เฮ! ‘รถไฟฟ้าสายสีทอง’ ขบวนแรกถึงไทย 10 มิ.ย. เตรียมวิ่งให้บริการเดือน ต.ค.
by NOPPHAWHAN TECHASANEEคนกรุงเฮ! “รถไฟฟ้าสายสีทอง” ขบวนแรกกำหนดถึงไทย 10 มิ.ย. นี้ คาดเปิดวิ่งให้บริการได้ปลายเดือน ต.ค.
นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) วิสาหกิจภายใต้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยความคืบหน้าของโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทองช่วง สถานีกรุงธนบุรี-สถานีสำนักงานเขตคลองสาน (รถไฟฟ้าสายสีทอง) ว่า หลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้กำหนดการจัดส่งขบวนรถไฟฟ้าในโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองต้องเลื่อนจากเดือนเมษายน 2563 ที่กำหนดไว้เดิม
ล่าสุดขณะนี้ทางบริษัทผู้ผลิตในจีน ได้จัดส่งขบวนรถไฟฟ้าสายสีทองมาแล้ว โดยขบวนรถจะมาถึงไทย ในวันที่ 10 มิถุนายน 2563 นี้ โดยจัดส่งมาก่อน 1 ขบวน มี 2 ตู้โดยสาร จากจำนวนที่จัดซื้อทั้งหมด 3 ขบวน ส่วนขบวนที่เหลือจะจัดส่งมาภายหลัง
- พิษโควิด! ‘บีทีเอส’ นำเข้ารถไฟฟ้าสายสีทองไม่ได้ ‘แอร์พอร์ตลิงก์’ คนหาย 9%
- อภิปรายไม่ไว้วางใจ วันที่ 2 ‘มท.1’ ลุกแจงปมรถไฟฟ้าสายสีทอง ยันไม่เอื้อนายทุน!
นายมานิต กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง จะใช้รถรุ่น Bombardier Innovia APM 300 ซึ่งผลิตจากเมืองอู่หู มณฑลอานฮุย ประเทศจีน โดยรถไฟฟ้ารุ่น Bombardier Innovia APM 300 มีความพิเศษคือ เป็นระบบที่ใช้เป็นรถไฟฟ้ารูปแบบไร้คนขับ โดยใช้รางนำทาง มีผิวสัมผัสระหว่างล้อและทางวิ่งเป็นยาง ซึ่งจะทำให้เกิดความนุ่มนวลและก่อให้เกิดเสียงรบกวนต่ำ ความเร็วการทำงานสูงสุดที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ทั้งนี้ ระบบรถไฟฟ้าสายสีทองจะใช้รถทั้งหมด 3 ขบวน ขบวนละ 2 ตู้ แบ่งเป็นใช้รับส่งผู้โดยสารจำนวน 2 ขบวน และสำรองไว้ในระบบ 1 ขบวน ความจุผู้โดยสาร 137 คนต่อขบวน รถไฟฟ้ามีความกว้าง 2.8 เมตร ความยาว 12.75 เมตร ความสูง 3.5 เมตร ประตูมีความกว้าง 1.9 เมตร ความสูงของพื้นรถ 1.1 เมตร น้ำหนัก 16,300 กิโลกรัม
“เมื่อรถมาถึงและผ่านพิธีการทางศุลกากรแล้วจากนั้นจะมีการนำขบวนรถไฟฟ้ายกขึ้นสู่โรงจอดและซ่อมบำรุงที่สถานีกรุงธนบุรี เพื่อเตรียมการทดสอบระบบในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน และทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Running) ในเดือนกันยายน ก่อนเปิดให้บริการในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2563 นี้ซึ่งกำลังเร่งรัดงานในส่วนที่ล่าช้าจากผลกระทบโควิด-19” นายมานิตกล่าว
นายมานิต กล่าวต่อด้วยว่า สำหรับความคืบหน้างานก่อสร้างโรงจอดและซ่อมบำรุง รวมถึงสถานีกรุงธนบุรี (G1) สถานีเจริญนคร (G2) และสถานีคลองสาน (G3) ความก้าวหน้าภาพรวม 88 % แบ่งออกเป็นความก้าวหน้างานโยธา 93% และความก้าวหน้างานระบบการเดินรถ 81% .