คงไม่ง่ายที่จะหาคนเช่นนี้ได้!! “แม่เพ็ญ” อุทิศตัวเพื่อสังคม รับเลี้ยงเด็กด้อยโอกาส [มีคลิป]

by
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005763401.JPEG

เพราะรู้ว่าความด้อยโอกาสเจ็บปวดเพียงใด!! “แม่เพ็ญ” อุทิศตัวเพื่อสังคม รับเลี้ยงเด็กถูกทอดทิ้งเกือบ 30 ชีวิต กับมรสุมชีวิต จากเศรษฐีกลายเป็นคนยากจน ครอบครัวแตกแยก โรครุมเร้า ไม่ต่างจากคนพิการ แต่ไม่เคยคิดทอดทิ้งเด็กที่เหลืออยู่ ต่อสู้ ดิ้นรน จนชีวิตกลับมาสดใสอีกครั้ง หวังเพียงให้ลูกๆ มีอาชีพเลี้ยงตัวเอง แค่นั้นก็พอ

อุทิศตัวเพื่อสังคม ให้โอกาสเด็กถูกทอดทิ้ง

“เราเลี้ยงเขา เราไม่ได้หวังให้เขามาเลี้ยงเรา เมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่ ให้เขาทำงานได้ มีอาชีพดูแลตัวเองได้ แค่นั้นก็พอ”

ชญาณ์พิมพ์ ชินปิติวงษ์
ประธานมูลนิธิบ้านสุขใจ ผู้เปรียบเสมือนนางฟ้าของเด็กถูกทอดทิ้ง ให้การเลี้ยงดูเด็กๆ เกือบ 30 ชีวิต ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

แม้บางช่วงจะเจอมรสุมชีวิตหนักหนาสาหัสแค่ไหน แต่ก็ไม่คิดทอดทิ้งลูกๆ ที่ฟูมฟักเลี้ยงดูมาด้วยความรัก ความเมตตา เพราะรู้ว่าความด้อยโอกาสนั้นเจ็บปวดเพียงใด

“จุดเริ่มต้นตั้งแต่เราเป็นเด็ก เกิดจากความไม่พร้อม พ่อแม่มีฐานะที่ยากจน ความเป็นเด็กทำให้เรารู้ว่า ความด้อยโอกาส กับความมีโอกาสที่เราโตมาในสังคม มันถูกแบ่งชนชั้น แบ่งการเป็นอยู่

เราเป็นเด็ก การด้อยโอกาส เราไปโรงเรียน เราไม่มีรองเท้า กระเป๋านักเรียน เราก็ถือ กระสอบปุ๋ยที่พ่อเย็บให้ บางทีเราโดนล้อ บางทีมันก็มีความเจ็บปวดกับการด้อยโอกาส

ก็เลยคิดว่าสักวันหนึ่งถ้าเรามีความพร้อมทางด้านร่างกาย จิตใจ และฐานะ เราจะอุทิศตัวเองเพื่อสังคม รับเด็ก หรือคนที่ด้อยโอกาส เพื่อที่จะเปิดโอกาส และให้โอกาส”

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005763406.JPEG

ไม่มีใครอยากตกอยู่ในสภาพด้อยโอกาส เพราะการขาดโอกาส ไม่เพียงส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ต้องดำรงอยู่อย่างยากลำบาก แต่ยังอาจหมายถึงอนาคตที่มืดมนหมดหนทางไปด้วย

แม้จะเคยด้อยโอกาสในวัยเด็ก แต่เมื่อโตขึ้นก็สามารถสร้างตัวจนมีฐานะ และมีความพร้อมในเรื่องครอบครัว ความเมตตาทำให้แม่เพ็ญรับอุปการะเด็กที่ถูกทอดทิ้งเพื่อให้โอกาส และชีวิตใหม่แก่เด็กเหล่านั้น เพราะรู้ว่า การขาดโอกาสขมขื่นเพียงใด

เมื่อก่อนแม่เป็นลูกชาวนา จบแค่ ป.6 สิ่งที่ถนัดที่สุดคือเกษตร และก็ท้องนา ก็เลยวิวัฒนาการรุ่นใหม่ วางจากเคียวเกี่ยวข้าวก็เป็นรถเกี่ยว เมื่อเราอยู่กับท้องนา เราก็ต้องพัฒนาอาชีพของเราต่อไป เราก็เริ่มมีรถเกี่ยว

