‘วราวุธ’ สั่งการ ‘กรมทรัพยากรน้ำ’ ทุ่มทรัพยากรแก้ภัยแล้ง เดินหน้าเตรียมรับน้ำฝนปี 63

by

สถานการณ์ภัยแล้งที่ผ่านมาตั้งแต่ เดือนตุลาคม 2562 ถึงปัจจุบันนั้น นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้สั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ร่วมมือกันช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง

https://www.thebangkokinsight.com/wp-content/uploads/2020/04/S__125861933-700x932.jpg

กรมทรัพยากรน้ำได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินการ วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และกำหนดมาตรการแก้ไข และลดผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การกำกับของ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยกำหนดแผนปฏิบัติการในภาวะภัยแล้ง ได้แก่ศูนย์ผลิตน้ำสะอาด จุดแจกจ่ายน้ำสะอาด และจุดสูบน้ำ อีกทั้งการเตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์เครื่องมือและบุคลากร เช่นเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ ผู้ประสานงานช่วยเหลือและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้ง ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่กว่า 500 คน

ในส่วนภาคเกษตรกรนั้น  ทส. ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ช่วยเหลือภัยแล้งในพื้นที่เกษตร ไม้ผลยืนต้น ในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ จำนวน 370,000 ไร่

https://www.thebangkokinsight.com/wp-content/uploads/2020/04/S__125771841-700x526.jpg

จากแผนปฏิบัติการรับมือพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรไม้ผลยืนต้น นอกเขตชลประทานนั้น ทส. โดยกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นผู้ดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน มอบหมายหน่วยงานส่วนภูมิภาคเข้าสำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำเกษตรนอกเขตชลประทาน และดำเนินการสูบน้ำช่วยเหลือได้ตามเป้าหมายจำนวนกว่า 97 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถสูบน้ำแจกจ่ายน้ำสะอาดได้กว่า 16 ล้านลิตร ประชาชนได้รับประโยชน์ 425,000 ครัวเรือน จำนวน 1,368,000 ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร 204,000 ไร่

สำหรับการเตรียมการรับน้ำฝนในปี 2563 รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนายวราวุธ เน้นย้ำให้ กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล บริหารจัดการน้ำ โดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ และตามศักยภาพของแหล่งเก็บกักน้ำ

พื้นที่ใดที่มีแหล่งน้ำต้นทุนที่มีศักยภาพ จะต้องมีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และมีปริมาณน้ำที่มั่นคงในภาคการผลิต

https://www.thebangkokinsight.com/wp-content/uploads/2020/03/S__125485066-700x524.jpg

กรมทรัพยากรน้ำ ได้นำแนวนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ โดยการบริหารงบประมาณของกรมเพื่อให้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนา และจัดทำระบบกระจายน้ำ ในทุกๆ แหล่งน้ำที่มีศักยภาพ ให้สมดุลกับปริมาณความต้องการใช้น้ำของแต่ละพื้นที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และประชาชนอย่างสูงสุด

อีกทั้งได้มีการวางแผนสนับสนุนน้ำในโครงการต่างๆ ที่สนับสนุนน้ำต้นทุนในการผลิตทางการเกษตร อันเกิดจากการย้ายถิ่นฐานของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

ในปีงบประมาณ 2563 กรมทรัพยากรน้ำวางแผนเพิ่มน้ำต้นทุนผ่านโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มขึ้นอีก 145 แห่ง เมื่อแล้วเสร็จประเทศไทยจะมีปริมาณกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น 160 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนจะได้รับประโยชน์กว่า 70,000 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรจะได้น้ำกว่า 186,000 ไร่

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำได้ขอสนับสนุนโครงการฯ งบกลาง เพิ่มเติมอีก จำนวน 35 โครงการ ในวงเงิน 496 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 33,111 ไร่ ครัวเรือนได้รับประโยชน์กว่า 7,050 ครัวเรือน และกรมทรัพยากรน้ำได้ขอสนับสนุนงบประมาณจากงบเงินกู้ จำนวน 727 โครงการ ในวงเงิน 248 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 602,779 ไร่ ครัวเรือนได้รับประโยชน์กว่า 163,750 ครัวเรือน คาดว่าเมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มน้ำต้นทุนรวม 413 ล้านลูกบาศก์เมตร

https://www.thebangkokinsight.com/wp-content/uploads/2020/05/S__226304002-700x394.jpg

จากงานวิจัยของกรมทรัพยากรน้ำ พบว่าในหลายพื้นที่ชนบทของประเทศไทย สามารถอุปโภคและบริโภคน้ำฝนได้ โดยผ่านขั้นตอนการฆ่าเชื้อโรค โดยการต้ม และการใช้ภาชนะรองรับและกักเก็บที่สะอาด อยากฝากถึงพี่น้องประชาชน ให้ช่วยกันเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในการอุปโภคและบริโภคในครัวเรือน

ที่มา : กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

Share