เจ้าไอเดีย “ไก่สวรรค์ปลดหนี้” พลิกที่ 1 ไร่เป็นเงินล้าน สวนทางโควิด
by ผู้จัดการออนไลน์เคยเจ๊งเพราะการเกษตร ลืมตาอ้าปากได้ก็เพราะการเกษตร! เจาะใจ “ลุงสุชล” แห่งบ้านสารภี จากอดีตมนุษย์เงินเดือน 18 ปี แถมเป็นหนี้ครึ่งล้าน สู่การเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ตามแนวทางหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำได้จริง 1 ไร่ 2 แสนบาทต่อปี พ่วงตำแหน่งเจ้าของไอเดีย “ไก่หลุม-ไก่ตะกร้า-ไก่ชิงช้าสวรรค์” ที่ต่างชาติยังยกนิ้วให้ ลั่นวาจา จะช่วยเผยแพร่ศาสตร์พระราชาจนกว่าชีวิตจะหาไม่…
“ไก่ชิงช้าสวรรค์” หนึ่งเดียวในโลก!
“เคยได้ยินมั้ยตอนเด็กๆ ครูจะสอน “แม่ไก่ในตะกร้า ไข่ออกมา 4-5 ใบ อีแม่กาก็มาไล่ อีแม่ไก่ไล่ตีกา” ลุงก็เลยเอาแนวคิดพวกนี้ทดลองเลี้ยงไก่ในตะกร้า ต่อมาก็พัฒนาจากไก่ตะกร้า เนื้อที่ลุงมีไร่เดียว จะทำยังไงให้เยอะๆ กว่านี้ มองไปบนอากาศ 1 ไร่เป็นของเราทั้งหมด ก็เลยทำออกมาเป็น “ไก่ชิงช้าสวรรค์” อย่าทำให้สูงมาก ต่างประเทศมา 130 ประเทศ มาเห็นไก่ตะกร้าเขาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทั่วโลกไม่ใครเลี้ยงไก่แบบนี้ คิดได้ยังไง”
ชายสูงวัยท่าทางใจดี ในเสื้อลายสก็อตสีเขียว ผู้อยู่เบื้องหน้าทีมข่าว MGR Live คือ สุชล สุขเกษม เกษตรกรชาวจังหวัดสมุทรสงคราม วัย 58 ปี เขากล่าวกับทีมข่าวอย่างอารมณ์ดี ถึงเรื่องราวของ “ไก่ชิงช้าสวรรค์” สุดยอดนวัตกรรมที่โด่งดังไปทั่วโลก จากการเดินตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙
“ทีแรกก็เลี้ยงไก่สะเปะสะปะ ตอนหลังลุงไปดูงานที่สุพรรณบุรี ได้โจทย์เป็นหมูหลุม กลับมาไม่รอช้าสร้างหลุมเพื่อจะเลี้ยงหมูเลย แต่พื้นที่เราไม่เหมือนสุพรรณ 1. ร่องสวนถ้าหมูมันตกน้ำไปขึ้นไม่ได้ตัวมันใหญ่ 2. หมูส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้าน 3. หมูไม่ใช่รายได้รายวัน ลุงเลยเปลี่ยน
[จาก “ไก่ตะกร้า” สู่ “ไก่ชิงช้าสวรรค์”]
ในหลวงท่านบอกอะไรที่ไปดูที่ไหนมา ถ้าทำไม่ได้ เอาแนวคิดมาปรับใช้ ในเมื่อหมูหลุมมันเลี้ยงไม่ได้ หลุมก็สร้างเสร็จแล้ว ลุงก็เลยเอาไก่ไปใส่แทน ก่อนที่จะเอาไก่ไปใส่ ไก่ตัวนึงมันขี้วันละวันละ 5-6 ก้อน ก็เอาไก่ไปใส่ในหลุม หลุมละ 10 ตัว ขี้วันละ 50-60 ก้อน ลุงก็เอาขุยมะพร้าว แกลบดิบใส่ลงไป สัญชาตญาณไก่มันชอบคุ้ยเขี่ย ขี้ไก่ในหลุมลุงขายกระสอบละ 100 บาท แต่ถ้าอยากได้กระสอบละ 600 บาท เอามาอัดแท่งเป็นปุ๋ย นี่คือวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่ม
พอเลี้ยงไก่หลุมเสร็จแล้วก็มาพิจารณาดู ไก่มันชอบนอนที่สูงๆ ไก่ที่เลี้ยงในตะกร้ามีอยู่สายพันธุ์เดียวเท่านั้น คือ Rhode Island Red เลี้ยงในกรงตับ พอลุงมาใส่ในตะกร้า มันยืนได้เต็มตัว กินนอนได้เต็มตื่น พอไข่ออกมาในไข่ก็ไม่มีความเครียด
หลังจากไก่ตะกร้าเสร็จ ปี 60 เนื้อที่ไม่ค่อยมีจะเลี้ยง มองไปบนอากาศมันว่าง เนื้อที่ 1 ไร่มันเป็นของเรา ลุงก็เลยออกแบบเพื่อจะเลี้ยงไก่ลอยฟ้า ทีแรกจะขึ้นเป็นชั้นๆ วิธีการทำมันจะลำบากไง ก็มานั่งคุยกัน ถ้าเราทำแบบใส่ลูกปืนแล้วหมุนได้ เราไม่ต้องขึ้น อยู่ข้างล่างแล้วหมุนมา นี่มันไม่ใช่ไก่ลอยฟ้า เป็นไก่ชิงช้าสวรรค์แล้ว”
สำหรับไอเดียไก่ชิงช้าสวรรค์นั่น สามารถเลี้ยงได้ถึง 36 ตัวในเนื้อที่กำจัด ส่วนผลลัพธ์เมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยงไก่แบบทั่วไป เขากล่าวว่า แตกต่างอย่างสิ้นเชิง
และคุณลุงสุชลก็ใช้โอกาสนี้ ชี้แจงกรณีดรามา จากการที่มีบางคนตั้งข้อสังเกตถึงการเลี้ยงไก่ในตะกร้า ว่าเป็นการทรมานสัตว์หรือไม่?!