พัฒนาจากรถเกี่ยวที่เราไปรับจ้างเกี่ยว แล้วพัฒนาขายอะไหล่ให้คนที่มีรถเกี่ยว แล้วก็พัฒนามาจนมีโรงงานสร้าง ซ่อมรถเกี่ยว แล้วก็ติดรถเกี่ยวเป็นโลโก้ของตัวเอง ก็พัฒนาจากท้องนาอาชีพที่เราถนัด”

20 ปี ที่ทะนุถนอม และฟูมฟักลูกๆ ด้วยความรัก ความเมตตา ช่วยให้เด็กๆ เกือบ 30 ชีวิต ทั้งปกติ และเด็กพิเศษ ทั้งที่เคยอยู่ และยังอยู่ใต้ร่มเงาบ้านสุขใจแห่งนี้ ไม่เคยขาดไร้ซึ่งความอบอุ่น

แม้สิ่งเหล่านี้เด็กๆ อาจจะไม่เคยได้รับจากพ่อแม่แท้ๆ มาก่อนเลยก็ตาม แต่เชื่อว่า ด้วยแรงแห่งรักและเมตตาบวกกับคุณธรรมที่พยายามปลูกฝังและกล่อมเกลาจะทำให้เด็กเหล่านี้เติบโตเป็นเมล็ดพันธุุ์ที่ดีในอนาคต

“เจอพ่อแม่จริงๆ แค่ 3-4 คน แค่นั้นเอง นอกนั้นครอบครัวไม่ขอเจอ แล้ว 3-4 คนที่ได้เจอ เขาเจ็บหนักกว่าที่เขาจะเป็น เพราะว่าการที่กลับไปเจอ ด้วยคำพูดที่แม่เขาพูดใส่เขา เรียกไอ้ มึง กู เอาไปเลี้ยงแล้วเอากลับมาทำไม มันจบไปแล้ว ไม่ต้องมายุ่งกับครอบครัวเขา

นี่คือสิ่งที่ไม่สามารถจะร่วมทางกันได้ นี่คือ สิ่งที่เขาทิ้งแล้ว เขาไม่เคยคิดจะเอาสิ่งนี้คืน แล้วกรุณาอย่าเอาสิ่งนี้มายัดเยียดหรือมาหาเขาอีก

แต่ลูกเราเจ็บ แต่ลูกเราก็จะได้มีความสุขใจ ไม่ต้องมาสร้างจินตนาการสร้างภาพในอากาศว่าอ้อมกอดแม่บุญธรรมยังมีความสุขอย่างนี้ อ้อมกอดแม่แท้ๆ คงจะมีความสุขยิ่งกว่านี้

แต่ความเป็นจริงแล้วตอนแม่แท้ๆ ทำแท้งแล้วทิ้ง มันเหมือนความสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่เราต้องให้ลูกเราได้เห็นด้วยตัวของเขาเองว่ามันยังสิ้นสุดจริงไหม ไม่ให้ค้างคาใจ”

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005763405.JPEG

ครอบครัวแตกแยก-พิการ-ไม่มีที่ซุกหัวนอน

เจอมรสุมชีวิตครั้งใหญ่กระหน่ำเล่นงาน ทำให้แทบหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ครอบครัวแตกแยก สูญเสียทรัพย์สิน จากเศรษฐีกลายเป็นคนจน โรครุมเร้าแทบไม่ต่างจากคนพิการ

“มรสุมชีวิตของคนเกิดจากเหตุหลายเหตุ บางคนมรสุมเกิดจากธุรกิจของคนรวย มรสุมอีกบางมรสุมอาจจะเกิดธุรกิจอันดับหนึ่ง อันดับสองคือบ้านแตก อันดับสามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตแล้วคนอีกคนหนึ่งไม่สามารถที่จะประคับประคองชีวิตอันนั้นต่อไปได้

แต่มรสุมของแม่มันมาครบเลย เพียงแต่จากเป็นกันเท่านั้น ไม่ได้จากตาย เคยได้ยินคำนี้ไหม จากเป็นเห็นนิสัย จากตายเห็นน้ำตา

