เซฟ “คชก.-สผ.-ผู้ประกอบการ” ขั้นตอนขออีไอเอ ในช่วงโควิด-19
by matichonเซฟ “คชก.-สผ.-ผู้ประกอบการ” ขั้นตอนขออีไอเอ ในช่วงโควิด-19
สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ย้ำให้ ผู้ประกอบการที่ต้องการยื่นขอใบอนุญาตเป็นผู้มีสิทธิจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงานอีไอเอ จะต้องผ่านการตรวจสอบขั้นตอนอย่างละเอียด รอบคอบ แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม
นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สผ.เล็งเห็นถึงความปลอดภัยของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ตลอดจนเจ้าหน้าที่และภาคเอกชนที่จะต้องทำการติดต่อประสานงานในเรื่องขั้นตอนการขอรับใบอนุญาตเป็นผู้มีสิทธิจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ สผ. จึงได้กำหนดแนวทางการขอรับใบอนุญาตให้แก่นิติบุคคลผู้มีสิทธิทำรายงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เรียกกันว่าที่ปรึกษา โดยเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญมากในการจัดทำรายงานอีไอเอของผู้ประกอบการ โดยนิติบุคคลที่จะเข้ายื่นขอรับใบอนุญาตจะมีบางขั้นตอนที่แตกต่างไปจากเดิมเล็กน้อย
ซึ่งสรุปขั้นตอนการขอรับใบอนุญาต ขั้นตอนแรกจะเป็นขั้นตอนการเตรียมการและการยื่นคำขอของผู้ขอรับใบอนุญาต ดังนี้ 1.ต้องเป็นนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาวิจัยและให้คำปรึกษาทางวิชาการ โดยมีผู้เสนอเป็นผู้ชำนาญการอย่างน้อย 1 คน และเจ้าหน้าที่ประจำอย่างน้อย 3 คน 2.กรอกแบบคำขอ สวล.3 3.จัดเตรียมเอกสาร ได้แก่ หนังสือแจ้งความจำนง และเอกสารที่เกี่ยวข้องตามคู่มือการขอรับใบอนุญาต
โดยสามารถดาวน์โหลดและลงทะเบียนได้ทางอิเล็กทรอนิกส์ ทาง http://consult.onep.go.th/ 4.ผู้มาชำระค่าธรรมเนียมคำขอ และยื่นแบบคำขอ สวล.3 พร้อมส่งเอกสารฉบับจริงทั้งหมดที่ สผ. ขั้นตอนต่อมาจะเป็นขั้นตอนการพิจารณาและตรวจสอบเอกสาร
นางรวีวรรณ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ สผ.จะเป็นผู้ตรวจสอบ ความครบถ้วน ของเอกสาร หากครบถ้วนเจ้าหน้าที่จะลงรับคำขอ แต่ถ้าหากไม่ครบถ้วน จะทำบันทึกข้อตกลงและกำหนดวันแก้ไข จากนั้นเมื่อเอกสารครบถ้วนแล้ว เจ้าหน้าที่ สผ.จะพิจารณา ความถูกต้อง และ ความสมบูรณ์ ของเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยต้องพิจารณาเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งคุณสมบัติ ผลงาน และประสบการณ์ ทั้งของนิติบุคคล ผู้เสนอขอเป็นผู้ชำนาญการ และเจ้าหน้าที่ประจำ หากเอกสารที่ยื่นมาไม่ถูกต้องและไม่สมบูรณ์ สผ.จะจัดทำหนังสือขอเอกสารเพิ่มเติมหรือให้แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องและสมบูรณ์ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ผู้ขอรับใบอนุญาตสามารถดูรายละเอียดและติดตามสถานะได้ทาง http://consult.onep.go.th/ หรือหากมีการแก้ไข สผ.จะมีการติดต่อหรือรับเอกสารผ่านทาง email:Eiaonepthailand@onep.go.th และจัดส่งเอกสารตัวจริงให้ สผ.ต่อไป
จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตเมื่อเอกสารทุกอย่างสมบูรณ์แล้ว คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการขอรับใบอนุญาตจะพิจารณาเอกสารและมีการสัมภาษณ์ผู้เสนอขอเป็นผู้ชำนาญการในประเด็น ความพร้อม ความเข้าใจ ความรับผิดชอบและผลงานที่ผ่านมา
โดยในการสัมภาษณ์จะแบ่งเป็น 2 วิธี คือ1.เชิญผู้ชำนาญการมาสัมภาษณ์ที่ สผ. หรือ 2.การสัมภาษณ์แบบ VDO conference ซึ่งเป็นวิธีที่เพิ่มเข้ามาโดย สผ.จะพิจารณาตามความเหมาะสม ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
นางรวีวรรณ กล่าวว่า โดยเฉพาะในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ทุกฝ่ายบนพื้นฐานของความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นสำคัญ ผลคะแนนการสอบสัมภาษณ์และการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ จะถูกเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาผู้มีสิทธิขอรับใบอนุญาตเป็นผู้พิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตต่อไป
ขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นขั้นตอนการแจ้งผลการพิจารณาเมื่อผู้มีอำนาจลงนามแล้ว สผ.จะแจ้งผลการพิจารณาให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาต จากนั้น ผู้ที่ผ่านหลักเกณฑ์หรือได้รับอนุญาตให้เป็นผู้มีสิทธิทำรายงานจะต้องมาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ สผ. และมารับใบอนุญาตในลำดับถัดไป โดยสามารถมารับได้ด้วยตนเองหรือมอบอำนาจ รวมถึงหากมารับไม่ได้สามารถแจ้งให้ สผ.จัดส่งให้ทางไปรษณีย์ก็ได้เช่นกัน
เพื่อความปลอดภัย ห่างไกลจากเชื้อโควิด-19 ของทุกฝ่าย แต่งานยังสามารถเดินหน้าไปได้