ความท้าทายในมือประยุทธ์ กับทางรอดบนทางสองแพร่ง

by
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005729601.JPEG

หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

การต่อสู้แย่งชิงอำนาจทางการเมืองของสังคมไทยนั้น ไม่ใช่การต่อสู้ชิงอำนาจผ่านการเลือกตั้งอย่างเดียวอีกต่อไป เพราะยังมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ต้องการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงเชิงระบอบ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่หลบหนีไปต่างประเทศแล้วแสดงความคิดเห็นกลับมายังประเทศไทยภายใต้การสื่อสารที่ไร้พรมแดน โดยมีแกนนำคนสำคัญคือ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ซึ่งทั้งสองมีเป้าหมายชัดเจนอย่างที่เราทราบกัน

ทั้งสองถ่ายทอดความคิดและมีผู้ติดตามจำนวนมาก หลายคนเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ไม่รู้ขอบเขตของการแสดงความเห็นที่อาจขัดต่อกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงแสดงความเห็นที่สุ่มเสี่ยงและก้าวล่วงออกมาจำนวนมาก ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในโซเชียลมีเดียทั้งชื่อสมมติและชื่อที่ดูเหมือนจะเป็นชื่อจริงๆ ในขณะที่ฝั่งอำนาจรัฐพยายามจะใช้กฎหมายมาตรานี้ให้น้อยลง แล้วใช้ความผิดตามกฎหมายอื่นแทน

นั่นแสดงว่าแม้เราจะเห็นว่าในหลายประเทศมีการต่อสู้กันในการเลือกตั้งของสองขั้วความคิดจนเป็นเรื่องปกติระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายเสรีนิยม ฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา แต่การต่อสู้ของไทยผ่านการเลือกตั้งในช่วงระยะไม่กี่ปีมานี้มันมีนัยแฝงที่แฝงเร้นไปมากกว่านั้น

ในอดีตการเลือกตั้งของไทยหลังสิ้นอำนาจของพวก 2475แล้ว ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนชนะก็ไม่ได้แตกต่างกัน เพราะนักการเมืองจะเล่นอยู่ในกรอบและพื้นที่ของตัวเอง แย่งชิงอำนาจผลประโยชน์กันทางการเมือง ใครมีอำนาจก็เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากการใช้อำนาจ การเมืองไทยจึงไม่ค่อยมีใครมีอำนาจได้ยืนยาวได้พรรคเดียว

มีแต่ยุคของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์เท่านั้นมีอำนาจแฝงในกองทัพหนุนหลังทำให้สามารถครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีได้นาน และสามารถใช้เวลาและเลือกใช้คนในการวางรากฐานต่างๆ ของประเทศให้โชติช่วงชัชวาลได้ แต่วิถีกึ่งประชาธิปไตยแบบนั้นแม้จะมีระยะที่ยาวนานระยะหนึ่งแต่ก็ไม่ยั่งยืนจนทำให้สังคมไทยยอมรับอดทนกับการผูกขาดอำนาจได้ จึงมีกระแสเรียกร้องให้พอได้แล้วจน พล.อ.เปรมประกาศจะไม่รับตำแหน่งอีก

เมื่อบ้านเมืองเข้ามาสู่ยุคประชาธิปไตยอีกครั้ง ระบอบเลือกตั้งที่ไม่ได้สะท้อนการคัดสรรคนดีคนมีความสามารถเข้ามาทำงานการเมือง แต่สะท้อนผลลัพธ์ของผู้มีอิทธิพลมากบารมีเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็ย่อมจะไม่ตอบโจทย์การเมืองที่ดีมีคุณธรรมที่ดีพอจะมีผู้นำที่นำพาสังคมไทยได้ เมื่อนักการเมืองมีอำนาจจึงต้องเริ่มย้อนกลับมาที่วงจรอุบาทว์แล้วสุดท้ายทหารก็เข้ามายึดอำนาจทุกที เพราะถ้าปล่อยให้นักการเมืองบริหารต่อไปบ้านเมืองก็เน่าเฟะกลายเป็นรัฐล้มเหลว กลายเป็นความชอบธรรมให้ทหารซึ่งเป็นสถาบันหนึ่งของชาติอ้างความชอบธรรมเข้ามาปกป้องรักษาบ้านเมือง จนกลายเป็นประเทศที่มีการเลือกตั้งสลับกับการรัฐประหารตลอดมา

แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนเกราะป้องกันการใช้อำนาจรัฐประหารเพียงใดก็ไม่มีความหมาย เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญถูกฉีกแล้ว เราก็ยึดมั่นในอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ และคณะรัฐประหารก็จะเขียนรัฐธรรมนูญมาตราหนึ่งไว้เพื่อให้การรับรองอำนาจของตัวเอง แม้จะอ้างว่า ในเมื่ออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ปวงชนจึงเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนแต่ละคนย่อมเป็นรัฏฐาธิปัตย์ก็ไม่มีผลทางกฎหมาย

