https://spcdn.springnews.co.th/wp-content/uploads/2020/05/2BFC52F5-3B0F-4686-9D99-CD8AE62EE584-300x169.jpeg

ระบบดูแลหญิง ท้องไม่พร้อม คือ การป้องกันอาชญากรรมเด็ก

การเสวนาเรื่อง “ระบบดูแลหญิง ท้องไม่พร้อม คือ การป้องกันอาชญากรรมเด็ก” ครั้งนี้เป็นการรวมตัวของ 4 เครือข่าย คือ คณะทำงานด้านเด็ก เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า และเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม

กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม กล่าวว่า ท้องไม่พร้อม เป็นคำที่ผู้หญิงใช้กัน เป็นคำที่เขาใช้ในบริบทที่เขาอยู่ในภาวะที่ไม่พร้อม แต่ในภายหลังจึงมีการนำมาใช้เป็นคำพูดในแง่ตีตรา ซึ่งอยากให้เข้าใจถึงคำนี้ว่า จริงๆ เมื่อท้องแล้วทำให้เกิดปัญหากับชีวิต เขาจำเป็นต้องมีทางเลือก สังคมไทยยังคงมองว่า หากไม่พร้อมไม่ควรทำแท้ง หากมองต่อในแง่ว่า หากเขาจำยอมท้องต่อ หลังจากนี้มีใครช่วยเขาวางแผนหลังจากนี้หรือไม่ คำตอบคือ สังคมเรายังคงไม่มีตรงนี้ ปัญหาจึงจะเกิดพัวพันขึ้นหลังจากนี้ ฉะนั้น สังคมไทยยังไม่มีทางเลือกมากพอให้กับผู้หญิง เราต้องมีหลักประกันให้กับหญิงท้องไม่พร้อมด้วย

https://spcdn.springnews.co.th/wp-content/uploads/2020/05/D516E0BC-CFBA-46EE-A700-6F904075127A-1024x724.jpeg

สืบเนื่องจากกรณี “แม่ปุ๊ก” ซึ่งแสดงตัวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่าเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว มีลูก 2 คน อ้างว่า เด็กป่วยเป็นโรคประหลาด และโพสต์ภาพพร้อมข้อความเพื่อหลอกให้คนซื้อสินค้า และขอรับเงินบริจาค ต่อมาแพทย์พบว่า อาการป่วยของเด็กเกิดขึ้นจากการได้รับสารกัดกร่อนอย่างต่อเนื่อง จนเนื้อเยื่อระบบทางเดินอาหารถูกทำลาย

เมื่อมีการสืบหาข้อมูลแล้วพบว่า เด็กหญิง 1 รายที่เสียชีวิตเป็นเด็กที่ถูกยกมอบให้เป็นบุตรบุญธรรมโดยยกมอบกันเอง ในขณะที่เด็กชายคนที่ 2 เป็นบุตรแท้ๆ ของแม่ปุ๊ก ทำให้ขณะนี้แม่ปุ๊กถูกดำเนินคดีทางกฎหมายในข้อหา รับไว้ซึ่งเด็กเพื่อความมุ่งหมายเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ทำร้ายผู้อื่นโดยเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย/ฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น และยังฉ้อโกงประชาชน

นอกจากข่าวนี้จะเป็นข่าวที่น่าสลดใจ และกระแทกความรู้สึกของสังคมไทยเป็นอย่างยิ่งแล้ว ยังเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงจุดอ่อนของกลไกต่างๆ ในสังคมไทยที่มีต่อการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม และครอบครัวที่ไม่พร้อมจะดูแลเด็กอย่างชัดเจนยิ่ง

4 เครือข่าย ทั้ง คณะทำงานด้านเด็ก เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า และเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม เห็นว่า ปัญหาท้องไม่พร้อมและการไม่พร้อมที่จะเลี้ยงดูลูกเป็นประเด็นปัญหาที่เกิดจากเหตุปัจจัยหลายๆ ด้าน

https://spcdn.springnews.co.th/wp-content/uploads/2020/05/42610820-59E8-4F4F-94B8-387F45482057-1024x724.jpeg

การป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ผล นอกจากจำเป็นต้องดำเนินการในหลายๆ มิติควบคู่กันไปแล้ว ยังจำเป็นต้องอาศัยความละเอียดอ่อนในการทำความเข้าใจต่อปัญหานี้ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในสังคมอีกด้วย คณะทำงาน และเครือข่ายทั้ง 4 เครือข่าย จึงเสนอขอเรียกร้อง ดังนี้

1. ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันทบทวน และพัฒนามาตรการ และกลไกต่างๆ ในการป้องกันการ ท้องไม่พร้อม ที่มีประสิทธิภาพอย่างจริงจัง โดยให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเด็กและเยาวชน และคนในวัยทำงาน เพราะปัญหานี้เกิดขึ้นได้ในผู้หญิงทุกวัย รวมทั้งการให้ทั้งชายและหญิงมีบทบาทรับผิดชอบเสมอกัน

2. ขอให้สังคมไทยปรับทัศนคดิและมุมมอง จากการตีตรา และประณามผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมที่จำเป็นต้องยกมอบบุตรเพื่อการจัดหาครอบครัวบุญธรรม มาเป็นการให้ความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจ เพราะการประณามจะทำให้ผู้หญิงต้องหลบซ่อน และเผชิญปัญหาอย่างโดดดี่ยว นำไปสู่การตัดสินใจแก้ปัญหาโดยการขาดการไตร่ตรอง ขาดการเข้าถึงบริการการยกมอบบุตรที่ปลอดภัย

3. ภาครัฐและเอกชนที่มีภารกิจในการจัดบริการทางสังคมสำหรับหญิงท้องไม่พร้อมในด้านต่างๆ ร่วมกันเร่งดำเนินการ ดังนี้

4. ให้รัฐสนับสนุนเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า และเพิ่มเงินสนับสนุนจาก 600 บาท เป็น 2,000 บาท เพื่อเสริมช่วยให้แม่เลี้ยงเดี่ยวหรือครอบครัวที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ สามารถดูแลบุตรหลานของตนเองได้ โดยเฉพาะคนชายขอบ ยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการตรงนี้อีกด้วย

5. ควรมีมาตการการตรวจสอบการรับบริจาคในสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่มีการลงเรื่องราว รูปภาพในลักษณะที่ทำให้เด็กดูน่าสงสาร น่าเวทนา น่าสะเทือนใจ เพราะนอกจากเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็กแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนให้มีการแสวงประโยชน์จากเด็กอีกด้วย