https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20200529/news_NqXHIcnOBB165855_533.jpg?v=20200531196

อว.ผุดโครงการ "1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย"

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” ผุดโครงการ “1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” แก้ปัญหาความยากจน พร้อมเดินหน้าสร้างงานระยะ 2 จ้างคนในพื้นที่ ชู “ราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ” มหาวิทยาลัยตัวอย่างพัฒนาท้องถิ่นจนสำเร็จ

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จ.ปทุมธานี เพื่อรับฟังแนวทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงานการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และแนวทางการจ้างงานในโครงการ อว.สร้างงาน ระยะที่ 2

ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของการที่มหาวิทยาลัยลงไปพัฒนาพื้นที่ พัฒนาท้องถิ่น จนสามารถสร้างชุมชนนวัตกรรมให้เกิดขึ้นได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 จังหวัด คือ ปทุมธานี และสระแก้ว ด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐ และชุมชนตามหลักการ “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน

ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาชุมชนตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนร่วมกับท้องถิ่น สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมครัวเรือนพอเพียง สืบสานวัฒนธรรมชุมชน เกษตรปลอดภัย

จนเกิดวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง ชาวบ้านมีสุขภาพที่ดี สิ่งแวดล้อมดี รายได้เพิ่มขึ้น ความสุขมวลรวมเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเช่นที่ ชุมชนนวัตกรรมเกษตรปลอดภัย ต.ทุ่งมหาเจริญ อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว ทำให้คนในชุมชนและเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

รมว.อว.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ ยังได้นำเสนอถึงแผนงานการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ในโครงการ “อว. สร้างงาน ระยะที่ 2” ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของบฯ จากสำนักงบประมาณ

โดยจะจ้างงานคนในพื้นที่ จ.ปทุมธานี รวม 7 อำเภอ 11 ตำบล จำนวน 173 คน และในพื้นที่ จ.สระแก้ว รวม 9 อำเภอ 12 ตำบล จำนวน 36 คน รวมทั้งสิ้น 209 คน เพื่อปฎิบัติงานในด้านพัฒนาชุมชน โดยมุ่งตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนเป็นหลัก อาทิ การพัฒนาระบบเกษตรอัจฉริยะ การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ การบริหารจัดการน้ำชุมชน การส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นต้น

ซึ่งตนได้เน้นย้ำให้ทางมหาวิทยาลัยต้องพัฒนา หรือ เพิ่มทักษะใหม่ให้แก่ผู้ได้รับการจ้างงานควบคู่ไปกับการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น ความรู้ภาษาอังกฤษ ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ความรู้ด้านการเงิน และความรู้ด้านสังคม เพื่อให้ผู้ได้รับการจ้างงานสามารถนำไปประกอบอาชีพใหม่ในยุคนิวนอร์มอลได้ หรือ ถ้าใครสนใจเป็นผู้ประกอบการ อว. ก็มีกองทุนในการเริ่มต้นธุรกิจให้ ผ่านกองทุนยุวสตาร์ทอัพ ของ อว.ได้เลย

“ที่สำคัญ อว.จะระดมสรรพกำลังจากทุกหน่วยงานทั้งมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยต่างๆ ของ อว. ในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ โดยจะกำหนดให้ 1 ตำบล ต่อ 1 มหาวิทยาลัย ใช้โจทย์จากชุมชนเป็นที่ตั้ง แล้วดูว่าจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาหรือเติมเต็มสิ่งที่ขาดอย่างไร และจะนำบุคลากรจากโครงการจ้างงานเข้าไปร่วมทำงานกับชุมชน โดยเฉพาะการรวบรวมและจัดทำข้อมูลชุมชน เพื่อการแก้ปัญหาความยากจนที่สามารถระบุเป้าหมายชัดเจน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด” รมว.อว. กล่าว.