“แตกต่างกันสิ้นเชิงเลย ตรงที่ว่าเราใช้พื้นที่อย่างประหยัด อีกอย่างการดูแล ไม่ได้ได้แต่ไข่อย่างเดียว มันได้อย่างอื่นด้วย (ต้นทุน) แค่ 12,000 บาท ฐานเดิม 16 ตัว ฐานมันไม่มันคง มันเริ่มผุ ลุงก็เลยเอาลง แล้วสร้างอันใหม่ 36 ตัว
ลุงเคยเปิดเจอที่เขาคอมเมนต์มา คุณลุงทรมานสัตว์รึเปล่า ลุงก็กดตอบเองเลย ถ้าอยากทราบว่างๆ มาบ้านลุงได้ ตอนนี้ลุงจะบอกให้ฟังคร่าวๆ ว่าไก่ที่เลี้ยงในตะกร้ามันมีอยู่สายพันธุ์เดียวเท่านั้น คือ Rhode Island Red ทั้งโลกเขาเลี้ยงในกรงตับกัน แปะรูปไปด้วย
พอตอบเขาก็อ๋อๆๆ ขอบคุณครับคุณลุง ขอโทษครับ ต้องตอบเขาให้ได้ การมองมันไม่ตรงกัน จูนให้มันตรงกัน แล้วจะไปได้ดี มาฟังชี้แจงแล้วจะเห็นว่าไม่ทรมาน อารมณ์ดีอีกต่างหาก พอมันอารมณ์ดี ไข่มาอารมณ์ดีก็เข้าไปอยู่ในไข่ พอเราเอาไข่มากินก็ไม่มีความเครียด”
เป็นหนี้ครึ่งล้าน เพราะการเกษตร!
“ก่อนที่จะมาเป็นเกษตรกร พ่อแม่มีลูก 8 คน ลุงเป็นคนที่ 7 ลุงไม่ได้เรียนจบสูง จบแค่ ป.6 ที่โรงเรียนวัดตะโหนดราย ลุงก็เลยขออนุญาตพ่อแม่ไปทำงานที่กรุงเทพฯ ไปเป็นมนุษย์เงินเดือน 10 ปี พอแต่งงาน เตี่ยก็ให้พื้นที่ตรงนี้ 100 ตารางวา ท่านบอกมีปัญญาปลูกบ้านเอา ลุงเลยไปกู้หนี้ยืมสินมาปลูกบ้าน หมดไป 90,000 บาท ยังไม่เสร็จ”
ว่ากันว่าชีวิตคือการทดลอง น้อยคนนักที่จะประสบความสำเร็จได้ในก้าวแรก แม้แต่ลุงสุชลเอง เพราะเขาก็เป็นอีกหนึ่งคน ที่เคยผ่านความยากลำบาก เป็นหนี้ถึงครึ่งล้าน ที่เกิดจากการทำการเกษตรแบบไม่มีองค์ความรู้
“ตอนที่เริ่มทำ มีเงินติดตัวอยู่ 40,000 บาท เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง เห็นเขาเลี้ยงปลา เลี้ยงเห็ด วิธีการเลี้ยงลุงไม่เข้าใจ เห็นเขาเลี้ยงได้ก็เลี้ยงตามเขา นี่แหละเป็นสาเหตุที่ลุงต้องเป็นหนี้ ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาขอเช่าที่เตี่ยไร่นึง เลี้ยงปลาช่อนในร่องสวน เลี้ยงไก่ในกรงตับ เลี้ยงเห็ดหูหนู เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง ภายใน 2 ปี เคยได้ยินคำว่าเจ๊งมั้ย เจ๊งหมดเลย พอเจ๊งแล้วเป็นหนี้ 400,000 กว่าบาท หาเงินใช้หนี้เขาไม่ทัน พอดีเพื่อนชวนไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย
สมัยนั้นคนที่ไปทำงานซาอุฯ ไปขุดทอง แต่รุ่นที่ลุงไป ไปกลบหลุมที่เขาขุดไว้แล้ว เพราะลุงไปได้ 9 เดือน เกิดสงครามอิรัก-คูเวต ทำให้ซาอุดีอาระเบียโดนยิงไปด้วย เพราะไปช่วยคูเวต พอเกิดสงครามปุ๊บ เขาก็เลยสั่งโรงงานปิดหมด ไม่ปิดเปล่า ส่งคนงานที่มาจากต่างประเทศกลับให้หมด แต่เขาวงเล็บใครจะไม่กลับก็ได้ ขอให้เซ็นชื่อไว้ เผื่อตายจะได้มีหลักฐานว่าคุณไม่ยอมกลับเอง ลุงก็ยอมเซ็นชื่อไว้ หลังจากสงครามสงบ โรงงานก็เริ่มเปิดทำมาหากิน