มรสุมของแม่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดไม่ใช่ความจน คือ ความเจ็บไข้ได้ป่วยในร่างกายที่เหมือนคนทุพพลภาพ แม้แต่จะยืนหยัดช่วยตัวเองยังไม่ได้เลย อันนั้นคือมรสุมที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่ว่าบ้านแตกแล้วเสียทรัพย์สินไป มรสุมคือเราจะยืน เดิน นั่งนอนได้เหมือนคนอื่น จัดอยู่ในคนพิการ นั่นคือมรสุม”

แม้วิกฤตชีวิต จะทำให้ชีวิตตกอับแทบไม่มีที่ซุกหัวนอน ทั้งที่ตัวเองมีภาระเยอะ แต่ก็ยังอดทนดิ้นรนเลี้ยงต่อไป ไม่เคยคิดทอดทิ้งลูกๆ

“ตอนนั้นแม่ไม่มีแม้กระทั่งบ้าน ไม่มีทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะว่าอีกฝ่ายหนึ่งเก่ง แต่เราอยู่ในจุดที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ คนที่เก่งกว่าก็ต้องย่อมเอาเปรียบคนที่ด้อยกว่า

ตอนนั้นแม่กลายเป็นคนที่ด้อยกว่า ไม่มีแม้กระทั่งหลังคาที่ซุกหัวนอน เรื่องแม่ก็ดังไปทั่วประเทศอยู่ช่วงนั้น พม.(กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) บอกว่าคุณชญาณ์พิมพ์ไม่สามารถที่จะดูแลตัวเองได้ ก็ไม่สามารถที่จะดูแลเด็กทั้ง 6 คนนี้ได้

เพราะฉะนั้น พม.ขอเอาเด็กเข้าเอาศูนย์สงเคราะห์ แม่ก็เลยขอเวลาทั้งหมด 2 เดือนให้โอกาสแม่คิด ตัดสินใจ ตลอดเวลา 2 เดือน แม่ถึงรู้ว่ามันทรมานจิตใจมากที่เราจะต้องตัดสินใจเอาเด็ก 6 คนนี้ออกไปจากชีวิต แล้วเราก็ถามตัวเองว่าเราถึงที่สุดหรือยัง เรายังจะสู้ไหวไหม”

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005763407.JPEG

แม้มรสุมชีวิตจะกระหน่ำทำให้เปลี่ยนชีวิตจากเศรษฐีกลายเป็นคนจน เปลี่ยนจากคนที่มีครอบครัวสมบูรณ์กลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ไม่มีเพียงมีลูกแท้ๆ แต่ยังมีลูกบุญธรรมอีกหลายชีวิตให้ดูแล แต่ก็ไม่ยอมแพ้ พร้อมสู้ต่อเพื่อครอบครัวที่เหลืออยู่

“มองหน้าลูก เราต้องอยู่กับลูก พ่อทิ้งไปแล้ว ญาติก็ไม่มี ถ้าเราทิ้งลูกเราไปอีก ลูกเราจะอยู่ยังไง เพราะฉะนั้นลูกบุญธรรม หรือลูกแท้ๆ คือยาวิเศษเป็นกำลังใจให้แม่เพ็ญ

จากกลิ้งมาเป็นคลาน คลานแล้วเกาะข้างฝาเดิน จนเดินมาได้ทุกวันนี้ แต่แขนข้างซ้ายเวลาอุ้มน้องจะอุ้มได้แค่แขนข้างเดียว ข้างนี้พอเราถืออะไรเกิน 1 กิโล มันก็จะร่วงลงไปเลยค่ะ ไม่รู้สึกตัว ก็ยังต้องบริหารร่างกายอยู่”

แม้จะเหลือเงินก้อนสุดท้ายก็จริง แต่แม่เพ็ญเอง ก็ไม่ใช้เงินนั้นเพื่อประโยชน์ของตนเอง แต่กลับเอาไว้เลี้ยงดูเด็กถูกทอดทิ้งอีกหลายชีวิตที่ได้เลี้ยงดูมาตั้งแต่ยังมีฐานะร่ำรวย ทำให้สามารถต่อชีวิตเด็กอีกหลายชีวิตให้กลับมาสดใสอีกครั้ง

