โอกาสฟื้นฟูประเทศมี จะทำหรือไม่...

by
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005730101.JPEG

"โสภณ องค์การณ์"

จากนี้บ้านเมืองจะไปอย่างไร?

นั่นคงเป็นคำถามของหลายฝ่ายซึ่งติดตามเฝ้ามองสถานการณ์โดยรวมซึ่งยังคงขึ้นอยู่กับการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และส่งผลกระทบไปทุกด้านทั่วโลก โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจทำเอาอยู่ในขั้นถดถอย

หลายประเทศต้องตั้งงบประมาณมหาศาล อย่างเช่นญี่ปุ่นต้องวางไว้ถึงกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งๆ ที่ยอดผู้ติดเชื้อมีกว่า 1.6 หมื่นคน เสียชีวิต 800 กว่าคนไม่มากเหมือนกลุ่มประเทศยุโรป แต่ทำให้เศรษฐกิจต้องหดตัวประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์

ญี่ปุ่นมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก การเยียวยาต้องมาก ส่วนกลุ่มยุโรปกำหนดไว้หลายล้านล้านดอลลาร์เช่นกัน ยิ่งสหรัฐฯ ไม่ต้องพูดถึง เหมือนเปิดเครื่องพิมพ์แบงก์ดอลลาร์ไม่หยุด เพราะยังคุมสถานการณ์ไม่อยู่ คนตายกว่า 1 แสน

แต่ทุกประเทศพยายามหาทางปลดล็อกมาตรการต่างๆ ซึ่งได้คุมการระบาด โดยยอมรับว่าเป็นการเสี่ยงต่อการระบาดรอบใหม่ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาจัดการ พร้อมงบประมาณมากกว่าเดิม เพราะความเสียหายจะต้องยืดเยื้อ ใช้เวลาฟื้นฟูนานด้วย

สภาวะเช่นนี้ ทุกประเทศต้องหาทางออกให้เร็วที่สุด ถ้าปล่อยให้เศรษฐกิจจมลึก หวังแต่จะรอให้มีวัคซีนหรือยารักษา จะเป็นการรอที่ไม่ทราบระยะเวลาที่แน่นอน แม้การคิดค้นวัคซีนจะมีมากกว่า 10 รายก็ตาม ผลที่ออกมายังไม่สร้างความมั่นใจได้

บ้านเราอยู่ในสภาพดีกว่า การรับมือกับการระบาดด้วยระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ ความสามารถของบุคลากรการแพทย์และโครงสร้างโดยรวม ทำให้ควบคุมการระบาดได้รวดเร็ว แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจมีไม่น้อยเช่นกัน

ตัวเลขคนว่างงานจะสูงกว่า 7 ล้านคน รัฐบาลเยียวยาได้ช่วงหนึ่งเพราะมีงบประมาณจำกัด จะกู้หนี้ต่อไปคงไม่ได้แล้ว เพราะต้องระวังระดับเพดานของหนี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณ การสร้างรายได้ การใช้คืนหนี้ ซึ่งอาจมีปัญหา

ฟังการอภิปรายเรื่องงบพิเศษยอด 1.9 ล้านล้านบาทแล้ว ยิ่งวางใจไม่ได้ว่ายอดเงินก้อนใหญ่นี้จะช่วยให้บ้านเมืองก้าวต่อไปได้ เพราะงบประมาณเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น วิธีการใช้ ผู้ใช้จ่าย จะส่งผลให้เห็นว่าความพยายามจะสำเร็จหรือล้มเหลว

ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านยังติดอยู่ในกับดักความคิดแบบเดิม ไม่มีคำรับประกันว่าการใช้งบจะปลอดจากการทุจริต รั่วไหล เพราะทุกฝ่ายเห็นงบก้อนใหญ่เป็นลาภโอชะ อยากมีส่วนร่วมในการจัดการ ความสงสัยเรื่องการทุจริตจึงยังแรง

งบพิเศษขนาดนี้จะว่าน้อยเกินไปคงไม่ถูก ถ้าใช้อย่างเต็มที่ ไม่มีระบบหัวคิว กินตามน้ำ ทวนน้ำ คงช่วยได้เยอะ และต้องระวังว่าอย่างมุ่งกู้อย่างเดียวเพื่ออุดรูโหว่งบประมาณขาดดุลทุกปี สักวันหนึ่งจะถึงจุดที่กู้ไม่ได้อีกต่อไป ถึงขั้นใช้หนี้คืนไม่ได้

ช่วงนี้มี 2 ประเทศผิดนัดการชำระหนี้ นั่นคืออาร์เจนตินา และเวเนซุเอลา ซึ่งมีวิกฤตเศรษฐกิจเรื้อรัง โอกาสที่จะสลัดพ้นจากบ่วงหนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะมีความซับซ้อน และเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก คนขาดกำลังซื้อ การฟื้นตัวจะยากกว่ามาก


ทุกประเทศกำลังเผชิญปัญหาความเร่งด่วน 2 อย่าง นั่นคือต้องเร่งควบคุมการระบาดของโควิด-19 และเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด เพราะทั้ง 2 อย่างกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เกิดปัญหาความมั่นคงทางการเมืองและสังคม

การอภิปรายในสภาได้ชี้ให้เห็นว่ารายละเอียดของการใช้จ่ายงบพิเศษครั้งนี้ยังไม่ชัดเจน และไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ฝ่ายรัฐบาลไม่กังวลเพราะมีเสียงข้างมาก ทำให้มั่นใจได้ว่า ถึงอย่างไรก็ได้งบมหาศาลก้อนนี้จากการสร้างหนี้ ไปใช้แน่นอน

ส่วนที่จะไปอุ้มธุรกิจเอกชน และผ่อนภาระหนี้สินในรูปแบบของตราสารหนี้จะเป็นเป้าหมายของการเฝ้ามองว่ามีการเลือกที่รักมักที่ชังถึงขั้นน่าเกลียดเพียงใด มีการอวยเอื้อกลุ่มธุรกิจของใครมาก เกินไปหรือไม่ เมื่อยังอยู่ในสภาวะช่วยตัวเองได้

ตัวเลขการติดเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดในบางวัน เป็นเฉพาะผู้เดินทางจากต่างประเทศ ทำให้มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าการระบาดในประเทศแทบไม่มี เว้นแต่พวกที่อาจไม่แสดงอาการ แต่ยังเป็นพาหะ ต้องใช้เวลาสำหรับการเฝ้าระวัง

การจะผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มต่างๆ ถือว่าเป็นภาวะเสี่ยง แต่แทบไม่มีทางเลือก การจะหวังให้เชื้อนี้หายขาดไป สิ้นสภาพ ขึ้นอยู่กับวัคซีนและยารักษาที่ได้ผล โอกาสที่จะให้ปลอดการระบาดทั้งโลก ยังเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นต้องเลือกให้ดี

จะทำเหมือนเป็นการระบาดแบบไข้หวัดใหญ่ก็ไม่ได้ เพราะโควิด-19 อันตราย และเสี่ยงกับการเสียชีวิตมากกว่า รวมทั้งความรวดเร็วของการระบาดด้วย ถ้าไม่ระวัง ปล่อยให้การ์ดตก โอกาสที่จะติดเชื้อเป็นวงกว้าง มีคนตายมาก อาจเอาไม่อยู่ก็ได้

สหรัฐ อเมริกา ชาติมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก ก็ได้เป็นอันดับ 1 ด้านจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 1.6 ล้านราย มีคนตายมากกว่า 1 แสนรายแล้ว ยังควบคุมไม่ได้ และจำเป็นต้องคลายการควบคุม เพราะมีคนว่างงานกว่า 38.6 ล้านคนใน 9 สัปดาห์

รัฐบาลต้องใช้โอกาสนี้สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนไทยและประชาคมโลกว่าการฟื้นฟูประเทศโดยลดการทุจริต คอร์รัปชั่น หรือพฤติกรรมไม่โปร่งใสต่างๆ ทำให้ไทยเป็นแหล่งการลงทุน การท่องเที่ยว โดยเฉพาะความมั่นใจในการดูแลสุขภาพ

การทำดีเพื่อประเทศชาติ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ไม่ต้องลงทุน หรือพยายามมาก เพียงแต่ผู้นำประเทศทำให้เป็นตัวอย่าง และประกาศมาตรการลงโทษเฉียบขาด ก็จะได้ผล และต้องทำให้กระบวนการยุติธรรมน่าเชื่อถือ ไว้ใจได้ ตัดระบบวิ่งเต้นเส้นสาย

ถ้าบอกว่าการทำดีเพื่อบ้านเมือง ผลประโยชน์ของประชาชน หยุดการทุจริตเป็นเรื่องยาก ต้องอธิบายด้วยว่าจะอยู่ต่อเพื่ออะไ