ลุงอยู่จนถึง 8 ปี จากหนี้สิน 400,000 กว่าบาท เหลือแค่ 40,000 บาท ไม่ตายคงหาใหม่ได้ในประเทศไทย ลุงก็เลยลาออกกลับมา บริษัทก็ให้เงินค่าสวัสดิการพร้อมทั้งเงินเดือนเดือนสุดท้าย แลกเป็นเงินไทยได้ 90,000 บาท แต่ว่าเอาไปใช้หนี้ร ธ.ก.ส. 40,000 เหลือ 50,000 ลุงก็เริ่มทำมาหากินต่อ ถึงได้บอกว่าชีวิตคนเราไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ”
ตลอด 18 ปีกับการเป็นมนุษย์เงินเดือน แม้จะสามารถหาเงินปลดหนี้ได้จนหมด แต่ความยากลำบากยังไม่จบแค่นั้น เพราะชายคนนี้ยังต้องเผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจซ้ำเติมเข้าไปอีก หนักสุดถึงขั้นไม่มีแม้แต่ข้าวสารจะกรอกหม้อ …
“ลุงดันกลับมาตอนปี 40 ต้มยำกุ้ง ฟองสบู่แตก เศรษฐกิจดิ่งลงเหว กลับมาแทนที่จะมีงานทำต้องมาหาเช้ากินกลางวันเหมือนเดิม มาอาศัยรับจ้างไปวันๆ ใครใช้ทำงานอะไร ไปช่วยพระถือปิ่นโตบิณฑบาต ก็คือเป็นเด็กวัด ทดลองปลูกมะลิก็เอามาลัยไปร้อยข้างถนน แฟนก็ขึ้นต้นมะพร้าวอยู่บ้าน
ล้มลุกคลุกคลานมา แม้กระทั่งลูก บางทีจะไปโรงเรียนยังไม่มีข้าวสารหุงข้าวให้ลูก ไปยืมข้างบ้านมั่ง บางทีตังค์ไม่มีให้ลูก ต้องไปหยิบยืมพี่น้อง เดี๋ยวมีค่อยไปทยอยให้เขา สุดยอดมากสมัยนั้น ไม่คิดว่ามันจะวิกฤตแบบนี้”
เมื่อถามต่อว่า หนี้สินก้อนโตที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น เป็นเพราะการทำเกษตร แล้วทำไมคุณลุงจึงเลือกหนทางเดิมอีก ไม่กลัวประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกหรือ เขาก็ให้คำตอบกลับมาว่า แม้ในตอนแรกจะยังจับทางไม่ถูก แต่เมื่อได้ศึกษาและลองนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในพื้นที่ จึงรู้ว่าตนเองเดินมาถูกทางแล้ว
“ลุงปฏิญาณตนที่ประเทศซาอุฯ ว่า ถ้ากลับมาบ้านคราวนี้จะไม่ไปไหนแล้ว เพราะระหว่างนั้นลุงได้ศึกษาโครงการพระราชดำริ ศาสตร์พระราชา เศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รู้มั้ย ออกสื่อเยอะมาก พูดแล้วขนลุกนะ ในหลวงออกสื่อที่ซาอุฯเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นทีวี นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ซาอุดีอาระเบียเขายกนิ้วให้เลยนะ คิงยูสุดยอดมาก คือ ทำเพื่อพสกนิกรของพระองค์ท่าน ให้อยู่ดีมีสุขทุกครอบครัว
ลุงก็พยายามศึกษา จะใช้พื้นที่ที่เตี่ยมีอยู่ เดินตามรอยพระองค์ท่าน จะดูซิว่าทำได้จริงมั้ย ลุงก็ทำแรกๆ เรายังงมๆ ซาวๆ พอได้ไปเรียนรู้กับคนที่เขาเป็นแล้ว หรือว่าศูนย์ต่างๆ ทั่วประเทศที่เดินทางไปเรียนรู้ โครงการพระราชดำริลุงไปหมด แล้วก็ค่อยๆ มาปรับใช้ ว่าวิธีการ กระบวนการทำยังไง
ถึงได้บอกว่า ถ้าไม่ได้ออกไปเรียนรู้มา จะไม่ได้โจทย์ เราคิดเองบางอย่างมันไม่เต็มร้อย หลังจากเราทำแล้ว อะไรที่ขาดหายมาต่อยอดเอา ที่ในหลวงบอกว่า อยากได้มากกว่านี้ เอาไปต่อยอด บางอย่างกลายเป็นนวัตกรรมในการเลี้ยง อย่างไก่หลุม ไก่ตะกร้า ไก่ชิงช้าสวรรค์”
เกิดขึ้นจริง 200,000 บาท ต่อไร่ ต่อปี
