เที่ยววิถีใหม่ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร" ปลอดภัยสไตล์ New Normal

by
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005779701.JPEG
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ออกมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ประกาศปิดเข้าเยี่ยมชมเป็นการชั่วคราว เพื่อควบคุมและหยุดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ล่าสุดทางรัฐบาลได้มีมาตรการผ่อนปรนออกมาทำให้สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งกลับมาเปิดบ้างแล้ว

ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. ได้มีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จึงกำหนดเปิดให้บริการ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร" ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยดำเนินตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005779702.JPEG
บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

การเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในช่วงนี้ นักท่องเที่ยวทุกคนจะต้องปฏิบัติตามมาตรการ ซึ่งเมื่อเดินทางมาถึงบริเวณด้านหน้าทางเข้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร จะได้รับการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายจากเจ้าหน้าที่ เพื่อทำการคัดกรองก่อนเข้าพื้นที่ หากมีอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส จะไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่โดยไม่มีข้อยกเว้น และนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เข้ามาใช้บริการจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะอยู่ในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005779703.JPEG
เจ้าหน้าที่ตรวจวัดอุณหภูมินักท่องเที่ยวก่อนเข้าชมด้านใน

หลังจากที่ได้รับการตรวจวัดอุณหภูมิเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนั้นผู้ใช้บริการทุกคน จะต้องลงทะเบียนการเข้าใช้งานด้วย QR Code หรือกรอกแบบฟอร์มที่เตรียมไว้ให้ ก่อนซื้อบัตรเข้าชมภายในพิพิธภัณฑ์ และผู้เข้าใช้บริการจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005779704.JPEG
จุดลงทะเบียนก่อนเข้าชมผ่านระบบ QR Code
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005779705.JPEG
ช่องจำหน่ายบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์

เมื่อลงทะเบียนการเข้าชมผ่าน QR Code บริเวณด้านหน้าทางเข้า และซื้อบัตรเรียบร้อยแล้ว จากนั้นเดินเข้าชมตามห้องการจัดแสดงต่างๆ นอกจากมีโบราณวัตถุให้ชมมากมายแล้ว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังมีโบราณสถานคือ พระที่นั่ง และ พระตำหนักบางองค์ ที่เป็นตัวอย่างของ งานสถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และก่อนเข้าไปชมการจัดแสดงด้านใน จะต้องสแกนลงทะเบียนการเข้าชมของห้องนี้ รวมถึงการเข้าชมห้องอื่นๆ ด้วย ภายในพระที่นั่งประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ และมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามยิ่ง พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ที่ประทับ ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005779706.JPEG
จุดลงทะเบียนก่อนเข้าชมตามห้องแสดงต่างๆ
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005779707.JPEG
ภายในพระที่นั่งประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005779708.JPEG
พระตำหนักแดง ที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๒

และพระตำหนักแดง ที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๒ รวมไปถึง พระที่นั่งขนาดย่อม และศาลาทรงไทยในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ศาลาสรง ศาลาสำราญมุขมาตย์ พระที่นั่งมังคลาภิเษก และ พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศนัย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังคงมีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไทย ที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของเกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005779709.JPEG
จุดสแกน QR Code ด้านหน้าพระตำหนักแดง
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005779710.JPEG
การจัดแสดงด้านในพระตำหนักแดง
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005779711.JPEG
จุดบริการเจลแอลกอฮลล์ล้างมือ
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005779712.JPEG
การจัดแสดงภายในโรงราชรถ

จากนั้นเข้าไปชมราชรถ ราชยาน และคานหาม ที่ใช้จริงในขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ได้ที่ “โรงราชรถ” จัดแสดงราชรถที่ใช้ในการพระบรมศพ อาทิ อาทิ พระมหาพิชัยราชรถ เวชยันตราชรถ ราชรถน้อย ฯลฯ และนอกจากนี้ก็ยังมีพระโกศจันทน์ทรงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
“พระมหาพิชัยราชรถ” เป็นราชรถสำคัญที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ใช้ในการอัญเชิญพระโกศพระบรมศพพระมหากษัตริย์ และพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อใช้ในการอัญเชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก สำหรับออกพระเมรุในการถวายพระเพลิงในปี พ.ศ.2339 โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นราชรถขนาดใหญ่ตามแบบพระราชประเพณีที่เคยมีมาครั้งกรุงศรีอยุธยา