“แม่เรียกลูกทั้งสองคนว่าตอนนี้เราได้เงินค่าเลี้ยงดูบุตรมา 500,000 บาท แล้วแม่ได้เงินค่าขับไล่ออกมาจากบ้านอีก 1,500,000 บาท แล้วแม่ใช้หนี้ไปตอนนั้น 700,000 บาท แม่เหลือเงิน 1,300,000 บาท

วันนี้แม่ให้ลูกทั้งสองคนมีส่วนที่จะตัดสินใจพูดกับแม่ว่าเราจะทำยังไงกับน้อง จะเอาไว้ หรือเราเอาเงินตัวนี้ไว้เรียน น้องเตยบอกว่าหนูออกจากโรงเรียนวันนี้ได้เลยแม่ หนูล้างชามก็ได้ อันนี้คือน้อง อันนี้คือครอบครัว ตู่บอกว่าแม่ผมกู้ กยศ.ได้ อันนี้คือครอบครัว อันนี้คือน้อง

แม่เพ็ญก็เลยคิดว่าสิ่งที่แม่ทำบางครั้งลูกไม่เข้าใจ แต่กาลเวลาที่ลูกได้เห็นว่านี่คือความสุขคือการทุ่มเท แม่คิดว่าลูกอาจจะไม่เคยชมแม่ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่แม่ทำมันดี”

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005763403.JPEG
[ลูกในสายเลือดทั้ง 2 คนที่มีอุดมการณ์เดียวกับแม่ ทุ่มเทเพื่อเด็กๆ]

ไม่หวังให้ตอบแทน ขอแค่มีงานทำ เลี้ยงตัวเองได้

นับตั้งแต่วันที่เริ่มรับเลี้ยงอุปการะเด็กที่ด้อยโอกาส และถูกทอดทิ้งก็เป็นเวลายาวนานถึง 20 ปี กับเด็กเกือบ 30 ชีวิตที่ถูกเลี้ยงดูมา

แม่เพ็ญไม่เคยคาดหวังอะไรไปมากกว่าอยากให้ลูกๆ ทุกคนเป็นคนดี มีศีลธรรม เป้าหมายสูงสุดเพียงแค่อยากให้เมื่อเติบโตไป มีงานทำ เลี้ยงดูตัวเองได้ ไม่หวังให้กลับมาตอบแทนบุญคุณอะไรเลย แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว

“ในชีวิตที่คาดหวังสูงสุด อยากให้ลูกสองคนมีความเมตตา อยากให้ลูกสองคนเป็นคนดี อยากให้ลูกสองคนรู้ว่าชีวิตเราไม่เกิน 100 ปี เราเกิดมาทำอะไรได้ดีที่สุด ทำอะไรให้สังคม และตัวเองให้มากที่สุด คือการคาดหวังอันดับแรก

เด็กเหล่านี้ก็คือสิ่งที่คาดหวังอันดับที่สองว่าจะอยู่กับพี่กับน้องแบบพี่น้อง แล้วก็เป็นเด็กดีอยู่ในศีลธรรมจริงๆ นั่นคือ สิ่งที่แม่คาดหวัง ไม่เคยคาดหวังว่าลูกจะจบปริญญาตรี หรือด็อกเตอร์ ไม่ได้คาดหวังอะไรถึงขนาดนั้น”

เมื่อก่อนยอมรับว่ากลัวมาก หากตัวเองตายไปแล้วจะไม่มีใครรับดูแลเด็กๆ เหล่านี้ต่อไป แต่โชคดีเมื่อลูกแท้ๆ ทั้ง 2 คน มีอุดมการณ์เดียวกับแม่ จึงพร้อมทุ่มเทเพื่อเด็กๆ ที่แม่ชุบเลี้ยงมา ให้ความรัก ความเมตตา โดยใช้คุณธรรมเป็นตัวบ่มเพาะให้เด็กๆ เหล่านี้เป็นคนดี

“เมื่อก่อนกลัวสุดขีด จนขนาดที่ว่าไปปรึกษาศูนย์สงเคราะห์ว่าถ้าสิ้นแม่เพ็ญมารับลูกไปด้วย เราพูดกับลูกตัวเองว่าตู่เตยนี่คือสิ่งที่แม่ทำ โดยที่หนูยังเป็นเด็ก หนูยังไม่รับรู้อะไร แต่แม่จะไม่บังคับลูก