“ปี 2547 เตี่ยบอกว่าที่ 1 ไร่ที่เอ็งเช่าอยู่ เตี่ยยกให้ไปเลย ลุงก้มกราบเท้าท่านเลย ลุงก็ไปเอาโจทย์ของในหลวงมาทำ ท่านบอกว่าใครมีเนื้อที่ 1 ไร่ ทำได้ 100,000 บาทต่อปี ก่อนที่จะทำ ลุงไปอบรมกับ “อาจารย์ยักษ์” (วิวัฒน์ ศัลยกำธร) ชลบุรี มา 3 วัน ในเรื่องของการปลูกพืชยังไงให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็ไปฟังการบรรยายโครงการเศรษฐกิจพอเพียงโดยท่าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ว่าวิธีการ กระบวนการทำยังไง
คราวหลังมาลุงเป็นสมาชิก อบต. 3 สมัย ไปศึกษาดูงานมาทั่วประเทศ เราก็ไปเก็บบริบทแต่ละพื้นที่ พอเดือนเมษายน ปิดประตูตัวเอง พอแล้วความรู้ที่ได้ ลงมือทำได้แล้ว เพราะในหลวงท่านตรัสไว้ว่า การที่เราจะอะไรประสบผลสำเร็จหรือไม่ ไม่ใช่อยู่ที่กระดาษ ไม่ใช่อยู่ที่ตัวอักษร อยู่ที่การลงมือทำ”
ด้วยความเชื่อในศาสตร์พระราชา จะเป็นทางออกให้กับตนเองและครอบครัวได้ ลุงสุชลตัดสินใจเดินหน้าในอาชีพเกษตรกรอีกครั้ง ทว่า… มีความท้าทายชิ้นใหญ่รออยู่เบื้องหน้า
“ใน 1 ไร่ เตี่ยปลูกมะพร้าวไว้ อายุของมะพร้าว 50 ปี ก็เลยปรึกษาอาจารย์ยักษ์ อาจารย์ยักษ์ก็บอกว่า ถ้าทำตามในหลวงก็ตัดต้นมะพร้าวทิ้งหมดเลย แล้วก็ทำหน้าดินให้มีธาตุอาหาร ไปเอาปอเทืองมาวาง ปลูกหญ้าแฝก ปรับพื้นที่”
ในหลวงท่านตรัสไว้ว่า ให้ปลูกพืชผสมผสาน ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ให้ปลูกพื้นเป็นขั้นบันได พื้นที่ลุงเป็นร่องสวนมันทำไม่ได้ ถ้าจะทำให้เป็นขั้นบันไดต้องไปตามตีนเขา แต่จริงๆ แล้ว พระองค์ท่านบอกไม่ได้อยู่ที่ตัวดิน ท่านบอกว่าอยู่ที่ตัวพืช
ทีแรกลุงไม่เข้าใจ คำว่าผสมผสานลุงก็ปลูกปนกันหมด ถ้าเราปลูกพืชไม่โดนแสงแดด จะมีอยู่ “3 ด.” ถ้าไม่มีแดด มันก็ไม่มีดอก ก็เลยไม่มีแดก เป็นสัจธรรมเลย พืชเตี้ยๆ ให้ปลูกทางทิศตะวันออก พืชสูงๆ ให้ปลูกทางทิศตะวันตก มันจะเป็นขั้นบันได
แล้วพืชที่ปลูก พระองค์ทางก็ไม่ได้บอกว่าเป็นพืชอะไร 77 จังหวัด บริบทอาจจะแตกต่างกัน ท่านเพียงแต่บอกว่าให้ปลูกพืชที่เป็น รายได้รายวัน รายอาทิตย์ รายเดือน และรายปี พืชที่เป็นรายอาทิตย์ รายเดือน และรายปี ลุงพอจะหาได้ แต่พืชที่เป็นรายได้รายวันลุงเดินหาเกือบเดือนกว่าจะได้มา มาได้คือดอกมะลิ ไปร้อยมาลัย”
จากเงินลงทุนบนที่ดิน 1 ไร่เพียง 50,000 บาท ผ่านไป 5 ปี ปราชญ์เกษตรผู้นี้สามารถปลดล็อกและต่อยอดองค์ความรู้ จนเกิดเป็นรายได้เพิ่มขึ้นถึง 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ
“พอมาปี 2552 ได้ตามที่พระองค์ท่านบอก ลุงก็เลยมาคิดต่อยอดเป็น 1 ไร่ 200,000 บาท ในเนื้อที่ 1 ไร่ วันนึง อย่างน้อยใน 1 วันก็พันกว่าบาท ตีก็เดือนละ 30,000 ปีก็ 360,000 หักค่าใช้จ่ายไป 160,000 เหลือ 200,000 ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ แปรรูปสินค้าลุงก็ไปเข้ากับ OTOP มี กล้วย เผือก มัน ทอดกรอบ ต่อมาก็ทำน้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้นไล่ยุง