และที่ถูกอ้างถึงตลอดก็คือ ฎีกา 1662/2505 ที่ว่า คณะปฏิวัติได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จหัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชนก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกมาด้วยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภานิติบัญญัติของประเทศก็ตาม ฉะนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติซึ่งประกาศคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติบังคับแก่ประชาชนจึงเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในการปกครองในลักษณะเช่นนั้นได้

ดังนั้นแม้การรัฐประหารจะไม่เป็นความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยในทางพฤตินัยก็กลายเป็นความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยในทางนิตินัยไป

แต่ถ้าพิจารณาจากการยึดอำนาจ 2 ครั้งหลังคือ คณะของ พล.อ.สนธิ บุณยรัตตกลิน และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้วต้องยอมรับว่า นอกจากเงื่อนไขสำคัญทางการเมืองแล้ว มีอีกเหตุผลที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้คือ ประชาชนถูกปลุกปั่นให้มีความขัดแย้งแตกแยกกันเองจนแบ่งออกเป็นสองฝ่าย กระทั่งมีการใช้อาวุธสงครามมาทำร้ายกันอย่างชัดแจ้งจนทำท่าจะกลายเป็นสงครามกลางเมือง และการเคลื่อนไหวที่ท้าทายของพวกนิยมสาธารณรัฐที่กระทบต่อสถาบันหลักของชาติเป็นสำคัญ

ถ้าเราเริ่มยุคของความขัดแย้งของคนในชาติต้องย้อนไปในยุคของระบอบทักษิณมีอำนาจ เราต้องยอมรับว่า ทักษิณมาจากผลพวงของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่สร้างนายกรัฐมนตรีที่เรียกว่า Strong Prime Minister ภาพของ Strong Prime Minister หรือระบบกึ่งประธานาธิบดี จากรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น ทำให้เราได้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจอย่างไม่บันยะบันยังจนหลงละเลิงในอำนาจ


เพราะระบบที่ให้อำนาจกับตัวบุคคลมากจนเกินไป ถ้าได้คนดีมีคุณธรรมก็สามารถนำพาบ้านเมืองไปข้างหน้าได้ แต่ในทางกลับกันถ้าคนไม่ดีหลงละเลิงในอำนาจแล้ว ก็นำพาบ้านเมืองไปแบบที่ทักษิณนำพาไปนั่นเอง

ความล่มสลายของประชาธิปไตยเฟ้อในยุคทักษิณ ที่ซุกซ่อนไว้ด้วยการผ่องถ่ายผลประโยชน์จากอำนาจรัฐเข้าสู่ธุรกิจตัวเองและเอาเศษเงินไปแจกประชาชนเพื่อซื้อใจ อำนาจที่ล้นมือทำให้ทุกฝ่ายต้องเข้ามาสวามิภักดิ์หรือเลือกเราจึงจะได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์นั้น มันชั่วร้ายยิ่งกว่าอำนาจรัฐแบบเก่าที่เราเรียกว่ากึ่งประชาธิปไตยและเผด็จการด้วยซ้ำไป

จริงๆ มันมีรูปธรรมที่ปรากฏชัดอยู่แล้วว่า ประชาธิปไตยหรือการเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่อำนาจของฝั่งระบอบทักษิณนั้นเป็นเพียงใบเบิกทางเท่านั้น ความพยายามสถาปนาตัวเองของมวลชน ปัญญาชน นักวิชาการที่ยืนข้างระบอบทักษิณจนต่อเนื่องมายืนฝั่งตรงข้ามอำนาจรัฐของพล.อ.ประยุทธ์แล้วเรียกตัวเองว่า ฝ่ายประชาธิปไตยก็เป็นคำแอบอ้างที่สถาปนาตัวเองอย่างน่าละอายใจสิ้นดี

ความบกพร่องจากรัฐธรรมนูญ Strong Prime Minister แล้วได้คนไม่ดีเข้ามาบริหารกลายเป็นการส่งดาบให้คนชั่ว ความพยายามเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบที่คู่ขนานมากับฝ่ายที่อ้างตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย โดยมีมวลชนของระบอบทักษิณเป็นฐาน แล้วใช้การปลุกปั่นความเกลียดชังชนชั้นไพร่กับเจ้าอย่างหนักหน่วงในเวทีเสื้อแดงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 มีการจับอาวุธขึ้นมาต่อสู้แล้วหลงผิดว่า ฝั่งของตัวเองอยู่ในภาวะสุกงอมที่มวลชนต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบแล้วจึงไม่ยอมรับข้อเสนอยุบสภาของฝ่ายรัฐบาล เมื่อมาบวกกับความฝันค้างของฝ่ายที่เคยเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ ความฝันก็เลยบรรเจิด

แต่สุดท้ายความตายก็เกิดกับประชาชนที่กลายเป็นโล่กำบังและถูกพวกอ้างประชาธิปไตยใช้เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวเมื่อวันเวลาเวียนผ่านมาตามวาระ

