https://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2020/05/562000006668201.jpg

นักวิ่งรอไปก่อน! ‘ก้องศักด’ ชี้มาราธอนยังจัดได้ยาก อาจต้องลองจัดแบบ 200 คน

by

หลังจากที่รัฐบาลและ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ไฟเขียวปลดล็อคหลายชนิดกีฬา ซึ่งทำให้เกิดคำถามถึงการจัดแข่งขันวิ่ง ทั้งระยะใกล้และมาราธอน ซึ่งเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมจากประชาชนนั้น

“บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยว่า การจะกลับมาแข่งขันวิ่งมาราธอนนั้นคงจะต้องรออีกสักระยะ เพราะเป็นการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก ซึ่งต้องทำงานร่วมกับสหพันธ์ว่าจะมีมาตรฐานในการจัดแข่งแบบใหม่ในภาวะโควิด-19 อย่างไร รวมถึงต้องทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิดด้วย อย่างไรก็ตามทางนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ให้ความสำคัญและยืนยันว่าจะไม่ทำอะไรที่เป็นการเสี่ยงเด็ดขาด

“เวลานี้แผนงานคือเรื่องสำคัญ สำหรับมาราธอนอาจจะต้องรอถึงสิงหาคมหรือกันยายนเป็นอย่างน้อย เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าหากเร่งจะก่อให้เกิดปัญหาได้ ต้องมีแผนงานที่ชัดเจนให้รัฐพิจารณา เบื้องต้นอาจจะลองจัดในแบบจำกัดผู้เข้าร่วมไม่เกิน 200 คน ว่าจะทำได้หรือไม่”

ด้าน นพ.เกษม ใช้คล่องกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา กกท. กล่าวว่า การคลายมาตรการต่างๆของภาครัฐมีมากขึ้น การวิ่งจะมีการปรับโฉมใหม่ บริบทของการวิ่งคือ ไม่ได้สัมผัส ประชิด เหมือนกีฬาอื่น แต่มาตรฐานมาราธอนนั้น ฝ่ายจัดการแข่งขันต้องใช้คนมาก การให้มีพื้นที่ระยะห่างระหว่างวิ่ง 3-5 เมตร ทำได้ยาก หรือ การใส่หน้ากากนั้นก็กระทบต่อเรื่องการส่งผ่านอากาศ ซึ่งทำได้เพียงการออกกำลังกายเดินเบาๆเท่านั้น

“เรื่องวัคซีน วันนี้ทุกค่ายพยายามเร่งดำเนินการ บางรายถึงขั้นทดสอบกับมนุษย์แล้ว สิ้นปี้ ต้นปีหน้า จะเกิดขึ้นในทางสาธารณะ แต่จะถึงประชาชนทั่วไปหรือไม่ต้องรอดู ในมุมมองทางการแพทย์ วัคซีนมี จะเปลี่ยนกระบวนการจัดวิ่งก็จะง่ายขึ้น คือ ขอใบรับรองว่า ฉีดวัคซีนหรือยัง แต่เวลานี้โฟกัสที่ เรื่องที่ไม่มีวัคซีน การจัดงานวิ่ง ในทางวิชาการ พอจะมีทางออก ต้องมีการคัดกรองสาธารณะ ต้องไม่ยุ่งยาก ง่ายสะดวกราคาถูก อาจจะใช้ชุดทดสอบของคณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในการคัดกรองด้วยน้ำลาย บ้วนน้ำลายเข้าพาชนะ ถ้าผ่านก็ร่วมการแข่งขันได้ เป็นทางแก้ที่เป็นไปได้ในกรณีวัคซีนมาไม่ทัน”

“ขณะที่รูปแบบนั้นของการดูแล เราจะไม่ลดมาตรฐานลงจะมีการดูแลที่ซับซ้อนขึ้น บริการทางการแพทย์ต่างๆ ในการปฐมพยาบาลก็จะเข้มงวดขึ้น ลดการปนเปื้อน การนวดอาจจะลดน้อยถอยลง เหงื่อ การหายใจรดหน้า อันตราย การแช่น้ำเย็นหลังการวิ่งก็คงทำไม่ได้ อาจจะเป็นการลดความร้อนส่วนบุคคล”

ขณะที่ รัฐ จิโรจน์วณิชชากร ผู้จัดการแข่งขัน บางแสน 21 ฮาล์ฟมาราธอน เปิดเผยว่า เราได้เข้าร่วมประชุมกับเวิลด์แอตเลติก หรือ สหพันธ์กรีฑานานาชาติแล้ว ในการจัดการแข่งขันในระดับมวลชนเป็นไปได้ แต่ อาจจะต้องปรับเปลี่ยนเยอะ ซึ่งสหพันธ์จะประกาศมาตรการออกมาเดือนหน้า เช่น การปล่อยตัวต้องเป็นระลอกๆ ละน้อยคน ระหว่างเส้นทาง จากเดิมให้น้ำดื่มทุก 2 กม. เปลี่ยนเป็น 10 กม. ครั้ง เพื่อลดการสัมผัส หรือ ให้พกน้ำดื่มไปเอง เช่นเดียวกับการเข้าเส้นชัย แบบโซเชียลดิสแทนซิ่ง พื้นที่ต้องกว้าง และลดการอยู่กันเป็นกลุ่ม เน่องจาก การจัดกีฬาคือการสู้โควิดอย่างหนึ่ง แต่ก็ต้องไม่รีบร้อน ต้องมั่นใจ มีหน่วยงานสาธารณสุขแนะนำ

“เวิลด์ แอธเลติก จะผ่อนคลายกฏบ้าง เช่นไม่ต้องเชิญนักกีฬาระดับ อีลิต จากต่างประเทศ ในส่วนของจีนจะจัดงานวิ่งใหญ่ขึ้นในเดือน ส.ค. โดยจะมีแค่ชาวจีนเท่านั้น เราก็รอดูโมเดลของจีนเป็นต้นแบบ และหากจีนจัดไม่ได้ ประเทศถัดไปที่หลายๆชาติยกตัวอย่างคือไทย เนื่องจากเราต่อสู้เรื่องโควิดได้ดี”