[บรรดาสินค้าแปรรูป ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านสารภี]
ไปดูงานที่ไชยามา ก็กลับมาทำไข่เค็ม ทดลองทำไข่เค็มรสต้มยำ เอาเครื่องปรุงรสต้มยำมาต้มแล้วเอาไข่ไปดอง อร่อยมาก มีกลิ่นสมุนไพรข้างใน ช่วยขับเลือดขับลม ทำให้เลือดลมเดินสะดวก เสร็จแล้วก็มาทำไข่เค็มรสกะเพรา มีประโยชน์เยอะ พอเอาไปวิจัยแล้วก็ได้โจทย์ออกมา เลยไปจดสิทธิบัตรที่พาณิชย์จังหวัด เสร็จแล้วมาปีที่แล้วก็ทดลองใหม่ ทำไข่เค็มรสกาแฟ แล้วก็มาต่อยอดรสปลาร้า ประสบความสำเร็จก็เริ่มออกจำหน่าย
ที่อื่นทำส่วนใหญ่ก็เป็นเชิงเดียว 1. รายได้ไม่ใช่รายวัน 2. ลุงทุนสูงมาก 3. ต้องใช้เคมีเยอะ 4. บางทีเราต้องเป็นหนี้เป็นสินเยอะมาก เหมือนที่ลุงไปลงทุนกู้เขามาทำ ถ้าเกิดใช้ศาสตร์พระราชามาปรับใช้ ต้องดูพื้นที่ว่ามีกี่ไร่ ที่ลุงออกแบบไปให้แค่ 1 ไร่ 200,000, 2 ไร่ 400,000 และ 3 ไร่ 600,000 บาทต่อปี ถ้าใครมีที่ ลุงจะออกแบบให้ว่าทำยังไงถึงจะได้
ปลูกพืชอย่างเดียวเราต้องซื้อปุ๋ย นี่เราเลี้ยงสัตว์เราไม่ต้องซื้อปุ๋ย แถมได้ผลผลิตจากสัตว์อีก เราก็เอาผลผลิตไปแปรรูป ไม่มีเคมี ส่วนพวกแมลงต่างๆ เราก็จะใช้สมุนไพรกำจัด หรือใช้ศัตรูสัตว์จัดการกันเอง อย่างเช่น แมลงดำหนาม เราก็เอาแมลงหางหนีบไปปล่อย ไร่ปลอดสารพิษที่ครบวงจร หยิบมากินเดี๋ยวนี้เลยก็ได้ อย่าปล่อยให้เนื้อที่ว่างเปล่า ทุกกระเบียดนิ้ว ให้มันเป็นประโยชน์ ขี้ไก่ลุงก็ขาย มันขายได้หมด อยู่ที่ว่าเราจะทำหรือไม่”
พลิกโควิด เป็นโอกาส “ช่วงที่เกิดโควิด หน่วยงานรัฐก็เริ่มสั่งมาตรการเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ พอเริ่มปิดแหล่งของกิน ออกไปซื้อตุนกันเพียบเลย แต่บ้านลุงแทบจะไม่ได้ซื้ออะไรเลย ซื้ออยู่ 3 อย่างเท่านั้นเอง 1. น้ำมันรถ เวลาออกไปไหน 2. น้ำมันพืช ทำอาหาร ลุงไม่ได้ทำเอง 3. ข้าว ลุงไม่ได้ทำข้าว นอกนั้นไม่ต้องซื้ออะไรเลย มีกินตลอด ที่บอกว่าลุงได้วันละ 1,000 แต่พอเกิดโควิด ลุงขายวันละ 2,000-6,000 ลุงทำสถิติไว้ภายใน 2 เดือนกว่า ทีแรก 8,000 บาทต่อ 1 วัน แต่มาทำลายสถิติเมื่อวันก่อน 22,000 เลยบอกให้เห็นว่าวิกฤตกลายเป็นโอกาสของลุง คนที่ทำตามในหลวง ในหลวงท่านก็บอกว่า พอเกิดวิกฤตมันอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง มารุมซื้อกันน่าดูเลย เชื่อมั้ย เขาถือแผง (ไข่ไก่) กันมา บางคนถือมา 5 แผง บอกลุงไม่ขาย เอาไปแค่แผงเดียวพอ เดี๋ยวเอาไว้ให้คนอื่นมั่ง เพราะว่าวิกฤตแบบนี้ ถ้าหนูเอาไปหมดแล้วคนอื่นจะกินอะไร ลุงไม่ขายจริงๆ ถือแผงเปล่ากลับไป 4 อัน ได้ไปแผงเดียว เราไม่ได้จ้องจะเอาแต่เงิน เราดูปริมาณในการบริโภค พอเพียงกันมั้ย พยายามแจกจ่ายให้ทั่วถึง เพราะวิกฤตแบบนี้ไม่มีใครช่วยเราได้ ถึงจะช่วยได้ก็เป็นบางส่วน เราต้องช่วยตัวเองก่อน” |
