ทีมกลั่นกรองฯเงินกู้4แสนล้านติวเข้ม จังหวัด/องค์กร ชงโครงการฟื้นฟูชุมชน
by ผู้จัดการออนไลน์ผู้จัดการสุดสัปดาห์ – ในช่วงที่สภาผู้แทนราษฎรเปิดอภิปราย พ.ร.ก.การเงิน 3 ฉบับ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (โควิด-19) ที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา และมีผลบังคับใช้แล้ว มีการกำหนดแผนงาน/โครงการในบัญชีแนบท้าย ประกอบด้วย
แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดโควิด-19 (แผนงาน/โครงการ กลุ่มที่ 1 วงเงิน 45,000 ล้านบาท แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับ ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 (แผนงาน/โครงการ กลุ่มที่ 2) วงเงิน 550,000 ล้านบาท สุดท้ายแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 (แผนงาน/โครงการ กลุ่มที่ 3) 400,000 ล้านาท
โดยเฉพาะ "แผนงาน/โครงการ กลุ่มที่ 3" สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่มี ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ ในฐานะประธานกรรมการฯ เป็น "คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้" ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.ก.นี้
วันก่อนฝ่ายเลขานุการฯ ได้เรียกประชุมหลายหน่วยราชการ และแถลงถึงรายละเอียดกรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในด้านต่าง ๆ วงเงิน 400,000 ล้านบาท โดยคาดหมายไทม์ไลน์ (ระยะเวลา) ที่เกี่ยวข้องหลังจาก พ.ร.ก.ออกมา และมีการเปิดเผยถึง "กรอบแนวคิดสำหรับใช้จ่ายเงิน" ใน 4 กรอบ ประกอบด้วย
1. "กรอบการลงทุน หรือกิจกรรมการพัฒนา" ที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยจุดขายของเศรษฐกิจไทย 2 ด้าน คือระบบสาธารณสุข เพื่อจูงใจให้คนไทยเที่ยวเมืองไทยในเชิงสุขภาพ ในลักษณะ"ไทยเที่ยวไทย" รวมถึง เรื่องการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร
ทั้งนี้ เงินจะต้องลงไปสร้างโอกาสให้กับภาคเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และมีโอกาส เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและเกษตร หรือ ภาคเกษตร อาจจะมีการเพิ่มผลิตผลและลดต้นทุน และกลุ่มที่เพิ่มมูลค่า ใช้นวัตกรรมให้สินค้าเกษตรให้มีมูลค่ามากขึ้น เช่น การสกัดสารสำคัญออกจากสมุนไพร เป็นต้น
2. "การฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน หรือฐานรากจากเดิม" ที่ต้องพึ่งพาการส่งออกและไม่มีความยั่งยืน เช่น ต่อไปประเทศไทยอาจต้องเน้นที่ "ภาคส่งออกที่ยั่งยืน" และ"เศรษฐกิจระดับฐานราก" ให้แข็งแรงมากขึ้น ผ่านกระบวนการส่งเสริมตลาดและการเข้าถึงช่องทางการตลาด สำหรับผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ของธุรกิจชุมชนที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวหรือภาคบริการอื่น การจัดหาปัจจัยการผลิตและสิ่งอำนวยความสะดวก ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานคุณภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน
มีการยกตัวอย่างว่า บทเรียนครั้งนี้ จะเห็นว่าภาคท่องเที่ยวมีผลกระทบอย่างมากจากที่เงินรายได้เข้ามา 2 ล้านล้านบาท แต่พอไม่มีส่วนนี้เข้ามากิจการก็ต้องปิด คนก็ตกงานกลับภูมิลำเนาไป เราต้องไปสร้างงานอาชีพให้คนในส่วนนี้ อันที่สองคือ จะไปดูแลการสร้างงาน เพิ่มรายได้ให้คนในชุมชน ที่อาจจะต้องเน้นสิ่งที่มีศักยภาพและคุ้นเคยคือการเกษตร ต้องไปเน้นผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยและมีมูลค่าเพิ่ม ก็ต้องไปทำเรื่องแหล่งน้ำด้วย
"อีกส่วนคือการท่องเที่ยวชุมชน ต้องพัฒนาสินค้าหรือบริการชุมชน เช่น ผ้าพื้นบ้าน อาหารพื้นบ้าน การบริการต่าง ๆ ฯลฯ ต้องพัฒนาการตลาดให้ผลิตภัณฑ์ มีระบบขนส่งที่ดีหรือระบบโลจิสติกส์ที่ดี"
3. "กระตุ้นการบริโภค" ที่ทำได้ก่อนคือ "ไทยเที่ยวไทย" แต่จะทำอย่างไรให้คนไทยไปเที่ยว แต่หลังจากสิ่งแวดล้อมเริ่มฟื้นตัวกลับมา คาดว่าจะเป็นจุดดึงดูดให้คนไทยมาเที่ยว เช่น อาจะส่วนลดของโรงแรมที่รัฐบาลช่วยอุดหนุนให้ โดยอาจจะเชื่อมโยงกับระบบภาษีเป็นการคืนผ่านภาษีแทน
ยังมีข้อเสนอเช่น "ช้อปช่วยชาติ" ที่จะต้องดูรายละเอียดอีกครั้ง แต่การท่องเที่ยวเป็นตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจน ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วกว่ามาตรการอื่น ๆ โดยคาดว่า "ไทยเที่ยวไทย" อาจจะได้เร็วที่สุดในไตรมาสที่ 3 ของปี
4. "โครงสร้างพื้นฐาน" ที่ไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่ตามปกติ แต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน เพื่อตอบโจทย์ของชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากในข้อที่ 2. "อาจจะเป็น การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำและระบบชลประทาน ที่จะต้องแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับแผนการพัฒนาจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ หรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ การเดินทางและขนส่งสินค้าจากชุมชน/ท้องถิ่น สู่ประตูการค้าหลักภายในประเทศ หรือการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมโยงชุมชนกับผู้บริโภคโดยตรง"
เลขาธิการสภาพัฒน์ยอมรับว่า เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ "ดับหมด"แล้ว ดังนั้นที่เครื่องยนต์ภาครัฐ เรื่องของ "ภาษีกับการใช้จ่ายของภาครัฐ" จึงต้องขับเคลื่อนแทน ดังนั้น จะใช้อย่างไรให้มีกลไก อุดหนุนตรงไหน อย่างไร จะต้องลงรายละเอียด เพื่อไม่ให้มีการรั่วไหล
โดย พ.ร.ก. มีกรอบการใช้จ่ายในระดับหนึ่งแล้ว และให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ทำรายละเอียดเพิ่มเติมเข้าครม. ดังนั้นระบบต่างๆ มีความชัดเจนและโปร่งใสพอสมควร โดยพยายามจะให้ทุกโครงการ จบภายในปีงบประมาณ 2564 เพื่อให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องก่อนที่งบประมาณปี 2564
ล่าสุด สภาพัฒน์ ยังเชิญผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าฯ หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ และผู้เกี่ยวข้อง สังกัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อซักซ้อมความเข้าใจต่อ "คู่มือการเสนอโครงการ กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในด้านต่าง ๆ รวมถึงขั้นตอนการจัดทำและเสนอโครงการภายใต้แผนงาน 3.2"
ภายหลังกฎหมายได้กำหนดให้คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ได้ทำกรอบนโยบาย เสนอครม.ไปเมื่อวันที่ 12 พ.ค. และวันที่ 19 พ.ค. ได้ทำรายละเอียด และวันที่ 25 พ.ค. ได้เชิญหน่วยราชการมาอธิบายรายละเอียดให้เข้าใจ และเตรียมคิดโครงการออกมา และส่งกลับมาภายในวันที่ 5 มิ.ย. ที่ประกอบไปด้วย สนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่นชุมชน การนำแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวใช้ การปรับตัวเพื่อรองรับการท่องเที่ยวตามวิถีใหม่ ความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน ลดช่องว่าง สร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่คุณค่า ฯลฯ มีขั้นตอนดังนี้
ในขั้นตอน "การจัดทำข้อเสนอโครงการ" ให้ส่วนราชการ/องค์กร/มูลนิธิ/ กองทุนหมู่บ้าน/วิสาหกิจชุมชน ในจังหวัดจัดทำโครงการตาม แบบฟอร์มที่กำหนด กรณี หน่วยงาน/องค์กรที่ไม่ใช่ หน่วยงานรัฐ จะต้องเสนอ โครงการผ่านหน่วยงานรัฐที่มีภารกิจสอดคล้องกัน เช่น สหกรณ์ เสนอผ่าน สำนักงานสหกรณ์จังหวัด เพื่อรวบรวม และเสนอต่อคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.)
