https://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2020/05/%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3-%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3.jpg

จิราพร ซัด โควิดสะท้อน รธน.-ยุทธศาสตร์ชาติล้าหลัง ย้อนบิ๊กตู่ คงพ.ร.ก.ไว้คุมคนไม่เอารบ.

by

จิราพร ซัด โควิดสะท้อนชัด รธน.-ยุทธศาสตร์ชาติสุดล้าหลัง ย้อนบิ๊กตู่ คงพ.ร.ก. กลัวตัวเองอลหม่าน เอาไว้คุมการแพร่ระบาดของคนไม่เอารบ.

เมื่อ 15.15 วันที่ 29 พฤษภาคม ที่รัฐสภา ที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระด่วน พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายว่า ฝ่ายค้านไม่ได้เตะถ่วงเวลา ขัดขวางการทำงานของรัฐบาลเพื่อช่วยประชาชน แต่พวกเราจำเป็นต้องแสดงความกังวลต่อพ.ร.ก.กู้เงิน เพราะแม้ว่า จะเห็นตรงกันว่า งบประมาณเพื่อเยียวยาประชาชน 5.5 แสนล้านบาทเป็นความเร่งด่วน ไม่สามารถรอขั้นตอนตามงบประมาณปกติได้ แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมการเยียวยาประชาชนถึงล่าช้า ไม่เร่งด่วนสมกับเป็นพ.ร.ก.เลย เงิน 5.5 แสนล้านบาทถือว่า เยอะ แต่เงื่อนไขการเข้าถึงเงินกลับเยอะกว่า เยอะจนประชาชนต้องต่อสู้เพื่อให้เข้าถึงเงินก้อนนี้ ทำไมตอนที่รัฐบาลแจกเงินชิมช้อปใช้ ให้คนไปเที่ยว ไปช้อปปิ้งถึงง่าย แค่บัตรประชาชนบัตรเดียวก็เข้าถึงได้แล้ว วิกฤตินี้สาหัสรัฐบาลกลับตั้งเงื่อนไข ในการพิสูจน์ความจนความเดือนร้อน จนประชาชนด่ารัฐบาลได้ขนาดนี้

“การแจกเงินถือว่า ง่ายที่สุด แต่รัฐบาลยังทำไม่ดี แล้วจะเอาอะไรมาเชื่อมั่นว่า มาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาว วงเงิน 4 แสนล้านบาท จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์สุงสุด โดยเฉพาะการสร้างงานให้กับประชาชน การใช้เงินต้องชัดเจน แม่นยำ แต่จากการศึกษาบัญชีท้ายกลับเป็นการวางกรอบกว้างๆ มีเอกสารไม่กี่หน้า มีแต่ชื่อโครงการ แต่ไม่มีคำอธิบายให้สภาฯ สะท้อนว่า รัฐบาลกู้มาก่อน แล้วค่อยคิดแผนงานทีหลัง ทั้งๆที่วันนี้พ.ร.ก.ประกาศใช้มากว่า 1 เดือนแล้ว แต่รัฐบาลก็ยังไม่พร้อมประกาศแผนงานต่อที่สภาฯ เลย โดยเฉพาะ โครงการต่างๆเพิ่มเติมจากเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ที่เห็นว่า สามารถจัดไว้ในระบบงบประมาณปกติได้ โดยไม่จำเป็นต้องออกพ.ร.ก.ที่ไร้การตรวจสอบจากสภาฯเพิ่มเลย เพราะตามพ.ร.ก.ระบุให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินต้องรายงานต่อครม.ทุก 3 เดือน แต่ให้รายงานต่อสภาฯปีละ 1 ครั้งนั้น สรุปแล้วเงินนี้เป็นของประชาชน หรือครม.กันแน่” น.ส.จิราพร กล่าว

น.ส.จิราพร กล่าวว่า การกู้เงินแบบไม่มีมียุทธศาสตร์รองรับวิกฤตครั้งนี้ เป็นความล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้น เป็น “งบเบี้ยหัวแตก แจกทุกกระทรวง” เพราะให้ทุกหน่วยงานเสนอ โครงการผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ที่นายกฯเป็นคนตั้ง ถือเป็นการตีเช็กเปล่า แบ่งเค้กงบประมาณเองกันหรือไม่ ตนอยากถามว่า งบก้อนนี้มีไว้เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน หรือแก้ปัญหาภายในของรัฐบาลเองหรือไม่ เงินก้อนนี้เป็นการผลักดันเงินลงสู่ชุมชน โดยไม่ใช่ชุมนุมคนกันเองไว้ใช้หาเสียงของพรรคการเมืองบางพรรคใช่หรือไม่ ที่ผ่านมาตนคิดว่า การฟื้นเศรษฐกิจจะไม่สามารถทำได้เลยถ้าไม่มีการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งนายกฯ ชี้แจงว่า มีไว้เพื่อป้องกันความอลหม่าน แต่ตนคิดว่า เป็นความอลหม่านของพล.อ.ประยุทธ์เองมากกว่า ตนไม่แน่ใจสถานการณ์ฉุกเฉินคุมโรคได้หรือไม่ แต่สามารถควบคุมนศ.ที่ออกมาเคลื่อนไหวในวันครบ 6 ปี รัฐประหารได้เรียบร้อยแล้ว เป็นพ.ร.ก.คุมวัยรุ่น ควบคุมการแพร่ระบาดการของคนที่ไม่เอารัฐบาล

“ถ้ารัฐบาลยังดึงดันคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ไม่ต่างอะไรกับการที่งูกัด แต่กลับเอาเชือกมารัดที่คอแทนการรัดขา คนจึงไม่ได้ตายเพราพิษงู แต่ตายเพราะเชือดรัดคอ ดังนั้น ต้องยกเลิกเพื่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ให้เงินกู้ทำงานอย่างเต็มที่” น.ส.จิราพร กล่าว และว่า วิกฤตครั้งนี้สะท้อนว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถือว่า ล้าสมัย ไม่สอดรับต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก ที่สำคัญ ถ้าเราไม่แก้รัฐธรรมนูญ 2560 จะไม่สามารถพาประเทศพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้เลย แต่การกู้เงินก้อนนี้รัฐบาลจงใจใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน บีบรัฐสภาทางอ้อมให้ยอมรับพ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งถ้าไม่ให้ผ่าน เราก็นึกถึงประชาชนที่รอใช้เงินอยู่ แต่ถ้าหากให้ผ่านไปง่ายๆ ก็นึกถึงภาระหนี้สินที่ประชาชนต้องคอยแบกรับที่ต้องใช้หนี้ไม่ต่ำกว่า 80 ปี จึงขอให้รัฐบาลพลิกวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสของประเทศ ไม่ใช่โอกาสของรัฐบาลที่จะสร้างความมั่งคั่ง มั่นคง ให้กับตัวเอง