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005779713.JPEG
มีเก้าอี้นั่งแบบเว้นระยะห่าง
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005779714.JPEG
ห้องจัดแสดงเครื่องศัสตราวุธโบราณ

นอกจากนี้ยังมีห้องจัดแสดงอื่นๆ อีกมากมาย อย่างเช่น ห้องจัดแสดงเครื่องศัสตราวุธโบราณซึ่งเคยใช้ในการสงครามตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ได้แก่ ตำราพิชัยสงครามสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จัดแสดงพร้อมหุ่นจำลองการจัดกระบวนทัพแบบครุฑ คชยุทธ์หรือช้างศึก ชุดยันต์ของทหารที่ใช้ออกรบ

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005779715.JPEG
พระที่นั่งราเชนทรยาน เป็นพระราชยานที่สร้างขึ้น โดยช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ 1

รวมถึงอีกหนึ่งไฮไลต์ของการจัดแสดงก็คือ "พระที่นั่งราเชนทรยาน" สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ พุทธศตวรรษที่ 24 พระที่นั่งราเชนทรยาน เป็นพระราชยานที่สร้างขึ้น โดยช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ ๑ สร้างจากไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก ทรงบุษบกย่อมุมไม้สิบสอง หลังคาซ้อน 5 ชั้น พนักพิงและกระจัง ปฏิญาณแกะสลักเป็นภาพเทพพนมไว้ตรงกลางมีรูปครุฑยุดนาค ประดับรอบฐาน แสดงถึงความเป็นองค์สมมติเทพของพระมหากษัตริย์

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005779716.JPEG
การจัดแสดงเครื่องดนไทยในสมัยก่อน
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005779717.JPEG
ที่นั่งพักผ่อนภายในห้องจัดแสดง
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005779718.JPEG
เครื่องถ้วยในราชสำนักหลากหลายแบบ
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005779719.JPEG
ธรรมาสน์กลม ศิลปะอยุธยาพุทธศตวรรษที่ 23-24

ถัดมาคือห้องมุขเด็จจัดแสดงเครื่องไม้แกะสลัก ซึ่งเป็นงานประณีตศิลป์ไทยที่สะท้อนวิถีชีวิตคนไทยมาแต่อดีต โดยมีงานจำหลักไม้ชิ้นเด่นที่อยู่กลางห้อง นั่นคือ “ธรรมาสน์กลม” หรือที่นั่งสำหรับพระสงฆ์นั่งเทศน์ ซึ่งเดิมอยู่ที่วัดค้างคาว จ.นนทบุรี เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย และไฮไลต์อีกชิ้นหนึ่งที่อยู่ด้านหลังก็คือบานประตูวิหารหลวงวัดสุทัศน์ ที่ ร.๒ ทรงฝากฝีมือแกะสลักไว้ร่วมกับช่างในพระราชสำนัก เป็นงานแกะล้วง ภายหลังบานประตูนี้ถูกไฟไหม้ไปเกือบครึ่ง จึงนำมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ และสร้างประตูบานใหม่ไปไว้แทน

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005779720.JPEG
ที่นั่งด้านนอกแบบเว้นระยะห่าง

นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถเข้าชมภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้ทุกวันพุธ-อาทิตย์ (ยกเว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ในเวลา 09.00-16.00 น. โดยมีค่าเข้าชม คนไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท สามารถถ่ายภาพภายในห้องจัดแสดงได้ แต่ต้องไม่ใช้แฟลช และงดถ่ายวิดีโอ สนใจสอบถามเพิ่มเติม โทร. 0-2224-1370, 0-2224-1402
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR