำแหน่ง รมช.คมนาคม และเคยกำกับดูแล การบินไทยซึ่งอาจเป็นประเด็นขัดแย้งได้

ส่วน “บุญทักษ์ หวังเจริญ” นายแบงก์มืออาชีพ อดีตซีอีโอ ธนาคารทหารไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นหนึ่งใน สนช. ชุดแรกที่ถูกคณะ คสช. ดึงเข้ามารับตำแหน่ง “ที่ปรึกษานายกฯ” โดยได้รับการแต่งตั้งจากลุงตู่ชุดเดียวกับนายไพรินทร์

อย่างไรก็ดี บุคคลที่ต้องจับตาเป็นพิเศษก็คือ “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” เทคโนแครตด้านพลังงานที่เคยผ่านประสบการณ์ในเก้าอี้ “ดีดีการบินไทย” มาแล้ว

ถ้าจะกล่าวว่า ปิยสวัสดิ์เป็น “คนในสายประชาธิปัตย์” ก็คงไม่เกินเลยไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก ด้วยภรรยาของเขาคือ “อานิก อัมระนันทน์” ก็คืออดีต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ตัวปิยสวัสดิ์เองก็เข้ามาเป็น “ดีดีการบินไทย” ในยุคที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี

ปิยสวัสดิ์ผ่านเก้าอี้สำคัญๆ มามากมาย อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่การบินไทย อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น

ปิยสวัสดิ์เข้าเป็นดีดีการบินไทยตั้งแต่ 18 มิ.ย.2552ซึ่งการบริหารงานช่วง 2 ปี 7 เดือน บริษัทมีผลการดำเนินงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้จากที่การบินไทยขาดทุนกว่า 20,000 ล้านบาท กลับมามีกำไรในช่วง 2 ปี โดยในปี 2552 การบินไทยได้กำไร 7,000 ล้านบาท ต่อมาปี 2553 การบินไทยก็ทำกำไร 15,000 ล้านบาท และมาสะดุดในปี 2554 เมื่อต้องเผชิญกับน้ำท่วมใหญ่และราคาน้ำมันแพงมาก

ทว่า ในช่วงกลางปี 2555 เทคโนแครตผู้นี้ก็ถูกปลดแบบ “ฟ้าผ่า” ทั้งๆ ที่สามารถพลิกฟื้นธุรกิจที่กำลังขาดทุนอย่างหนักของการบินไทยให้กลับมามีกำไรได้ เป็นการถูกปลดในยุคที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี “จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

ขณะเดียวกันการแต่งตั้งบอร์ดใหม่ทั้ง 4 คนก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า “กระทรวงการคลัง” คือแก่นแกนในการทำแผนฟื้นฟู มิใช่ “กระทรวงคมนาคม” เพราะก่อนหน้านี้ดูเหมือนว่า รัฐมนตรีศักดิ์สยาม ชิดชอบ จะ “เทกแอ๊กชันเป็นพิเศษ” แต่สุดท้ายเมื่อการบินไทยขายหุ้นออกไปให้กองทุนวายุภักษ์พ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ขอบข่ายอำนาจของกระทรวงคมนาคมในการกำกับก็หมดลงไปด้วย

ส่วน “ผู้ทำแผนฝ่ายลูกหนี้ ”ก็ เป็นไปตามที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ไว้ เพราะมี “4 บอร์ดใหม่” ของการบินไทยคือ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค บุญทักษ์ หวังเจริญ ไพรินทร์ ชูโชติถาวรและปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” ร่วมอยู่ด้วย

สำหรับ ไพรินทร์จะลาออกจากบอร์ดการบินไทย แต่ดูเหมือนว่าในส่วนของ “ผู้ทำแผน” จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยนายพีระพันธุ์ให้ความเห็นเอาไว้ว่า “ถึงแม้นายไพรินทร์จะลาออกจากบอร์ดการบินไทย แต่ชื่อผู้ทำแผนที่ถูกเสนอให้ศาลสั่งยังคงสถานะเป็นแคนดิเดตผู้ทำแผนต่อไป เพราะเป็นคนละเงื่อนไขตามกฎหมายป.ป.ช.ที่ห้ามเฉพาะเป็นกรรมการในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ไม่ห้ามเป็นผู้จัดทำแผน”

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005733602.JPEG
(ภาพบน) ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, บุญทักษ์ หวังเจริญ | (ภาพล่าง) พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร

อย่างไรก็ดี ในรายชื่อกรรมการของบริษัทการบินไทยที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ ในฐานะลูกหนี้ ถึงรายชื่อกรรมการของบริษัทฯผู้ทำแผนก็ไม่ปรากฏชื่อของนายไพรินทร์ด้วย มีเพียงชื่อของของบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับบอร์ดอีก 5 รายคือ พล.อ.อ. ชัยพฤกษ์ นายจักรกฤศฏิ์ นายพีระพันธุ์ นายบุญทักษ์ และนายปิยสวัสดิ์

ขณะที่ผู้ทำแผนฝ่ายลูกหนี้อีก 2 คนที่เหลือก็ต้องบอกว่าเป็น “ทีมของกัปตันตู่” เช่นกัน คือ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการบริษัท การบินไทย และนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการ คนที่ 2 และรักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย

บิ๊กต่าย-พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานบอร์ดการบินไทยเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2563 ที่ผ่านมานี้นี่เอง ณ ตอนนั้นก็เป็นที่ฮือฮาไม่น้อยเพราะนับเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่ “ทหารอากาศ” หวนกลับคืนสู่เก้าอี้ตัวนี้

ขณะที่นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลังก็เป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเป็นบอร์ดการบินไทยพร้อมกับ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์แล้ว เขายังได้รับมอบหมายให้เป็น “รักษาการดีดีการบินไทย” หลังจากที่ “หลานอากู๋-สุเมธ ดำรงชัยธรรม” โบกมืออำลา

สำหรับความคืบหน้าในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการนั้น เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้ายื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ โดยการบินไทยรายงานเหตุผลในการยื่นคำร้อง

โดยระบุว่า มีทุนจดทะเบียน 26,989 ล้านบาท หนี้สินรวม 354,494 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 349,636 ล้านบาท และมีหนี้ถึงกำหนดชำระวันที่ 21 พ.ค.2563 รวม 10,200 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้

และในวันถัดมาคือวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ศาลล้มละลายกลางก็รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นั่นหมายความว่า การบินไทยสามารถ “พักชำระหนี้” กว่าสามแสนล้านได้ทันที

“ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ นัดไต่สวนวันที่ 17 ส.ค. 2563 เวลา 9.00 น. ให้ประกาศคำสั่งรับคำร้องขอและวันเวลานัดไต่สวนในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อย 1 ฉบับ ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ห่างกันไม่เกิน 7 วัน กับให้ส่งสำเนาคำร้องขอแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายตามบัญชีรายชื่อเจ้าหนี้ และแก่นายทะเบียนหุ้นส่วน บริษัท หรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง กรมบังคับคดี

และให้ส่งให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตามมาตรา 90/9 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ให้ประกาศวันเวลานัดไต่สวนโดยวิธีลงโฆษณาทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอีกทางหนึ่ง หากเจ้าหนี้ประสงค์คัดค้าน ให้ยื่นคำคัดค้านก่อนวันนัดไต่สวนนัดแรกไม่น้อยกว่า 3 วัน มิฉะนั้นถือว่าไม่คัดค้าน”

นั่นต่อสิ่งที่ศาลล้มละลายกลางระบุรายละเอียดของขั้นตอนการดำเนินงานเอาไว้

นอกจากนี้ ในแผนฟื้นฟูดังกล่าวยังปรากฏชื่อ “บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอคไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด” หรือ EY เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู โดยมี “บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด” เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย

ประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานการแก้ไขปัญหา บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า หลังศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูการบินไทยจะมีการประสานส่งคำร้องให้เจ้าหนี้ ที่มีอยู่มากกว่า 1 ล้านราย ที่มีการแยกกลุ่มได้แก่ เจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้เงินกู้ เจ้าหนี้หุ้นกู้ซึ่งรวมสมาชิกรอยัลออร์คิดพลัสที่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ด้วย

ส่วนเจ้าหนี้ต่างประเทศ มีทางเลือกว่าจะรับคำร้องโดยเข้ากระบวนการฟื้นฟูของศาลไทย ก็ไม่จำเป็นต้องใช้แนวทางกฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกา Chapter 11 และให้ยื่นศาลในต่างประเทศ ที่การบินไทยมีทรัพย์สินอยู่หรือบินไปประเทศใด เพื่อให้รับทราบและคุ้มครองไม่ให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้

“คดีจะเร็วหากศาลล้มละลายกลางตกลงกับคู่ความและบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมทั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เกี่ยวกับรายละเอียดและผลทางกฎหมายในส่วนวิธีการติดต่อระหว่างกันว่าให้สามารถกระทำโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นตามข้อกำหนดคดีล้มละลาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 23, 34/1 และ 68 ประกอบข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการยืนส่งและรับคำคู่ความและเอกสารทางระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2560”ดร.กนก จุลมนต์ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาเเผนกคดีล้มละลาย ให้ข้อมูลเอาไว้ในเพจ “สื่อศาล” เอาไว้

อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจการการฟื้นฟูการบินไทยยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นามในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่143/2563 ลงวันที่ 25 พ.ค.63 เรื่องแต่งตั้ง “คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาบริษัทการบินไทย จำกัด มหาชน” โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และ มีกรรมการ ประกอบด้วย นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายชยธรรมม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นางสาวรื่นฤดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นทั้งกรรมการและเลขานุการ

งานนี้ มี “ผู้อกหัก” จากคมนาคมที่เคยหมายมั่นปั้นมือให้เป็นหนึ่งในผู้บริหารแผน 2 คนได้รับการแต่งตั้งเข้ามาด้วยคือ “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” ปลัดกระทรวงคมนาคม และ “ชยธรรม์ พรหมศร” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)
ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการติดตามการแก้ไขปัญหาบริษัทการบินไทย ในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ให้คำแนะนำกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหานี้ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของภาครัฐ โดยไม่เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาของศาล กลั่นกรองตรวจสอบ อำนวยความสะดวกประสานงานเพื่อประโยชน์แก่กระบวนการฟื้นฟู และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ ครม. และรัฐบาลหมอบหมาย รวมถึงการรายงานการปฏิบัติ และเสนอความคิดต่อ ครม.เป็นระยะ

“คณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่ใช่ซูเปอร์บอร์ด แต่เป็นบอร์ดที่เชื่อมโยงในฐานะเป็นคนกลางระหว่างรัฐบาลกับบริษัท ซึ่งเดิมไม่ต้องมีตัวกลาง เพราะตอนเป็นรัฐวิสาหกิจก็สามารถติดต่อได้เอง แต่เมื่อเป็นเอกชนแล้ว ก็เหมือนการติดต่อระหว่างแอร์เอเชีย และ เจแปนแอร์ไลน์ ที่จำเป็นต้องมีคนกลาง

หากถามว่าทำไมต้องมีคนกลาง และทำไมต้องติดต่อ คำตอบคือ รัฐวิสาหกิจ 80 กว่าแห่ง ถือหุ้นกู้ที่อยู่ในนั้นก็จะมีคนเดือดร้อน อีกทั้งตำรวจก็ยังต้องมีการสอบสวนว่าใครผิดใครถูก ในเรื่องการขายตั๋วหรือขายอะไรต่อมิอะไร รัฐบาลก็จะไม่มีโอกาสทราบ ขณะเดียวกัน ก็อาจมีการไปยืดการเข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟู สุดท้ายก็จะไม่รู้ว่าทำอะไรที่ไหน

ข้อสำคัญคือ การบินไทยยังสามารถที่จะบริหารองค์กรอยู่ได้ โดยยังต้องใช้สนามบินและติดต่อกองทัพอากาศ ซึ่งหากไม่ตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวก็จะไม่มีช่องทางตรงนี้ และอาจทำให้การฟื้นฟูสะดุดได้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ไม่ใช่ซูเปอร์บอร์ด แต่เป็นเพียงมินิบอร์ด”นายวิษณุยืนยันสถานภาพของคณะกรรมการชุดนี้

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005733603.JPEG
นายวิษณุ เครืองาม

จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า คณะผู้บริหารแผนจะจัดทำแผนฟื้นฟูเพื่อเสนอต่อเจ้าหนี้ โดยแผนเบื้องต้นจะทำการลดทุนจดทะเบียน โดยการลดราคาพาร์ จากหุ้นละ 10 บาท เหลือ 1 สตางค์ เพื่อรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนนำเสนอแผนต่อเจ้าหนี้ จากนั้นจึงจะมีการเพิ่มทุนอีก 5-8 หมื่นล้านบาท เพื่อให้การบินไทยเดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้ การลดทุนจดทะเบียนเหลือหุ้น 1 สตางค์ จะก่อให้เกิดความสูญเสียต่อผู้ถือหุ้น โดยกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 1,044.93 ล้านหุ้น คิดเป็น 47.86% ของทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้วหลังจากขายหุ้น 69 ล้านหุ้นหรือ 3.17% ให้กับกองทุนวายุภักษ์ 1 ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของกองทุนวายุภักษ์ 1 เพิ่มจาก 330.08 ล้านหุ้นเป็น 399.08 ล้านหุ้น คิดเป็น 18.29% ส่วนบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ฯ ถือหุ้น 71.65 ล้านหุ้นคิดเป็น 3.28% และธนาคารออมสิน 46.41 ล้านหุ้นคิดเป็น 2.13%่
ดังนั้นกระทรวงการคลังจะสูญเสียไป 10,438 ล้านบาท กองทุนวายุภักษ์ 1 จะสูญเสีย 3,986 ล้านบาท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จะสูญเสีย 715.78 ล้านบาท และธนาคารออมสินจะสูญเสียไป 463 ล้านบาท
ขณะเดียวกันการบินไทยยังมีแผนจะเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 5-8 หมื่นล้านบาท ดังนั้นหากผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องการรักษาสัดส่วนการถือหุ้นไว้ กระทรวงการคลังจะต้องใส่เงินเข้าไปอีก 2.35-3.82 หมื่นล้านบาท กองทุนวายุภักษ์ 1 เพิ่มทุนอีก 1.46 หมื่นล้านบาท ไทยเอ็นวีดีอาร์ 2,624 ล้านบาทและ ธนาคารออมสิน 1,704 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามหากคิดต้นทุนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังที่มีต้นทุนอยู่หุ้นละ 14 บาท เท่ากับว่ากระทรวงการคลังจะเสียหายจากการลดทุนครั้งนี้ 1.4 หมื่นล้านบาท

นอกจากนั้น เจ้าหนี้สถาบันการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธนาคารรัฐ จะมีการแปลงหนี้เป็นทุน เพื่อให้เงินกู้ยืมอีก 50,000 ล้านบาท โดยธนาคารกรุงไทยเป็นเจ้าหนี้ 8,000 ล้านบาท ธนาคารออมสิน 3,000 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า 437 ล้านบาท และธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย

ส่วนเรื่อง “ค่าตั๋ว” ที่กำลังมีปัญหา ก็มีความชัดเจนจาก ฝ่ายภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร การบินไทย ว่า “ยังไม่สามารถชำระคืนเงินค่าบัตรโดยสารได้ในขณะนี้ แต่มีความตั้งใจที่จะดูแลลูกค้าที่ขอคืนค่าบัตรโดยสาร (Refund) อย่างดีที่สุดภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการอย่างแน่นอน...”

นอกจากนี้ ในระหว่างนี้ การบินไทยยังต้องปวดหัวหนักเข้าไปอีก เมื่อ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่จ่ายน้ำมันตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมาทำให้การบินไทย ส่งผลกระทบต่อการให้บริการในลานจอด เช่นรถลาก รถยนต์ของฝ่ายช่าง ที่ต้องให้บริการลูกค้าภายในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยการบินไทย แก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยนำน้ำมันที่เหลืออยู่ในรถยนต์คันอื่นมาใช้ก่อน

รวมทั้งพบว่า ผู้ให้บริการน้ำดื่มบางรายไม่จัดส่งน้ำสำหรับใช้ในสำนักงานการบินไทยที่สนามบินดอนเมืองแล้ว ทำให้พนักงานไม่มีน้ำดื่ม
นายนเรศ ผึ้งแย้ม อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การบินไทย ให้ข้อมูลว่า หลังเข้าสู่แผนฟื้นฟูบริษัทได้ล็อกระบบการเบิกจ่ายเงินส่วนต่างๆ รวมถึงส่งผลให้มีการปิดเครดิตน้ำมันด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การบินไทยการบินไทยยังมีสภาพคล่องประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ยังมีความสามารถในการจ่ายอยู่ ดังนั้นขอให้ ผู้บริหารการบินไทยเร่งแก้ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้างานของพนักงาน และจะส่งผลต่อการให้บริการลูกค้าของการบินไทยได้

ดังนั้น มหากาพย์การบินไทยก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดกันต่อไป.