ไปคนละทิศ! พลังงาน-กกพ.แตกทัพ เดินสวนทางเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ

by

พลังงาน-กกพ. แตกทัพ เดินหน้าเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติไปคนละทิศ “สนธิรัตน์” ย้ำอย่าใจร้อน ระบุตอนนี้มีปตท. เท่านั้นที่เป็น Shipper แอลเอ็นจี ส่วนเอกชน อนุญาตให้นำเข้า เพื่อใช้เองเท่านั้น

https://www.thebangkokinsight.com/wp-content/uploads/2019/12/%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B5-4-700x397.jpg

เหตุจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ตะลุยให้ใบอนุญาตค้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) กับเอกชน 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด และล่าสุด บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด

นอกเหนือจากรัฐวิสาหกิจ 2 เจ้า คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ได้รับอนุญาติเป็นผู้ค้าแอลเอ็นจีก่อนหน้านี้แล้ว

การออกใบอนุญาตของกกพ.สร้างความงุนงงให้กับกระทรวงพลังงาน เนื่องจากก่อนหน้านี้ ได้มีหารือกันในกระทรวงพลังงานแล้ว และตกลงที่จะให้โครงสร้างการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เสียก่อน

” อยู่ๆ กกพ.ก็ออกใบอนุญาตให้เอกชนทั้ง 3 ราย และยืนยันว่าใบอนุญาตที่กกพ.ให้เป็นใบอนุญาตเฉพาะการจัดหาเท่านั้น ไม่ใช่ใบอนุญาตการค้าส่ง หากจะค้าส่งต้อง มีกระบวนการขอใบอนุญาตอีก ดังนั้นเอกชน จัดหาใช้เฉพาะของบริษัทเอง และที่กระทรวงพลังงานวางแนวทางไว้ คือ จัดหาใช้ป้อนอุตสาหกรรม ไม่ใช่โรงไฟฟ้า เพราะการจัดหาก๊าซฯใช้ในโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือไอพีพี ที่มาป้อนความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ มีหลายจุดที่จะต้องคิดให้รอบคอบ แต่ปรากฎว่ากกพ.เปิดให้นำเข้าใช้ในโรงไฟฟ้าด้วย “ ผู้บริหารท่านหนึ่งของกระทรวงพลังงาน ระบุ และย้ำว่า

เราเข้าใจว่าเอกชนอยากจะจัดหาแอลเอ็นจีเอง ไม่อยากซื้อจากปตท.เพราะตอนนี้แอลเอ็นจีตลาดจรราคาถูก แต่ระบบกิจการก๊าซฯของไทย วางไว้มานานแล้ว ให้ปตท.ไปทำสัญญาซื้อขายก๊าซฯระยะยาวมาป้อนโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ เพื่อความมั่นคงของเชื้อเพลิง การจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การเปิดเสรี ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ทางด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่งงด้วยเช่นกัน กับการออกใบอนุญาตของกกก. ก็ต้องออกมาช่วยเคลียร์ว่า เรายังไม่เปิดเสรี 100% เรื่องนี้เป็นนโยบาย ต้องผ่านกบง และกพช.ก่อน ตอนนี้ ตอนนี้มีแต่ปตท.เท่านั้นที่ เรียกว่าเป็นผู้จัดหา และค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper)

การที่กกพ.ออกใบอนุญาตไป เป็นเหมือนใบขับขี่เท่านั้น หากเอกชนขอนำเข้าแอลเอ็นจี 3 แสนตัน ก็ต้องมาพิจารณาก่อน ว่าจะให้นำเข้าได้มากน้อยแค่ไหน

ขณะที่กฟผ.ซึ่งกฎหมายยังไม่เปิดให้เป็นผู้ค้าแอลเอ็นจี นายสนธิรัตน์ ย้ำว่า กฟผ.ก็นำเข้าเพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าของกฟผ.เอง แต่เราก็ให้กฟผ.เป็นผู้ทดสอบระบบ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมิน ว่าการนำเข้าแอลเอ็นจีของกฟผ.จากตลาดจร (Spot) 2 ล็อต ล็อตละ 65,000 ตันเมื่อเดือนธันวาคม 2562 และอีก 65,000 ตันเมื่อเดือนเมษายน มีอุปสรรคปัญหาใดหรือไม่

“การนำเข้าแอลเอ็นจี ต้องไม่ให้กระทบโครงสร้างทั้งหมด ต้องอย่าใจร้อน ไม่ใช่นำเข้ามาแล้ว โครงสร้างเก่าเสียหาย จึงต้องรอบคอบ เมื่อพร้อม จึงจะนำไปสู่การเปิดเสรีก๊าซฯต่อไป “

อย่างไรก็ตามหากมีผู้นำเข้าแอลเอ็นจีจำนวนมากขึ้น แน่นอนจะช่วยให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจก๊าซฯมากขึ้น แต่ความคาดหวังสูงสุด คือ ต้องทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำลง ขณะเดียวกันก็ต้อง Balance กับทรัพยากรในอ่าวไทยด้วย

” ปี 2564 ถึงจะเห็นภาพการเปิดเสรีอย่างแท้จริง ต้องทำค่อยเป็นค่อยไป ต้องมองผลกระทบให้รอบด้าน เพราะไทยมีการผลิตก๊าซฯในประเทศ และมีโครงสร้างรองรับมานาน  และต้องดูในเรื่องคุณภาพก๊าซฯด้วย เพราะก๊าซฯไม่ใช่ข้าวสาร นำเข้ามาแล้วต้องมาผสมกันทั้งหมดทั้งก๊าซฯในอ่าว และแอลเอ็นจีนำเข้า ถึงจะผ่านท่อส่งไปใช้ได้ ” 

สำหรับโครงสร้างก๊าซฯทั้งระบบ รวมถึงโครงสร้างราคา หน้าตาจะเป็นอย่างไรนั้น เขา ระบุว่า ต้องดูผลการประเมินการนำเข้าแอลเอ็นจี 2 ล็อตของกฟผ.ก่อน ซึ่งในส่วนของโครงสร้างราคามีทางเลือก 3-4 โมเดล ก็ต้องมาเลือกช่องทางไหนที่ดีที่สุด

และต้องดูด้วยว่าหากอนาคต ราคาแอลเอ็นจีปรับขึ้น แล้วอะไร คือนโยบายที่เหมาะสม และอย่าลืมว่าเราเพิ่งต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งบงกช และเอราวัณไป ทำให้เรามีก๊าซฯใช้ต่อเนื่องได้อีก 10 ปี  และยังจะเปิดสัมปทานรอบใหม่อีก ซึ่งความจริงแล้ว จะต้องเปิดไปก่อนหน้านี้แล้ว  แต่ติดโควิด-19 เสียก่อน จึงมั่นใจว่าจะมีก๊าซฯในประเทศเพิ่มขึ้น

ส่วนการเป็นศูนย์กลางค้าแอลเอ็นจี หรือ Hub LNG ก็ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่นกัน โดยปตท.นำร่อง ในฐานะ Shipper นำแอลเอ็นจีเข้ามาเพื่อส่งออก (Re-export) ซึ่งตามแผนของปตท.จะนำเข้ามา 11 ลำ และส่งออกในไตรมาส 3 ของปีนี้ ทราบว่าตอนนี้ได้เริ่มทำตลาด และส่งออกบ้างแล้ว

โดยเราต้องดูเรื่องกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วย ย้ำว่าการ Re-export ไม่ได้มีผลกระทบกับประเทศไทย เพราะนำเข้ามาเป็นลำเรือ และส่งออกไปเลย ซึ่งจะเป็นคนละเรื่องกับการนำเข้ามา และใช้ในประเทศ

https://www.thebangkokinsight.com/wp-content/uploads/2020/05/213195-700x467.jpg

นายสนธิรัตน์ ย้ำว่า ตอนนี้สถานการณ์โลกเปลี่ยนไปมาก เรากำลังเข้าสู้ภาวะ Energy Disruption ทั้งเชิงกำลังการผลิต และความต้องการ ดังนั้นในการวางนโยบายพลังงานจะใจร้อนไม่ได้เลย  จะเลือกไปทางซ้ายหรือขวา ต้องดูผลกระทบ แต่ทั้งหมดการเลือกของเราต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไทยยึดถือมาตลอด คือ  “ความมั่นคงทางพลังงาน” 

Share