https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20200529/news_OQyqKskNsG162351_533.jpg?v=20200530133

สกศ.ดันเครดิตแบงก์รองรับการเป็นEducation Hub

“สุภัทร”หนุนระบบเครดิตแบงก์ ไม่จำกัดเวลาและอายุคนเรียน สร้างผู้เรียนที่มีความรู้และทักษะหลากหลาย

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่าขณะนี้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษากำลังดำเนินการและศึกษาเรื่องการจัดการศึกษาด้วยระบบธนาคารหน่วยกิต หรือ เครดิตแบงก์ ซึ่งเป็นระบบการเรียนที่ผู้เรียนสามารถสะสมการเรียน หรือการสะสมความรู้ได้ 

โดยมีระบบกลางทำหน้าที่เก็บข้อมูลของผู้เรียนเป็นรายบุคคล โดยระบบเครดิตแบงก์มีข้อดีคือ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้หลากหลายสาขา/วิชา ใช้เวลาในการเรียนได้ไม่จำกัด สามารถเปลี่ยนทักษะการเรียนรู้ได้โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มเรียนใหม่ในกรณีที่เรียนรายวิชานั้น ๆ ไปแล้ว เป็นต้น 

เลขาธิการสกศ. กล่าวว่า สกศ.ศึกษาและเตรียมการเรื่องระบบเครดิตแบงก์มาได้ระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งคิดว่าถ้าประเทศไทยสามารถทำระบบได้สมบูรณ์ตั้งแต่ระดับประถมศึกษามัธยมศึกษา จะเป็นประโยชน์อย่างมากในแง่ของการพัฒนาการศึกษา เราจะสามารถติดตามพฤติกรรมของผู้เรียน พัฒนาการและความสามารถของผู้เรียนได้เป็นรายบุคคล

เพราะจะมีการบันทึกเป็นพอร์ตโฟลิโอหรือเป็นดาตาเด็กแต่ละคน จนเป็นถังข้อมูลขนาดใหญ่หรือบิ๊กดาตาของเด็กทั้งประเทศได้ ซึ่งจะทำให้เราทราบปัญหาและติดตามตัวเด็กได้กรณีที่เด็กออกกลางคัน หรือ ตกหล่น ไม่ได้เรียนต่อ โดยเชื่อมโยงกับระบบทะเบียนราษฎร์ ถือเป็นการพัฒนาคนในระยาว 

ดร.สุภัทร กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องทำสำหรับระบบเครดิตแบงก์ คือ เราต้องออกนอกกรอบของการกำหนดระยะเวลาในการเรียนให้ได้ เช่น เด็กอาจจะเรียน ป.1-ป.3  ภายใน 2 ปีได้  หรือ ระดับอุดมศึกษา อาจใช้เวลาเรียนระดับปริญญาตรี 14-15 ปี ก็ได้ เป็นต้น แต่ตอนนี้บ้านเราอาจยังทำไม่ได้ เพราะเราเรียนแบบชั้นเรียนอยู่แต่ในอนาคตเชื่อว่าน่าจะทำได้

นอกจากนี้หากเราสามารถทำระบบเปิดกว้างให้เด็กต่างชาติที่ติดตามพ่อแม่เข้ามาสามารถเรียนระยะสั้นแบบสะสมหน่วยกิตได้แล้วกลับไปเรียนต่อที่บ้านเรา ซึ่งน่าจะมีเด็กต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่สนใจก็จะเป็นโอกาสพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศไทยเป็นEducation Hub เพื่อรองรับการท่องเที่ยวของประเทศได้อีกทางหนึ่ง

 จริงแล้วสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เตรียมการเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2555 และมีบางมหาวิทยาลัยได้เริ่มดำเนินการระบบเครดิตแบงก์ไปแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ที่นับว่าเป็นตัวอย่างของการขับเคลื่อนระบบเครดิตแบงก์ในระดับอุดมศึกษาได้เป็นอย่างดี

ด้าน ผศ.ดร. สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า มทร.ธัญบุรี ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม หรือ Innovative University เพื่อผลิตนวัตกรให้แก่สังคมไทย แต่เนื่องจากปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก อัตราการเกิดลดลง ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น บุคคลที่ไม่มีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษามีจำนวนมาก 

ขณะเดียวกันบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยก็ต้องการพัฒนาตนเอง เพราะฉะนั้นระบบเครดิตแบงก์จึงเป็นโอกาสที่จะให้บุคลากรเหล่านี้ได้พัฒนาตนเอง เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยไม่มีข้อจำกัดของอายุมาเป็นเงื่อนไข เพราะผู้เรียนจะเรียนเมื่อไหร่ก็ได้เพื่อสะสมหน่วยกิต และพัฒนาทักษะความรู้ที่หลากหลายมากขึ้น.