จะเดินตามศาสตร์พระราชา จนกว่าชีวิตจะหาไม่
จากเนื้อที่ 1 ไร่ และเงินตั้งต้นอีก 50,000 บาท ได้ต่อยอดที่ดินผืนนี้ ให้กลายเป็นแหล่งขุมทรัพย์ของครอบครัว ยิ่งไปกว่านั้น องค์ความรู้ที่ปราชญ์ชาวบ้านผู้นี้มี ถูกนำไปผนวกกับความรู้จากหน่วยงานต่างๆ ตกผลึกเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเก็บเกี่ยวไปปฏิบัติตามได้
“พอปี 52 หน่วยงานรัฐเล็งเห็นว่าลุงเดินตามรอยศาสตร์พระราชาจนประสบผลสำเร็จ หลายๆ หน่วยงานรัฐ รวมทั้งเอกชน ก็มาคุยกัน จับมือกันเซ็น MOU ให้ตรงนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ลุงเป็นประธาน มี 70 ฐานการเรียนรู้ ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ แปรรูป บ่อแก๊สก็มี ไม่ต้องซื้อแก๊สใช้ ทำกับข้าวต่อเข้าไปในบ้าน คนถามทำยังไง แต่ก่อนลุงต้องเดินบอกทุกคน ตอนนี้ไม่ต้องแล้ว มีคิวอาร์โคด 5 ประเทศติดอยู่
ต่างชาติเยอะ มาเยี่ยมชมที่นี่ 130 ประเทศ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาจับกันหมด อย่างเช่น ประมง ปศุสัตว์ เกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นำองค์ความรู้ต่างๆ มาเผยแพร่ร่วมกับศาสตร์ของลุง เผยแพร่ให้กับชุมชนในจังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่เข้ามาสนับสนุน กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ระดับต้นๆ ของประเทศ มาที่เดียวจบ มันตอบโจทย์ตรงที่ (พื้นที่) ไม่มาก อยู่ที่การบริหารจัดการ ทุกกระเบียดนิ้วต้องมีประโยชน์
คนที่ตั้งใจมาเรียนรู้ที่นี่เขาตั้งใจมาจริงๆ บางคนมาดูก่อน บางทีไม่พร้อม ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน แต่ถ้าใครมีที่มีทาง มาได้เลย แต่ถ้าให้เป็นรูปแบบ ที่นี่จะมีการฝึกงานด้วย 1-2-3 อาทิตย์ พอฝึกงานเสร็จ เอาไปลงมือทำ ลุงจะออกใบประกาศนียบัตรจากที่นี่ให้ไปเลย ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่เป็นงานวิจัยประสบผลสำเร็จ มีคนเอาไปลงมือทำ”
ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจในการเดินตามศาสตร์พระราชา จนในที่สุดก็ประสบผลสำเร็จและกลายเป็นแบบอย่างให้แก่เกษตรกรคนอื่นๆ นำมาซึ่งรางวัลแห่งเกียรติยศ นั่นก็คือ เกษตรพอเพียง 1 เดียวในประเทศ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
“เมื่อปี 60 พระเทพฯ ท่านให้หน่วยงานของสมาน-เบญจา เป็นหน่วยงานของ กศน. ทุกจังหวัดให้คัดเลือกนักเรียน ตอนหลังลุงไปเรียน กศน. หัวข้อเศรษฐกิจพอเพียง มี 6 สาขา 77 จังหวัด คณะกรรมการก็มาคัดเลือก ของใครนะเข้าตา เหลือแค่ 6 จังหวัด ลงพื้นที่ดูว่าทำได้จริงมั้ย หายไปประมาณเดือนกว่า คณะกรรมการโทร.มาบอกว่าลุงได้รับเลือกให้มารับรางวัลกับพระองค์ท่าน ที่ส่งประกวดเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นศิษย์เก่า กศน.
