มนุษย์คุณภาพ “ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ”! (ตอนสอง) “พ่อได้เป็นนายกฯ แล้วนะโต้ง!”
by ผู้จัดการออนไลน์“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”
“คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล”
สุภาษิตธรรมอมตะนี้ ทั้งพ่อแม่ปู่ย่าตายายกับครูบาอาจารย์ สอนให้ทำเพื่อเป็นมงคลชีวิต เพราะ “ผู้คบคนพาล” ส่วนใหญ่ ชีวิตจะอยู่ในหลุมดำ แต่ “ผู้คบบัณฑิต” ส่วนใหญ่จะพบอนาคตสว่างไสว
ผมโชคดีมักได้เจอะเจอ “บัณฑิต” ที่มีจิตใจดี ความรู้มากหลายหลาก ยุควัยรุ่นได้พบ “บัณฑิตด้านการดนตรี” เจ้าของวงดนตรี “ช้างแดง” ที่มีบ้านอยู่ในซอยท่าน้ำ “เขียวไข่กา” ซึ่งเป็นบ้านเกิดและพ่อแม่ผมเปิดร้านกาแฟที่นั่น ยามมีงาน “ลุงดม ”มักเล่นดนตรีพิสดารเสมอ โดย “ลุงดม” ปีนขึ้นไปเป่าแซ็กโซโฟนบนยอดลำไม้ไผ่ สูงราวตึกสองชั้น เหมือนคณะเชิดสิงโตเขาทำกันนั่นแหละ
“ลุงดม” สอนผมเป่าแซ็กโซโฟน แต่ผมไม่เอาไหนเป่าไม่ดัง แถมยังเป็นลมเสียอีก เลยมาตั้งวงดนตรีกับ “แดง”ลูกของ “ลุงดม”กับเพื่อนๆ “ลุงดม” เคยเล่าถึง “เศรษฐา ศิริฉายา” แห่ง “ดิ อิมพอสซิเบิ้ล” และผมเองก็ได้ฟัง “เศรษฐา” พูดในรายการประกวดร้องเพลงของ “ทรู” ว่า เขาเคยเล่นดนตรีอยู่ในวง “ช้างแดง” มาก่อน..
วงดนตรีของพวกเรา มีผมเป็นนักร้องประจำวง “ลุงดม” เห็นพวกเราพอไปวัดไปวาได้ ก็เลยพามาเล่นสลับกับวงคอมโบ้ของ “ลุงดม” ที่คลับของโรงแรม “อัมรินทร์” ใกล้ “ศาลพระพรหม”สี่แยกราชประสงค์อยู่เป็นปีๆ ในยุคปลายที่ “ทหารจีไอ” จาก “ชาติมะกัน” ยังทำสงครามกับเวียดนาม วันนี้โรงแรมกลายเป็นศูนย์การค้า”อัมรินทร์”ไปแล้ว..
“เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516” ทำให้ผมติดพันกับกิจกรรมการเมือง จนลาออกจากการทำงานโฆษณา กับบริษัท “ซีเจแอลนิรมิต” ของ “ไพโรจน์ รัตตกุล” น้องชายของ “พิชัย รัตตกุล” ผมได้พบกับ “บัณฑิตด้านโฆษณา”อย่าง “พิทักษ์ ปิยะพงษ์”ครีเอทีฟมือฉกาจคนหนึ่งในยุคนั้น บริษัทนี้ทำโฆษณาให้กับการบินไทย โฟร์โมสต์ รถแลนเซอร์ กางเกงลีวาย ฯลฯ
การทำกิจกรรมทางการเมืองยุคนั้น ผมก็ได้รู้จักกับ “บัณฑิตหนุ่ม” มากหน้าหลายตา หลังมีการปราบประชาชนอย่างป่าเถื่อน ใน “เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519” ผมกับเพื่อนๆได้เดินทางสู่เขตป่าเขา ไปเป็นทหารใน “กองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทย(ทปท.)” ภายใต้ “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.)”