ถ้าลูกพร้อมก็ก้าวเดินมากับแม่ ตอนนี้แม่เดินอยู่คนเดียว แต่ตอนนี้มีลูก 2 คนแม่ไม่ได้เดินคนเดียว แม่มีความมั่นใจว่าลูกแม่อยู่ทั้งปีกซ้าย ปีกขวา

เมื่อก่อนแม่หันซ้าย หันขวาไม่มีใครเลย ไม่มีญาติพี่น้อง ไม่มีแม้กระทั่งเพื่อนที่รู้ใจ เหมือนแม่อยู่คนเดียว แต่ตอนนี้แม่มีลูกที่ให้กำลังใจ ตัดความภูมิใจออก แม่ตายตาหลับ

เขาคงจะปกครองเด็กได้ดีกว่าแม่ เพราะว่าความเมตตาบางทีมันอนุโลมไปหมด แต่ถ้ากฎระเบียบบางครั้งมันจะทำให้เด็กอยู่ในขอบเขต เพราะว่าตู่กับเตยจะเข้าใจคำว่าวัยรุ่น สังคมยุคใหม่ แม่จบแค่ ป.6 วุฒิภาวะแค่เด็ก ป.6 มีแต่ความเมตตา เพราะฉะนั้นถ้าได้ลูกที่มีขอบเขต มีกฎเกณฑ์ มีกติกา มีแนวทาง แม่คิดว่ามูลนิธิบ้านสุขใจแม่ ไม่หยุดแค่เด็ก 16 คน”

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005763404.JPEG

เชื่อว่า “บ้านสุขใจ” แห่งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่มูลนิธิ แต่เป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ที่มีทั้งความสุข และคลายทุกข์ให้แก่ทุกคนในบ้าน อบอวลไปด้วยความรัก ความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

ส่วนอนาคตบ้านหลังนี้ ที่เป็นที่พึ่งพิงให้แก่เด็กๆ ที่ถูกทอดทิ้ง หรือด้อยโอกาสจะเป็นไปในทิศทางใดนั้น แม่เพ็ญ เล่าว่า จะไม่มีคำว่าทอดทิ้งกัน ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ พร้อมจะแบ่งปันกันทุกเมื่อ

“ทิศทางเดิมที่แม่วางไว้ เราเลี้ยงลูกด้วยจิตวิญญาณ ไม่มีคำว่าทอดทิ้งกัน บ้านไม่ว่าเราอยู่ที่ไหน ทำงานไกลแค่ไหนทุกคนต้องกลับบ้าน มารวมตัว มาหาพี่หาน้อง บ้านคนที่เป็นพี่แล้วต้องเข้มแข็ง

บ้านทำให้ทุกคนเสียสละเงิน แล้วก็บ้านทำให้ทุกคนรับรู้ เหมือนเงินในบ้านมีเท่าไหร่ ใครจะใช้เท่าไหร่ ทุกคนต้องรับรู้หมด แม้แต่เด็กเล็กเด็กน้อยก็จะรู้ว่าวันนี้เรามีเงินไม่พอค่าน้ำนะ เรามีเงินไม่พอค่าไฟ น้องจะอาบน้ำแค่ขัน รีบฟอกสบู่

แล้วก็จะคุยกันว่าวันนี้เดือนนี้ เงินแม่มีน้อยนะ เราต้องช่วยกันประหยัด ค่าน้ำเราไม่พอ นี่คือ บ้านที่แบ่งสุขแล้วก็แบ่งทุกข์กัน
เงินค่าโรงเรียนเราไม่พอ เด็กก็จะเทออมสินออกมา นี่ให้น้องคนเล็กก่อน วันนี้เราเอาข้าวไปกิน นี่คือบ้าน ทุกคนยินดีที่จะอยู่ร่วมกัน และก็ช่วยเหลือกัน และก็ไม่ทุกข์ ถ้าทุกข์ก็คือเราแบ่งปัน ช่วยเหลือ และก็ปลอบใจกัน”

สัมภาษณ์ รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง : MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “มูลนิธิบ้านสุขใจ”


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000003818201.JPEG