ดีใจมาก เหมือนประกวดนางงาม หนึ่งเดียว 77 จังหวัด สุดยอดมากเลย พระเทพฯท่านได้ฝาก หลังจากที่รับรางวัลแล้ว ท่านฝากให้ลุงช่วยเผยแพร่โครงการของพระองค์ท่านให้หน่อย เพราะพระองค์ท่านพระองค์เดียว ไม่สามารถปูพรมได้ทุกหลังคาเรือน อีกอย่างท่านบอกว่า ไม่รู้ว่าพสกนิกรคนไหนจะหยิบยกมาปรับใช้ ลุงก็เลยตอบไปว่า ทุกวันนี้ข้าพเจ้าจะช่วยเผยแพร่โครงการของพระองค์ท่านอยู่แล้ว และจะช่วยเผยแพร่จนกว่าชีวิตจะหาไม่”
ไม่เพียงแค่รางวัลนี้เพียงชิ้นเดียว เพราะลุงสุชล ได้รับรางวัลด้านการเกษตรมาแล้วนับร้อย แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่มีค่ามากกว่ารางวัลทั้งหมด คือ การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้จนประสบความสำเร็จ
“สิ่งที่ภาคภูมิใจไม่ใช่ของพวกนั้น ที่ภาคภูมิใจคือได้น้อมนำหลักปรัชญาของท่านมาทำแล้วประสบผลสำเร็จ เพราะหลายๆ คนก็อยากจะทำ แต่บางทีตีโจทย์ไม่แตกก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ตรงนี้สำคัญมาก พอเราประสบผลสำเร็จ มันเหมือนเราก้าวถึงบันไดขั้นสุดท้าย แล้วเราสามารถต่อยอดและเผยแผ่ด้วยตัวของเราเอง
ถึงได้บอกว่าการพัฒนาไม่มีการหยุดนิ่งอยู่แล้ว มันอยู่ที่เราจะคิด ในหลวงท่านบอก ถ้าอยากได้มากกว่านี้เอาไปต่อยอดสิ ไปพัฒนาเอา เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ตอบโจทย์เป๊ะ เข้าใจแล้ว เข้าถึงลงมือทำเลย ทำเสร็จแล้วพัฒนาต่อ”
เศรษฐกิจพอเพียงพลิกชีวิต
ตลอดระยะเวลากว่า 16 ปี ในเส้นทางสายอาชีพเกษตรกร เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมายในชีวิตของชายคนนี้ ที่ไม่เพียงแค่การพาครอบครัวหลุดพ้นจากภาวะหนี้ จนสามารถลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง เพราะเขายังมีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเกิด ให้อยู่ดีมีสุขด้วยอีกแรง
“เปลี่ยนแปลงมาก เพราะว่าเราไปทำงานอากาศไม่ดี อยู่ในโรงงานใหญ่ๆ พอกลับมาบ้านรู้สึกว่าหายใจหายคอสะดวก ไปตรวจมวลกายก็ไม่มีโรคประจำตัว (ครอบครัว) ตอนนี้เรียกว่าเราอยู่ดีกินดี ทำเกษตรกันหมด ตอนนี้ลูกสาวมีหน้าที่ 2 เวอร์ชัน ทำงานรีสอร์ต เวลาว่างขายออนไลน์ของที่เรามี เขาเก่งเรื่องพวกนี้ ลูกชายก็ช่วยใช้แรง แล้วก็เพื่อนของลูกชาย มาช่วยกันทำ ก็มีรายได้ตลอด ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน พอมาทำตามพระองค์ท่าน รู้งี้ทำตั้งนานแล้ว เสียดายมากเลย
ลุงเป็น อสม.มา 10 กว่าปี ทำงานหนักมาก ยิ่งปี 63 เฝ้าระวังโรคโควิด ทั้งตัวเองทั้งคนในชุมชน ทั้งคนที่มาท่องเที่ยว ต้องดูแลเขาหมด น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า แต่เราเป็นจิตอาสา พยายามจะช่วยเหลือเขาให้ได้ดีที่สุด พยายามคิดค้น น้ำยาถูพื้นไล่ยุง ทำใช้ด้วย ขายด้วย บางทีก็แจกตามวัดตาม รพ.สต. เอาไปปรับใช้กันในชุมชน
สาเหตุที่มีส่วนพัฒนาเพราะลุงเป็นสมาชิก อบต.ด้วย ได้เข้าไปทำงานในองค์การบริหารส่วนตำบลจอมปลวก เวลามีประชุมก็จัดโครงการต่างๆ ลงพื้นที่แต่ละหมู่ เราก็เสนอโครงการประชาคมหมู่บ้านก่อน เราก็ไปนำเสนอในที่ประชุมว่าชาวบ้านเขาต้องการแบบนี้ๆ น้ำไม่มี เอาน้ำไปทำก่อน ถนนรถออกไม่ได้ ทำถนนรถก่อน นี่คือ การมีส่วนร่วมช่วยในการพัฒนาถิ่นบ้านเกิด เขาก็เลยให้ลุงไปเป็นคณะกรรมการรักถิ่นบ้านเกิดของจังหวัดสมุทรสงคราม 1 ใน 6 คน”