เน้นย้ำไปถึงกระบวนการจัดทำโครงการ ผ่านระบบ ก.บ.ภ. และ ก.น.จ. โดยข้อเสนอโครงการ ควรได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในพื้นที่ และสอดคล้องกับแผนหมู่บ้าน/ ชุมชน แผนความต้องการของ อำเภอ แผนพัฒนาจังหวัด
สำหรับหน่วยงานราชการในจังหวัดผู้เสนอโครงการ พิจารณารวบรวม โครงการที่มีลักษณะเดียวกัน และมีหลายพื้นที่ดำเนินการ ให้จัดทำรวมเป็นโครงการเดียวกัน เช่น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน จังหวัด... มีพื้นที่ดำเนินการ รวม...หมู่บ้าน เป็นต้น
ขั้นตอน "การกลั่นกรอง และดำเนินการระดับจังหวัด" คณะกรรมการบริหารงานจังหวัด แบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) ซึ่งเป็น กลไกการมีส่วนร่วมจากภาคส่วน ต่างๆ ในจังหวัด จัดประชุม พิจารณากลั่นกรองโครงการ โดยดำเนินการ ดังนี้ พิจารณากลั่นกรองข้อเสนอ โครงการตามศักยภาพ/ปัญหา ของพื้นที่และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดทำโครงการ (Do-Don’t)จำแนกประเด็นการพัฒนา/ ประเภทโครงการ (เช่น เกษตรกรรมตามแนวทฤษฎีใหม่/เกษตรผสมผสาน ท่องเที่ยว ชุมชน/ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาผลติภัณฑ์ และส่งเสริมการตลาด แหล่งน้ำชุมชน โครงสร้างพื้นฐาน ชุมชน เป็นต้น) พร้อมจัดลำดับความสำคัญ ,จัดลำดับความสำคัญของโครงการในแต่ละประเภท
"ให้หน่วยงานของรัฐ ผู้เสนอโครงการ รับประเด็นข้อสังเกตของที่ประชุม (ถ้ามี) ไปปรับปรุงโครงการให้แล้ว เสร็จโดยเร็วและเสนอจังหวัดเพื่อ รวบรวมต่อไป และให้จัดส่งโครงการ และกลั่นกรองโครงการเบื้องต้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดส่งโครงการที่ผ่านกระบวนการ แล้วส่งมายัง สภาพัฒน์ ภายใน วันที่ 5 มิ.ย. โดยสภาพัฒน์ จะได้จัดทำความเห็นโครงการ และประสานกลับไปยังจังหวัด ภายในวันที่ 10 มิ.ย. โดยจังหวัดแจ้งความเห็นดังกล่าว แก่ส่วนราชการ/องค์กร/ มูลนิธิ/กองทุนหมู่บ้าน/ วิสาหกิจชุมชน ที่เสนอโครงการต่อไป"
ส่วนขั้นตอน "การเสนอโครงการฉบับสมบูรณ์" ส่วนราชการ/องค์กร/มูลนิธิ/กองทุนหมู่บ้าน/วิสาหกิจชุมชน ปรับปรุงโครงการให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ตามแบบฟอร์มที่กำหนด และจัดส่งหน่วยงานรัฐผู้เสนอโครงการ โดยหน่วยงานรัฐผู้เสนอโครงการ จัดส่งโครงการที่ปรับปรุงแล้ว ไปยังหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อรวบรวมเสนอกระทรวง พร้อมทั้ง กรอกข้อมูลรายละเอียดข้อเสนอโครงการในระบบระบบติดตาม และประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR)
ทั้งนี้ กระทรวงฯจะเป็นหน่วยงานรวบรวมโครงการ ทั้งหมดจำแนกตามรายจังหวัด เป็นภาพรวมประเทศ และเสนอรัฐมนตรีเจ้าสังกัดพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยกระทรวงต้องส่งรายละเอียดโครงการ ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีเจ้าสังกัดแล้วให้ สภาพัฒน์ ภายในวันที่ 15 มิ.ย.
"หมายเหตุ : การเสนอโครงการของ หน่วยงาน/องค์กรที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ (เช่น องค์กรเอกชน/มูลนิธิ/ กองทุนหมู่บ้าน/วิสาหกิจชุมชน) ให้ดำเนินการตามวิธีการที่กำหนดในเอกสารแนบท้าย
สุดท้ายขั้นตอน "การพิจารณากลั่นกรอง" สภาพัฒน์และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ พิจารณา รายละเอียดโครงการให้ แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 1 ก.ค.63 เพื่อเสนอผลการกลั่นกรอง ต่อคณะกรรมการเงินกู้เพื่อพิจารณาภายในวันที่ 14 ก.ค.63 ก่อนนำเสนอครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบ ในวันที่ 21 ก.ค.63 ต่อไป
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ ยังได้นำเสนอ ตัวอย่างโครงการภายใต้แผนงานที่ 3.2 ตามประเภทโครงการ เช่น "เกษตรกรรมการตามแนวทฤษฎีใหม่/เกษตรผสมผสาน โครงการท่องเที่ยวชุมชน/ ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมการตลาด แหล่งน้ำชุมชน โครงสร้างพื้นฐานของชุมชน เป็นต้น.
การซักซ้อมติวเข้ม จะคู่ขนานกับที่ "สภาผู้แทนราษฎร" เปิดอภิปราย ที่รัฐบาลมองว่า หากพ.ร.ก.ผ่าน ตามกรอบคือทุกโครงการ จะต้องนำเสนอครม.ให้ความเห็นชอบ ในวันที่ 21 ก.ค.นี้.