ในเขตต่อสู้ด้วยอาวุธของ พคท.นั้น ผมได้พบ “บัณฑิต” ที่มาจากเมือง และ “บัณฑิต” ชาว พคท.ที่มีผลงานโดดดังหลายคน ซึ่งเป็น “สหายนำระดับสูง” ของ พคท. ที่มิใช่จะพบกันได้ง่ายๆ อีกด้วย
เริ่มต้นจากเขต “เขาค้อ-ร่องกล้า” ซึ่งเป็นพื้นที่การเคลื่อนไหวของ พคท. ใน จ.เพชรบูรณ์กับ จ.พิษณุโลก ที่เขาค้อได้เจอกับเพื่อนพ้องน้องพี่หลายคน ทั้ง อนุช อาภาภิรมณ์-พิรุณ ฉัตรวนิชกุล-ธัญญา ชุณชฎาธาร-พินิจ จารุสมบัติ-สมคาด สืบตระกูล ฯลฯ
ส่วนที่ร่องกล้าได้ทำงานอยู่ใน “กองร้อย ทปท.” ซึ่งเพื่อนบางคนร่วมทางมาด้วยกันจากเขาค้อ แต่อีกหลายคนอยู่ที่ร่องกล้ามาก่อนผม เช่น เสกสรร ประเสริฐกุล-ประสิทธิ์ ไชโย-จิรนันท์ พิตรปรีชา ฯลฯ
จนกระทั่งวันหนึ่ง“สหายเล่าเซ้ง” ผู้นำ พคท.ในเขตเขาค้อ-ร่องกล้า ให้ผมเดินทางไปกับ “สหายศิลป์” ซึ่งเป็น “กรมการเมือง”ของ พคท. ที่มาจัดประชุมผู้ปฏิบัติงานของ พคท.ในบริเวณนี้
ขบวน“สหายศิลป์” มีทหาร ทปท.เกือบหนึ่งหมวด พาพวกเราเดินเท้าอยู่ในป่าเขาหลายวัน ผ่าน จ.อุตรดิตถ์ ข้ามแม่น้ำเหืองของ จ.เลย เข้าสู่ประเทศลาว โดยมี “รมว.ลาวคนหนึ่ง”มาต้อนรับ “สหายศิลป์”
การกล่าวต้อนรับของ “รมว.ลาว” คนนั้น อีกทั้งการพูดคุยต่อมา ทำให้ผมรู้ว่า “สหายศิลป์” นั้นเป็นถึง “เลขาฯ พคท.” ซึ่งใครได้เป็น “เลขาฯ พคท.” จะมีชื่อจัดตั้งเหมือนกันว่า ”สหายมิตรสมานันท์”!
จากนั้น “ทหารลาว” กลุ่มหนึ่ง ได้นำขบวน “สหายศิลป์”นั่งรถลงเรือเป็นวันๆ มุ่งไปสู่เมืองใหญ่แห่งหนึ่งของลาว การเดินทางมาราธอนหลายวันติดต่อกัน จากชายแดนลาวมาจรดชายแดนจีน ได้สร้างความเป็นกันเอง จนผมเรียก “สหายศิลป์” เป็น “ลุงศิลป์” จนติดปาก
ผมได้เข้าทำงานใน “หน่วยทฤษฎี” ที่ “ลุงศิลป์” รับผิดชอบโดยตรง ได้ร่วมงานกับ “บัณฑิตนามอุโฆษ” ระดับกรมการเมืองของ พคท.อีกหลายคน เช่นนักเขียนอย่าง “สหายนำ-บรรจง บรรเจิดศิลป์” และปราชญ์ พคท. อย่าง “สหายไฟ-อัศนี พลจันทร์” หรือที่รู้จักกันว่า “นายผี”
“สหายไฟ” ทำงานประจำอยู่ใน “หน่วยทฤษฎี” ผมสนิทจนเรียก “ลุงไฟ” ติดปาก “ลุงไฟ” รู้หลายภาษาและมีความรู้หลากหลาย ทั้งยังมีหนังสือมากมาย เช่น ทฤษฎีมาร์กซ-เลนิน-เหมาเจ๋อตง ให้ชาว พคท.ได้อ่านกัน
ที่สำคัญ “ลุงไฟ” เป็นทั้งนักคิด-นักเขียน-นักแปล-กวี-นักแต่งเพลง ฯลฯ ที่หาตัวจับยากคนหนึ่งของชาติไทย ดังนั้น คนที่มักโผล่มานั่งพูดคุยหน้ากองไฟ และดื่ม “กาแฟข้าวโพด” ของ “ลุงไฟ”นั้น มีทั้งเสกสรร ประเสริฐกุล-จิรนันท์ พิตรปรีชา นักวิชาการอย่าง ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา-อ.ยุพา ชุมจันทร์ นักดนตรีเพื่อชีวิตสังกัด “หน่วยศิลป์” ที่มักแอบมาเยี่ยม “ลุงไฟ” ก็มี หงา-สุรชัย จันทิมาธร-พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ฯลฯ
“หงา”โชคดีที่สุด! เพราะได้เพลง “เดือนเพ็ญ” ของ “ลุงไฟ” มาร้องและเล่นดนตรี จากในป่าจนคืนสู่เมือง เพลงอมตะนี้มีศิลปินชื่อดังอีกหลายคน โดยเฉพาะ “แอ๊ด คาราบาว” มาเจอ “ป้าลม” ภรรยา “ลุงไฟ” ที่บ้านผม เพื่อขอนำเพลงนี้ไปร้องด้วย..