เมื่อถามว่า แท้จริงแล้ว หัวใจสำคัญเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านมุมมองของลุงสุชลคืออะไร เขาให้คำตอบว่า หัวใจสำคัญคือการ อุดรูรั่วให้ได้มากที่สุด และเชื่อมั่นว่า แนวทางนี้จะเป็นทางรอดในอนาคตของทุกคนที่ได้น้อมนำไปปฏิบัติ
“คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เฉพาะปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ มันทำได้หมดทุกสาขาวิชา แต่อยู่ที่ว่าเอาไปทำกับอะไร มันอยู่ในศาสตร์พระราชาทั้งหมด ที่ว่า 3 ห่วง 2 เงื่อนไข เราก็เอามาปรับใช้ ถ้าเป็นเกษตร ในหลวงถึงได้ตรัสว่า อะไรที่ทำแล้วมันยั่งยืนมากที่สุด เลี้ยงตัวเองได้คือเกษตร ถ้าเกิดวิกฤติ น้ำท่วมนาไร่ แปรรูปยังอยู่ มันอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง
หัวใจสำคัญที่บอกว่า อุดรูรั่วค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด ท่านให้โจทย์มา โอ่งมันทะลุ มีบางอันที่อุดไว้ ตัวนี้แหละที่เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า ถ้าเราพยายามอุดไม่ให้เงินมันออก เงินก็จะเหลือ ทีนี้วิธีการอุด ของอะไรที่เราต้องซื้อประจำ ถ้าเราไม่ต้องซื้อ เราทำเองได้ ยกตัวอย่างเช่น น้ำยาล้างจาน ลุงก็ทำ ผลผลิตที่ได้ ไม่ต้องซื้อกิน แถมขายดี
แล้ววิธีการขาย สมัยก่อนทำอะไรทีนึงขายยากมาก ต้องออกไปขายข้างนอก เวลาไปขายต้องแต่งหน้าแต่งตาสวยๆ ขอโทษที เดี๋ยวนี้นุ่งกางเกงในตัวเดียวก็ขายได้แล้ว อยู่กับบ้าน โซเชียลฯ ออนไลน์ ได้หมด”
สุดท้าย ปราชญ์เกษตรแห่งบ้านสารภี ขอใช้โอกาสนี้ ฝากไปยังผู้ที่สนใจในการทำการเกษตร โดยเฉพาะแนวทางของศาสตร์พระราชา มีศูนย์การเรียนรู้ทั่วประเทศที่พร้อมให้ความรู้ แต่หากใครสนใจการสร้างรายได้ 200,000 บนพื้นที่ 1 ไร่ ก็สามารถมาศึกษาได้ที่ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านสารภี จ.สมุทรสงคราม
“สำหรับคนที่อยากทำตามบ้างแต่ยังหาโจทย์ไม่ได้ หรืออยากจะทำบ้างแต่ยังไม่เข้าใจวิธีการ กระบวนการทำ ในประเทศไทย ศาสตร์พระราชามีหลายพื้นที่ ที่เป็นโครงการพระราชดำริ หรือเป็นโครงการจากปราชญ์ชาวบ้านหลายๆ จังหวัด
หรือถ้าสนใจพื้นที่ 1 ไร่ 200,000 ก็มาที่นี่ได้ ลุงก็จะออกแบบไปให้ ส่วนใหญ่แล้วคนที่จะไปทำ ตีโจทย์ไม่แตก แต่ในส่วนของลุงอยากจะให้เน้นเรื่องเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่จะอยู่ต่อข้างหน้า ทำยังไงให้อยู่ดีมีสุขกันทุกครอบครัว หันกลับมาน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน รัชกาลที่ ๙ มาปรับใช้ โดยการมาเรียนรู้ที่นี่ได้
หรือถ้าใครไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน เบอร์โทรศัพท์ 086-1784157 โทร.มาคุยได้ แต่ลุงมีคติสอนใจอยู่ 2 ตัว คนที่จะมาทำที่นี่ 1. อย่าทำงานเป็นกะ คำว่าทำงานเป็นกะหมายถึงว่า กะว่าจะทำนั่น กะว่าจะทำนี่ ไม่ได้ทำซักที 2. ในหลวงท่านไม่เคยบอกว่าอายุเท่าไหร่ทำไม่ได้ เหมือนที่ลุงมาทำ ลุงจบแค่ ป.6 ถึงแม้ความรู้เราจะน้อยนิด ก็อาจพิชิตความยากจน หากดำรงตนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เท่านี้อยู่กันได้ทุกครอบครัวสบายๆ เลยครับ
สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Liveเรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณภาพ : วชิระ สายจำปาขอบคุณภาพเพิ่มเติม : เฟซบุ๊ก “สุชล สุขเกษม บ้านสารภี ต.จอมปลวก”ขอบคุณสถานที่ : ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านสารภี จ.สมุทรสงคราม
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **