กสทช. ใจดีให้ผู้ประกอบการทีวี-โทรคมนาคมยืดเวลาจ่ายค่าไลเซนส์ให้ถึง 15 ส.ค. 63
มีรายงานข่าวว่า วันนี้ (27 พ.ค. 63) ณ การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีวาระสำคัญคือ การพิจารณายืดจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับผู้ประกอบการด้านบรอดแคสต์และโทรคมนาคม เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ออกประกาศ กสทช. เรื่อง การชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม และการจัดสรรรายได้จากการให้บริการโทรคมนาคมให้แก่กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19
โดยสาระสำคัญของร่างประกาศนี้ จะกำหนดให้ผู้ประกอบการทั้งฝั่งบรอดแคสต์และโทรคมนาคม ที่มีกำหนดจะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี และเงินสมทบเข้ากองทุนวิจัย ในวันที่ 29 พ.ค. นี้ สามารถยืดเวลาจ่ายค่าธรรมเนียมได้เพื่อพยุงกระแสเงินสดของผู้ประกอบการ
“สาระสำคัญคือ บริษัทที่รายได้เกิน 1 พันล้าน สามารถชำระค่าธรรมเนียมได้ 50% ในวันที่ครบกำหนด และอีก 50% ที่เหลือสามารถยืดไปจ่ายได้ในวันที่ 15 ส.ค. นี้ ส่วนบริษัทที่มีรายได้น้อยกว่าพันล้านบาท สามารถเลื่อนจ่ายค่าธรรมเนียมทั้ง 100% ไปจ่ายในวันที่ 15 ส.ค. ได้ทั้งบรอดแคสต์และโทรคม โดยจากการสำรวจล่าสุด มีผู้ประกอบการทีวี 9 ราย ที่มีรายได้เกินพันล้านบาท และในฝั่งโทรคมนาคมมีบริษัทที่มีรายได้เกินพันล้านบาท 12 ราย โดยเมื่อประเมินแล้วจะไม่กระทบกับสภาพคล่องของ กสทช. ที่มีกระแสเงินสดลดลงอย่างมาก จากการโยกเงินไปช่วยสนับสนุนโรงพยาบาลสู้โควิด ซึ่งตามประกาศนี้ จะทำให้ กสทช. มีรายรับเข้ามาราว 3,000 ล้านบาทในช่วงสิ้นเดือน พ.ค. และอีก 3,000 ล้านบาทในช่วง 15 ส.ค. นี้”
สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมของ กสทช. แต่ละปีจะอยู่ที่ราว 8,500 ล้านบาท ในปี 2562 มาจากฝั่งบรอดแคสต์ 235 ล้านบาท และฝั่งผู้ประกอบการโทรคมนาคม 8,339 ล้านบาท โดยค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการรายปี ซึ่งจัดเก็บตามขั้นบันไดรายได้จะคิดตั้งแต่ 0.125% ถึง 1.5% ของรายได้ เงินสมทบค่า USO ฝั่งโทรคมนาคม 2.5% ของรายได้สุทธิ ฝั่งกระจายเสียงอัตรา 0.125% ถึง 1.5% ตามเพดานรายได้ และยังมีค่าธรรมเนียมเลขหมายสำหรับผู้ประกอบการโทรคมนาคม 1-1.5 บาทต่อเบอร์ต่อเดือน