https://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2020/05/25272.jpg

รมว.ยุติธรรม เช็กความพร้อม บังคับคดี ขายทอดตลาด ตั้งเป้าหาเงินเข้าปท.1.8 หมื่นล.

by

รมว.ยุติธรรม เช็กความพร้อม บังคับคดี ขายทอดตลาด ตั้งเป้าหาเงินเข้าปท.1.8 หมื่นล.

เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่กรมบังคับคดี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวง​ยุติธรรม​ เดินทางตรวจความพร้อมการเปิดขายทอดตลาดทรัพย์สินทั่วประเทศ ที่จะเริ่มขายตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป หลังปิดการประมูลทรัพย์มา 3​ เดือน จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งมีนางอรัญญา  ทองน้ำตะโก อธิบดีกรมบังคับคดีและผู้บริหารกรมบังคับคดี ให้การต้อนรับ

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จากการตรวจความพร้อมทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง โดยน่าพอใจ การเตรียมความพร้อม อยู่ในมาตรการแบบวิถีใหม่ เช่น ผู้เข้าร่วมการประมูล ลงทะเบียนเข้าออก ผ่านwww.ไทยชนะ.com มีช่องทางซื้อทะเบียนล่วงหน้าผ่านอิเล็กทรอนิกส์ หน้าเว็บไซต์กรมบังคับคดี เพื่อลดความแออัด สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นจะไม่อนุญาตให้เข้าร่วม จัดตรวจร่างกาย บริเวณทางเข้าห้องขายทอดตลาด จัดที่นั่งมีระยะห่าง 1-2 เมตร  จัดการขายทอดตลาดทีละชุด แล้วทำความสะอาดห้องก่อนขายในชุดต่อไป

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การเปิดประมูลทรัพย์ ในรอบเดือนมิถุนายน 2563 นี้ จะมีทรัพย์ประเภท ที่ดินว่างเปล่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ห้องชุด และทรัพย์สินอื่นๆ ในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ จะมีการประมูลทรัพย์สินทั้งสิ้น 9,874 รายการ ราคาประเมินรวม 14,267,227,735.19 ล้านบาท ในส่วนของกรุงเทพฯ มีการประมูลทรัพย์สินทั้งสิ้น 1,094 รายการ มูลค่า 3,834,159,310.84 ล้านบาท

รวมการประมูลทรัพย์สินครั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะหาเงินให้ประเทศได้ถึง 18,101,387,046.03 ล้านบาท โอกาสนี้ตนจึงอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่สนใจสามารถเข้าร่วมการประมูลทรัพย์ได้เพราะมาตรการต่างๆ​ ในเรื่องการป้องกันเชื้อโควิด-19​ เราวางอย่างมีมาตรฐาน

รมว.ยุติธรรม ยังระบุว่า ตนได้กำชับกรมบังคับคดีเร่งอธิบายการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ที่ประสบปัญหาทางการเงิน กรณีบุคคลธรรมดาต้องมีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น มีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท ส่วนบริษัทจำกัด

ต้องมีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า3ล้านบาท แต่ไม่ถึง10 ล้านบาท และไม่สามารถชำระหนี้ได้ทัน สามารถยื่นขอทำการฟื้นฟูกิจการ เพื่อที่จะไม่ต้องล้มละลาย โดยหากศาลสั่งรับคำฟ้องขอฟื้นฟูกิจการแล้วภาระการชำระหนี้และดอกเบี้ยจะถูกหยุดไว้ และหากศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วย แผนผู้บริหารที่ระบุไว้จะดำเนินการฟื้นฟู ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผน แต่ไม่เกิน 3 ปี โดยผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความประสงค์จะยื่นเรื่องขอฟื้นฟูกิจการ สามารถประสานกรมบังคับคดีได้ที่ 1111 กด 79 หรือwww.led.go.th