https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20200527/news_qloymiVEWD181158_533.jpg?v=20200528071

'อุตตม'ยันพรก.กู้เงินตรวจสอบได้ รับเยียวยาปชช.ล่าช้า

“อุตตม” ยัน พ.ร.ก. เราไม่ทิ้งกัน โปร่งใส-ตรวจสอบได้ ต้องรายงาน ครม. และสภาฯ มั่นใจไม่กระทบเสถียรภาพการเงินประเทศ ยอมรับเยียวยาล่าช้าแต่ถือว่าเป็นครั้งแรกของประเทศ

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่รัฐสภา นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวชี้แจงเกี่ยวกับการกู้เงินตามพระราชกำหนดระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า เรากู้เงิน 1 ล้านล้านบาทเท่านั้นไม่กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพราะส่วนที่เหลือไม่ได้ใช้เงินกู้แต่เป็นสภาพคล่องที่มีอยู่ในระบบอยู่แล้ว โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำสภาพคล่องมาใช้แก้ไขปัญหาเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับประเทศเท่านั้น สถานการณ์โควิด19เป็นวิกฤตทางสาธารณสุขที่ส่งผลมาถึงเศรษฐกิจ เป็นวิกฤตในระดับโลก หลายประเทศทั่วโลกเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจหดตัวรุนแรงไม่ต่างกัน เราไม่ได้สบายใจ เพราะผลกระทบจะเกิดขึ้นรุนแรงแน่นอน ซึ่งเป็นผลกระทบที่เฉียบพลัน

ดังนั้น เป้าหมายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา คือ 1.การดูแลเยียวยาผลกระทบที่เกิดกับประชาชนและผู้ประกอบการในทันที เพื่อให้มีเงินในกระเป๋าเพียงพอที่จะยังชีพในภาวะเศรษฐกิจหดตัว เงินในกระเป๋าเป็นสิ่งจำเป็นต้องให้ทันที 2.การดูแลผู้ประกอบการในระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะรายเล็กหรือ sme เป็นผู้ที่จ้างงานร้อยละ 80 ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศก็กระทบต่อธุรกิจของเขาและกระทบมาที่เงินในกระเป๋าของประชาชน และจะเป็นวัฏจักรที่กลับไปกระทบต่อการทำธุรกิจต่อเศรษฐกิจโดยรวม และ 3.การพยายามปกป้องและรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจทั้งตลาดการเงินและตลาดทุนของประเทศ ทุกภาคส่วนวันนี้มีความเชื่อมโยงถึงกันหมด

“การกู้เงินเรามีกรอบที่รัดกุมไม่ได้แตกต่างจากอดีตและการประเมินผลงานก็ใช้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะและสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเข้ามาดำเนินการ อย่างโครงการไทยเข้มแข็ง และ พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ และกรณีเราไม่ทิ้งกัน ก็มีวัตถุประสงค์ของการตราพระราชกำหนดไม่แตกต่างกัน ถามว่าการกู้เงินครั้งนี้สมเหตุสมผลหรือไม่นั้นรัฐบาลได้พิจารณาด้วยความรอบคอบ การเยียวยาและการเพิ่มสภาพคล่องเข้าไปในระบบ ”นายอุตตม กล่าว 

นายอุตตม กล่าวว่า การกู้เงินครั้งนี้เราอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายและวินัยการเงินการคลัง ซึ่งในอดีตไม่มีกฎหมายดังกล่าว ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณากรอบการบริหารหนี้สาธารณะภายหลังมีการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทแล้ว ณ สิ้นเดือนก.ย.2564 ยังอยู่ในกรอบของกฎหมายแทบทั้งสิ้นผ่านตัวชี้วัดทั้ง 4 ตัว ได้แก่ 1.สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะอยู่ที่ร้อยละ 57.96 จากกรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 60 2.สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ ร้อยละ21.2 จากกรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 35 3.สัดส่วนหนี้สาธารณะเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 2.53 จากกรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ไม่เกิน ร้อยละ10 และ4.สัดส่วนหนี้สาธารณะต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการอยู่ที่ร้อยละ 0.19จากกรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 5

"ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉียบพลันจริงๆ ผมเชื่อว่าส.ส.ก็ไม่ใครคาดคิดได้ก่อนว่าจะมาแรงขนาดนี้ การดำเนินการเยียวยาก็ต้องดำเนินการให้เร็วเช่นกัน ความล่าช้ายอมรับว่าต้องใช้เวลาเพราะเรากำลังใช้งบประมาณแผ่นดินที่ต้องรัดกุม และข้อมูลที่ใช้นั้นข้อมูลประเทศไทยไม่ได้มีความพร้อมที่จะดำเนินการเยียวยาได้เร็วอย่างที่ควรจะเป็น อย่างผู้ประกอบอาชีพอิสระเราไม่ได้มีข้อมูลว่าเป็นใครที่ไหนบ้าง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องให้มีการลงทะเบียน ครั้นจะจ่ายแบบทุกคน ถ้าทำได้ก็ดี แต่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดในแง่งบประมาณเช่นกัน"

รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยสำหรับภาระที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยดำเนินการเรื่องนี้ ไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เช่นอาชีพอิสระเราไม่ได้มีถังข้อมูลที่จะชี้ชัดว่าอาชีพอิสระอยู่ที่ไหนใครบ้างเป็นเหตุผลที่ทำไมต้องเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อให้ประชาชนเข้ามา ถ้าทำได้ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดเรื่องงบประมาณเช่นกันและทรัพยากรที่มีอยู่ ต้องเน้นที่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงก่อน แต่เรามีการดูแลทุกประเภท เช่นแรงงานอิสระ เกษตรกร แรงงานในระบบ เจ้าหน้าที่ส่วนภาครัฐก็มีการดูแลอยู่ตามปกติอยู่แล้ว 

“ยอมรับว่ามีความล่าช้า และมีปัญหาอยู่บ้างเพราะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยดำเนินการในเรื่องนี้ และรับฟังข้อชี้แนะนำทุกอย่าง ขณะที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ทำงานหนักจริง ๆ โดยมีการนำมาปรับปรุงปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน เพื่อสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยรัฐบาลจะดูแลให้ดีที่สุด แม้วิกฤตจะพ้นไป แต่ยังต้องดูแลต่อเนื่องทั้งการฟื้นฟู และคำนึงถึงข้อมูลที่ได้มาแเพื่อจะได้นำไปใช้ เช่น อาชีพอิสระเป็นโอกาสให้เราได้เก็บข้อมูลจำนวนมากที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายบริหารประเทศในอนาคต”รมว.คลังกล่าว.