เพลง “เดือนเพ็ญ” ของ “นายผี” นี้ ผมก็เคยได้ยิน “จารย์โต้ง” เล่นและร้องอยู่ที่บ้านเช่นกัน..เรื่องราวในเมืองจรดป่าเขายังมีอีกเยอะ แต่ขอเกริ่นสั้นๆ ด้วยดีใจที่ในชีวิต “ไม่คบคนพาล เพราะคนพาลพาไปหาผิด จึงคบแต่บัณฑิต ด้วยบัณฑิตพาไปหาผล”ไงล่ะ
ผมอยู่ในป่า 4-5 ปี หลังออกจากป่าราวปี 2525 ผมก็เข้าทำงานกับเพื่อนๆหลายแห่ง จนวันหนึ่ง “พี่อ๋า” กับผมได้มาเยี่ยม “จารย์โต้ง” และได้พบกับ “ตุ้ม-กำพล นิลวรรณ” ซึ่ง “จารย์โต้ง”ให้ “ตุ้ม” ทำหนังสือชื่อ “ไซ่ง่อน” ที่เขียนโดย “แอนโธนี เกรย์” มี “ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” เขียนคำนำ “จิรา สันติฤดี” แปล “กำพล ถนอม” เป็นบรรณาธิการ
หลังจากนั้น “จารย์โต้ง-ตุ้ม-ผม” มีเรื่องต้องแลกเปลี่ยนพูดคุยกันอยู่เสมอ กลายเป็นเพื่อนสนิทที่เจอกันแทบทุกวัน จน “บ้านราชครู”ได้กลายเป็น “บ้านหลังที่สอง” ของผมไปแล้ว
ที่บ้านราชครูของ “จารย์โต้ง”นี่แหละ ที่ผมได้เจอทั้ง “พล.อ.ชาติชาย” และ “ท่านผู้หญิงบุญเรือน” และนักการเมืองกับผู้มีชื่อเสียงทั้งไทยและเทศมากมาย ซึ่งเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ของ “จารย์โต้ง”
วันหนึ่งมีแขกที่เป็น “ทูตการเมือง” ของสถานทูตเวียดนาม แวะมาเยี่ยม “จารย์โต้ง” การพูดคุยในวันนั้น ผมได้เสนอกับ “มิสเตอร์ฟามเนียน” ขอทำหนังสือเรื่องและภาพศึก “เดียนเบียนฟู” ที่เวียดนามพิชิตชาตินักล่าอาณานิคมฝรั่งเศส จนพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ
ทำเอาฝรั่งเศสต้อง “ยกธงขาว” เผ่นหนีจากเวียดนามไปเลยท่านทูตเอก “ฟามเนียน” ที่แสนใจดี ได้บอก “จารย์โต้ง” กับผมด้วยความหวังดีว่า..
“ทำหนังสือจะมีรายได้คุ้มค่าเหรอ ทำไมไม่ทำการค้ากับเวียดนามเลยล่ะ ถ้า อ.โต้งกับคุณชัชสนใจจะทำธุรกิจในเวียดนาม ผมกับรัฐบาลเวียดนามยินดีช่วยเต็มที่นะ”
หลัง “ลุงฟามเนียน” ที่พูดภาษาไทยปร๋อกลับไป “จารย์โต้ง-ตุ้ม-ผม” ได้นั่งคุยกันต่อว่า พวกเราไม่ถนัดทำธุรกิจมาก่อนเลย พวกเราจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องหาใครสักคนที่มีความรู้ทางธุรกิจมาทำ นั่นเป็นที่มาที่ผมเดินทางไปชวนเพื่อนรักชื่อ “พีรพล ตริยะเกษม” ซึ่งขณะนั้นทำงานบริหารโรงพิมพ์ของ “ชัยรัตน์ คำนวณ” ให้มาเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกธุรกิจในเวียดนาม
“พีรพล” เป็นคนเก่งและรู้จักผู้ใหญ่เยอะ มีอุดมคติที่ดี และทำงานเพื่อสังคมด้วย อีกทั้งยังเรียนรู้ภาษาเวียดนามได้อย่างรวดเร็ว จนพูดได้คล่องแคล่วเหลือเชื่อ วันนี้พีรพลได้นำนักธุรกิจทั้งไทยและต่างประเทศ ไปลงทุนในเวียดนาม ทำโครงการใหญ่น้อยมากมาย..
หลังจากนั้นไม่นาน..ขณะที่พวกเรานั่งคุยกันที่บ้านเรือนไทยของ “จารย์โต้ง” ชายผู้สวมเสื้อคอกลมสีขาวนุ่งกางเกงแพร ที่มุมปากคาบซิก้าร์ เดินตรงมาทางพวกเรา ก่อนจะพูดสั้นๆอย่างอารมณ์ดีว่า..
“พ่อได้เป็นนายกฯ แล้วนะโต้ง”
..โปรดติดตามตอนต่อไปสัปดาห์หน้า..