https://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2020/05/%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2-1.jpg

ศิริกัญญาชี้เตรียมรับมือหนี้เกินเพดาน ซัด พ.ร.ก.เหมือนคิดไปทำไป ไม่มีทางแก้ปัญหาได้

by

‘ศิริกัญญา’ ไล่ รบ.ฉีกทิ้งยุทธศาสตร์ชาติได้แล้ว ทำเงินกู้ติดกรอบล้าหลัง ฝันสลายพลิกวิกฤต ปีหน้าเตรียมรับมือหนี้เกินเพดานแน่ บอกไทยเข้มแข็ง สมัย รบ.มาร์คยังดีกว่า มีตัวชี้วัด

เมื่อเวลา 17.00 น.วันที่ 29 พฤษภาคม ที่รัฐสภา ที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระด่วน พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ถือเป็นวิกฤตรากหญ้า เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ประกอบกับรายได้เกษตรลดลงต่อเนื่อง อีกทั้งยังเจอกับพิษโควิดซ้ำซ้อนรายได้ของคนไทยลดลงอย่างถ้วนหน้า โดยตัวเลขคนจนจะเพิ่มขึ้นเป็น 18.9 ล้านคน คนว่างงานเพิ่มขึ้น 2-7 ล้านคน หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 14 ล้านบาท หนี้เสียครัวเรือนก็จะเพิ่มขึ้น ทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ และกิจการรายย่อยที่จะล้มตายอีก 26% มีผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยถ้วนหน้าในหลายประเทศ แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการรับมือ หลายประเทศหันกลับไปใช้วิธีการฟื้นฟูประเทศตัวเอง หลังโควิดจะเกิดภาวะชาตินิยมทางเศรษฐกิจ หันกลับไปฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ เช่น จีนดึงการลงทุนจากต่างประเทศกลับมาลงทุนในประเทศ ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตจากจีนกลับประเทศตัวเอง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่บทบาทของรัฐบาลจะใหญ่ขึ้นเข้าไปอุ้มบริษัทต่างๆ ในประเทศ

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ตนคิดว่าในวิกฤตก็ถือว่าเป็นโอกาสในการพลิกฟื้นประเทศไทยได้ โดยเน้นจากเศรษฐกิจในประเทศ แต่จากที่ตนได้ฟังแผนเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ในการพัฒนาการเกษตร กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และการบริโภคในประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เคยพูดไว้ ทำให้ตนฝันสลาย เพราะไม่ต่างอะไรจากนโยบายเดิม ซึ่งจะทำให้รัฐบาลเสียโอกาสพลิกฟื้นประเทศ เพราะก่อนโควิด แผนนี้ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้อยู่แล้ว ดังนั้น เงินกู้จำนวน 4 แสนล้าน ในการนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ จึงขอแนะนำให้ฉีกแผนยุทธศาสตร์ชาติทิ้งไปได้เลย เพราะอยู่ไม่ถึง 20 ปีแน่นอน ถ้าไม่ปรับให้เข้ากับสถานการณ์เพราะการประเมินโครงการเงินกู้ในรอบ 3 ปีที่ตนไปตรวจสอบก็หยาบๆ ไม่มีการถอดบทเรียนอะไรเลย ทั้งๆ ที่รัฐมนตรีหลายคนเคยอยู่ในภาคธุรกิจมาก่อน อย่างบอร์ดบริษัท ถ้าจะกู้เงินหลายล้านบาท ซีอีโอต้องทำการบ้านอย่างมาก

“แต่ใน พ.ร.ก.กู้เงินครั้งนี้ไม่มีรายละเอียดให้พิจารณา เหมือนคิดไปทำไป เหมือนไม่ให้เกียรติประชาชนที่เป็นเจ้าของเงิน และไม่มีทางที่จะบรรลุเป้าหมายได้ ถ้าไม่มีเป้าหมายขั้นแรก วันนี้เรายังพอมีเวลาแก้ไขโดยดูแบบอย่างจากในอดีต เช่น วิกฤตเศรษฐกิจปี 2552 โครงการไทยเข้มแข็ง สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการวางแผนโครงการไว้เหมือน พ.ร.ก.ตอนนี้ แต่สิ่งที่ต่างคือมีการวางเป้าหมายชัดเจนว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเท่าไร และจีดีพีเพิ่มขึ้นเท่าไร และยังมีดัชนีชี้วัดอีก 7 ด้าน แม้สุดท้ายแล้วการประเมินผลในปี 2554 ผลจะออกมาไม่เป็นไปตามเป้า แต่ทำให้เห็นว่า แม้มีเป้าหมายชัดเจนยังพลาดเป้าได้ แล้วตอนนี้ไม่มีเป้าหมายที่กำหนด แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ตนคิดว่าเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท หรือ 6% ของจีดีพี ไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในประเทศต่างๆ มีการจ่ายเงินมากกว่าไทย เช่น ญี่ปุ่นใช้เงิน 21% ของจีดีพี ดังนั้น จึงเชื่อว่า ปีหน้าเราจะมีหนี้สาธารณะเกินเพดานแน่นอน เกินเพดานไม่ใช่ปัญหา ตนจึงเห็นต่างกับฝ่ายค้านด้วยกันว่าหากมีความจำเป็นต้องกู้ก็ควรกู้มากกว่านี้ เพื่อให้คุ้มค่ากับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และต้องทำให้ได้จริงๆ โดยรัฐบาลต้องใช้เครื่องมือที่มีอยู่ โดยเฉพาะมาตรการทางภาษี และทบทวนข้อตกลงการเข้าร่วม CPTPP พรรคก้าวไกลเสนอให้เตรียมพร้อมสาธารณสุข สำหรับการรับมือการแพร่ระบาดรอบใหม่ เพื่อให้ปิดเมืองสั้นลง รวมทั้งเยียวยาประชาชน โดยใช้เงิน 1 ล้านล้านบาท แล้วเพื่อฟื้นฟูประเทศ หากยังคิดไม่จบให้กลับไปคิดมาใหม่ แล้วยื่นกลับมาเป็น พ.ร.บ.การฟื้นฟูประเทศควบคู่ไปกับการจัดสรรงบประมาณปี 2564 ใหม่ เนื่องจาก พ.ร.บ.จะมีความรอบคอบรัดกุมมากกว่า มีการตรวจสอบ และยึดโยงกับประชาชน ที่สำคัญคือมีการเรียนรู้บทเรียนที่ผิดพลาดในอดีตด้วย