การเมืองที่เปลี่ยนรูปแบบไปจากการแย่งชิงอำนาจของนักการเมือง มาเป็นการเมืองที่มีเดิมพันของระบอบที่แม้จะมีคนเพียงหยิบมือคิดเพ้อฝันก็ตาม แต่คนเหล่านี้นับวันจะมีมวลชนที่เป็นคนรุ่นใหม่หันมาให้การสนับสนุนมากขึ้น ทำให้รัฐธรรมนูญ2560ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจมากขึ้น กระชับอำนาจมากขึ้น เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ จนต้องยอมรับความจริงว่า รัฐธรรมนูญเองก็กลายเป็นจุดอ่อนที่ฝ่ายอ้างประชาธิปไตยนำมาเสริมคุณค่าความเป็นประชาธิปไตยของฝั่งตัวเองให้สูงเด่นขึ้น

แต่ต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ประชาธิปไตยครึ่งใบจะเขียนบทเฉพาะกาลไว้เพียง 5 ปี ที่ให้แต้มต่อการสืบอำนาจของฝ่ายรัฐประหารด้วยมือของ 250 ส.ว.ที่แต่งตั้งขึ้นมา เพื่อให้บ้านเมืองอยู่ในความมั่นคง หลังจากนั้นแล้วก็จะเปลี่ยนมือไปสู่เกมการเลือกตั้งที่มีกำลังประชาชนที่ก้ำกึ่งกันพร้อมจะพลิกเปลี่ยนฝ่ายแพ้ฝ่ายชนะได้ตลอดเวลา

และต้องยอมรับว่า การเคลื่อนไหวของคนที่เคลื่อนไหวอยู่ต่างประเทศกับพรรคการเมืองอย่างอนาคตใหม่ที่เปลี่ยนเป็นพรรคก้าวไกลและกลุ่มก้าวหน้านั้นมีพลวัตรที่เข้มแข็งและแสดงออกที่ท้าทายขึ้นตามลำดับ คนส่วนใหญ่ที่สนับสนุนเป็นคนหนุ่มสาวที่จะเติบใหญ่ขึ้นมาเรื่อยๆในอนาคต ในขณะคนที่ยืนต้านกับคนกลุ่มนี้เพื่อปกปักสถาบันหลักนับว่าจะโรยราลง


เรากลับไม่เห็นว่า อำนาจรัฐในปัจจุบันที่รู้ตัวว่ายืนอยู่ได้เพราะรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมา และรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทเฉพาะกาลที่ให้แต้มต่อเพียง 5 ปี จะเตรียมรับมืออย่างไรกับการเปลี่ยนผ่านการเมืองไทยหลังจากนี้ ซ้ำร้ายในพรรครัฐบาลที่มีอำนาจอย่างพรรคพลังประชารัฐก็กลับแย่งชิงผลประโยชน์ต่อรองอำนาจกันอย่างไม่สิ้นสุด จนมองไม่เห็นอะไรเลยที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งเคยเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปสู่หนทางที่ดีกว่า

ผมว่า โดยลำพังพล.อ.ประยุทธ์รู้ว่า ภารกิจของตัวเองคืออะไร ที่มากกว่าการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็วุ่นวายกับความเป็นรัฐบาลผสมเพราะผลจากความกลัวรัฐธรรมนูญแบบ Strong Prime Minister ที่เกิดนายกรัฐมนตรีแบบทักษิณ ทำให้เราได้รัฐบาลที่อ่อนแอ แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะมีอำนาจแฝงที่มีกองทัพเป็นหลังพิงไปจนหมดบทเฉพาะกาล ก็ต้องรู้ว่า ภัยของชาติที่สำคัญที่สุดในอนาคตข้างหน้าคืออะไร แล้วจะต้องสร้างรากฐานเพื่อปกปักรักษามันไว้ได้อย่างไรเมื่อบทเฉพาะกาลหมดลง


ระบอบที่ดำรงอยู่จะต้องแสดงตัวให้เห็นถึงประสิทธิผลที่ดีกว่าในการนำพาชาติบ้านเมือง และส่งผลที่คนส่วนใหญ่ในชาติยอมรับว่า นี่คือการหลอมรวมของความเป็นชาติที่สำคัญ และสุดท้ายประชาชนจะต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดในฐานะเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความเป็นชาติ

ไม่มีใครมีความเป็นฝ่ายประชาธิปไตยที่อวดอ้างกว่ากัน สุดท้ายแล้วประชาชนนี่แหละจะเป็นผู้ตัดสินประเทศด้วยมือของตัวเอง แม้จะยืนอยู่บนทางสองแพร่ง เพียงแต่ว่า ทำอย่างไรไม่ให้เกิดความรุนแรงซ้ำรอยขึ้นมาอีก

และอำนาจที่จะรักษาไว้ได้มันต้องยืนอยู่บนความชอบธรรมด้วย


ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan