https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20200528/news_ZXofqloUXy110953_533.jpg?v=202006021010

ไขสงสัยรถยนต์คู่ใจ ทำไมต้องตั้งศูนย์-ถ่วงล้อ?

ไขข้อสงสัย ทำไมรถยนต์ต้อง "ตั้งศูนย์-ถ่วงล้อ" พร้อมสัญญาณเตือนที่ควรรู้ เมื่อไหร่ถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยน?

หลายๆท่านคงสงสัยว่าทำไมรถยนต์จะต้องมีการ "ตั้งศูนย์-ถ่วงล้อ" เมื่อไหร่จะถึงเวลาอันสมควรที่ต้องดำเนินการ และหากไม่ทำจะเกิดอะไรขึ้น "รู้ก่อนเหยียบ" ขอนำทุกท่านไปรู้กับการ "ตั้งศูนย์-ถ่วงล้อ"

"การตั้งศูนย์" คือการตั้งมุมต่างๆ ของล้อรถยนต์โดยเฉพาะล้อหน้าและในล้อหลังบางรุ่น ให้ถูกต้องตามค่าที่ผู้ผลิตกำหนดมาจากโรงงานเพื่อประโยชน์ในการขับขี่ที่สมดุล เกาะถนนได้ดียิ่งขึ้น แต่หลายๆท่านคงเกิดคำถามว่าเมื่อตั้งมาจากโรงงานแล้ว เหตุใดต้องตั้งศูนย์?

กล่าวคือเมื่อเราใช้รถมาเป็นเวลาหลายหมื่นกิโลเมตร ต้องประสบพบเจอกับสภาพถนนหลากหลายรูปแบบ อีกทั้งการตกหลุมบ่อต่างๆ ย่อมบั่นทอนทำให้ ค่าของมุมล้อที่ถูกกำหนดมาจากโรงงานอย่างถูกต้องผิดเพี้ยนไปได้ จะมากหรือน้อยแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตัวแปรที่กล่าวไว้ข้างต้น

https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20200528/news_iRIJqUAfea165021_533.jpg?v=202006021010?v=7073

มุมล้อหน้าที่ต้องตั้ง-มุมโท คือมุมที่จะช่วยให้รถวิ่งได้ตรง นิ่ง และสามารถควบคุมรถในทางตรงได้ง่าย เราสามารถสังเกตได้จาก
"มุมโท" ได้จาก ถ้าล้อหน้าซ้ายและขวาขนานกันนั้น "มุมโท" จะมีค่าเป็น "0" แต่ถ้า ด้านหน้าของล้อหุบและด้านหลังถ่างออกเรียกว่า "โทอิน" และในทางตรงข้ามถ้าด้านหน้าของล้อถ่างและด้านหลังหุบเข้าเรียกว่า "โทเอาต์"

"มุมแคสเตอร์" ในระบบช่วงล่างแบบแม็คเฟอร์สันสตรัท จะเป็นมุมเอียงของโช้คอัพ และในระบบช่วงล่างหน้าแบบปีกนกสองชั้นจะเป็นมุมของคอม้า มีหน้าที่ ช่วยให้รถวิ่งตรง การหักเลี้ยวและคืนตัวของพวงมาลัยทำได้อย่างคล่องตัว สำหรับรถตลาดโดยทั่วไป "มุมแคสเตอร์" จะกำหนดตายตัวม่สามารถปรับตั้งได้

"มุมแคมเบอร์" เป็นมุมเอียงจากแนวดิ่ง โดยถ้าล้อซ้ายและขวาขนานกันในแนวดิ่ง เรียกว่าค่า แคมเบอร์เป็น "0" แต่ถ้าล้อด้านบนถ่างออกและด้านล่างหุบเข้าเรียกว่า แคมเบอร์บวก ถ้าล้อด้านบนหุบเข้าและด้านล่างถ่างออกเรียกว่า แคมเบอร์ลบ ปกติ ค่าแคมเบอร์ ของล้อจะเป็นลบเล็กน้อย เพื่อช่วยให้ทรงตัวได้ดีในการเข้าโค้ง แต่ถ้ามุม แคมเบอร์ มีค่าเป็นลบมากเกินไปจะทำให้กินยางด้านในมากกว่าด้านนอก

https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20200528/news_lYCmFfMvwL165020_533.jpg?v=202006021010?v=8041

"การถ่วงล้อ" คือการทำให้ล้อเกิดสมดุลในขณะหมุนโดยการใช้ตะกั่วถ่วงน้ำหนัก เพื่อป้องกันการสั่นขณะรถวิ่ง ทั้งนี้การถ่วงล้อมีด้วยกัน 2 แบบ
-"ถอดล้อถ่วง" โดยช่างจะถอดล้อออกมาเข้าเครื่องถ่วง โดยเครื่องจะหมุนล้อและประมวลผลออกมาว่า จะต้องถ่วงตะกั่วน้ำหนักเท่าไหร่ตรงจุดไหน เพื่อให้การหมุดสมดุลที่สุด
-"ถ่วงจี้" การถ่วงลักษณะนี้ไม่ต้องถอดล้อ มักจะใช้กับรถที่ถอดล้อถ่วง แล้วยังมีอาการสั่น ข้อดีคือสามารถสร้างสมดุลให้ล้อและยาง ลูกปืนล้อ เพลาขับ จานดิสก์เบรก

สัญญาณเตือนควรตั้งศูนย์ที่ควรรู้
-รู้สึกผิดปกติขณะขับรถ รถวิ่งไม่ตรง รถเกิดการเลื้อย แฉลบดึง ซ้าย-ขวา ไม่ว่าจะขณะวิ่งหรือเบรก
-มีเสียงดังขณะเข้าโค้ง
-วงเลี้ยวซ้าย-ขวาไม่เท่ากัน
-ทุกครั้งเมื่อมีการซ่อมเปลี่ยนชิ้นส่วนระบบบังคับเลี้ยวและช่วงล่าง
-อย่างไรก็ตามก่อนการตั้งศูนย์ทุกครั้งควรตรวจสอบระบบช่วงล่างต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้เสมอ

เมื่อไหร่ต้องถ่วงล้อ?
-พวงมาลัยสั่น ไม่ว่าจะสั่นทุกช่วงความเร็วหรือ สั่น ณ ความเร็วใดความเร็วหนึ่ง อาทิ สั่นที่ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ต่อชั่วโมง ถ้าเร็วหรือช้ากว่านั้นไม่สั่น
-เมื่อสลับยางวิ่งแล้วเกิดอาการสั่น
-ทุกครั้งที่เปลี่ยนยางใหม่ โดยควรถ่วงทั้ง 4 ล้อเสมอ...
.......................................
คอลัมน์ : รู้ก่อนเหยียบ
โดย “ช่างเอก”
ติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรงที่ changaek_106@hotmail.com 

ขอบคุณภาพประกอบจาก : Pixabay