https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20200529/news_VVWUSXxMKU142444_533.jpg?v=20200529158

สธ.ออกแบบใหม่ห้องเรียนใหม่ แนะเปิดคู่ขนานระบบออนไลน์

สธ.- ศึกษาออกแบบคู่มือเปิดเรียนยุคโควิด เน้น 6 มิติ การเรียน คู่การคุมโรค เผยผลทดลองเว้นระยะห่าง พบ 1 ห้อง นั่งเรียนได้แค่ 25 คน ที่เหลือต้องออกแบบใหม่ แนะเปิดห้องเรียนคู่ขนาด-เรียนออนไลน์ หรือหมุนสลับ  

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียน ว่า กรมอนามัย ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการจัดทำคู่มือการเปิดภาคเรียนเพื่อควบคุมป้องกันการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในโรงเรียน โดยเน้นย้ำ 6 มิติ คือ 1.ความปลอดภัยจากการแพร่การแพร่เชื้อโรค 2.การเรียนรู้ อาจจะต้องทำรูปแบบที่เหมาะสมทั้งที่ห้องเรียน และออนไลน์ ทุกคนต้องฝึกการดูแลตัวเอง เช่น รับประทานอาหารอย่างไร เข้าแถวอย่างไร ใช้หน้ากากอย่างไร เป็นต้น

พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อว่า 3.ต้องคำนึงถึกเด็กทุกคน ต้องออกแบบให้เหมาะสม รวมถึงเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษด้วย เช่น หน้ากากอนามัยบางคนไม่มีก็เตรียมไว้ เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้มาโรงเรียนตามปกติ 4.เรื่อง สวัสดิภาพและการคุ้มครอง การเจ็บป่วยในโรงเรียน โดยเฉพาะโควิด หรือครอบครัวมีคนป่วยจะทำอย่างไรให้เด็กได้รับการดูแล ไม่ถูกรังเกียจ

5.นโยบาย นโยบายร่วมกระทรวงสาธารณสุข และศึกษาฯ ซึ่งต้องลงลึกไปในระดับพื้นที่ ทุกพื้นที่ จะต้องออกแบบถึงระดับโรงเรียน ในการบริหารจัดการจัดชั้นเรียนใหม่ เติมอุปกรณ์ที่จำเป็นให้เด็กเพิ่มเติม จัดจุดล้างมือเพิ่ม โรงอาหารทำฉากกั้นเพื่อให้เด็กใช้งานได้ และ 6. บริหารการเงิน เพราะมีการต้องจัดชั้นเรียนใหม่ และการเติมอุปกรณ์จำเป็นที่มากขึ้นด้วย จึงต้องวางแผนบริหารทรัพยากรก่อนเปิดเรียน

ขณะนี้มีการทดลองเปิดเรียนในโรงเรียนอนุบาลพิบูลเวช ย่านสุขุมวิท ซึ่งมีนักเรียนประมาณ 1 พันคน พบว่าเด็กให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัยดี แต่ก็ความอึดอัด ลำบาก เรื่องการล้างมือเดิมจะล้างจะเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร ก็จะเพิ่ม การล้างมือก่อนตอนนี้ล้างก่อนเข้าห้องเรียน ก่อนรับประทานอาหาร ก่อน-หลังแปรงฟัน ล้างเมื่อเปลี่ยนการทำกิจกรรม

ส่วนเรื่องห้องเรียนซึ่งมีทั้งปรับอากาศและไม่ปรับอากาศ เฉลี่ย 1 ห้องเรียนเด็กมี 40 คน เมื่อทดลองจัดเว้นระยะห่าง 1 เมตร จะเหลือประมาณ 25 คน แปลว่าอีกครึ่งหนึ่งจะไม่สามารถใช้ห้องเรียนช่วงเดียวกันได้ ก็ต้องไปออกแบบการเรียน ทางเลือกมีหลายวิธี เช่น จัดพื้นที่พิเศษคู่ขนาน หรือเรียนออนไลน์ หรือผลัดกันเรียน เป็นต้น

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อว่า ต่อมาคือเรื่องการทำความสะอาด ต้องเพิ่มและเน้นจุดสัมผัสร่วมกัน อย่างที่บอกว่าต้องจัดกลุ่มนักเรียนให้หมุนเวียนการใช้งานไม่ให้ทำพร้อมกัน โรงอาหารก็จัดหมุนเวียนให้พอเหมาะ บางกิจกรรมต้องยกเลิก บางกิจกรรมต้องออกแบบใหม่ ทั้งนี้ขอให้โรงเรียนประเมินตัวเองผ่าน thaistopcovid รวมถึงผู้ปกครองร่วมประเมินด้วย เพื่อให้สามารถจะทำแผนและส่งคืนไปยังจังหวัดใช้ประเมิน และออกแบบวิธีการในพื้นที่ของตน ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อมและการสื่อสารระหว่างโรงเรียนและหน่วยงานด้านสาธารณสุข ผู้ปกครอง ที่ต้องทำงานร่วมกันมากขึ้น

สำหรับเรื่องการเดินทางรถโรงเรียนต้องมีผู้ดูแลสุขอนามัย และคนขับ ต้องประเมินความเสี่ยงคนขับเป็นระยะ ระหว่างโดยสารต้องเว้นระยะพอสมควร สวมหน้ากากอตลอด ล้างมือบ่อยๆ ก่อนเข้าโรงเรียนก็ตรวจคัดกรองอีกครั้ง ส่วนรถสาธารณะ ให้พยายามเว้นระยะห่าง และสวมหน้ากากตลอดเวลา ส่วนข้อกังวลเรื่องอันตรายถ้าให้เด็กสวมหน้ากากอนามัยนั้น ที่ผ่านมา เราไม่แนะนำการใช้ในเด็กต่ำกว่า 2 ขวบ แต่เด็กที่ไปโรงเรียนจะอายุมากกว่า 2 ขวบ การสวมหน้ากากก็ต้องเป็นขนาดสำหรับเด็ก แต่ครูก็ต้องหมั่นสังเกตเด็กว่ามีความอึดอัดหรือไม่ ขณะที่ผู้ปกครองสามารถฝึกเด็กในการสวมหน้ากากด้วย.