ยอดตายรายวันบราซิลนำโด่ง 5 วันซ้อน สภาอียูถกงบเยียวยาโควิด 1 ล้านล้านยูโร

by
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005678201.JPEG

เอเอฟพี - อียูเตรียมเปิดแผนฟื้นเศรษฐกิจจากพิษไวรัส มูลค่า 1 ล้านล้านยูโร ขณะที่ไวรัสโคโรนายังคงระบาดอย่างหนักในละตินอเมริกา โดยเฉพาะบราซิลที่รายงานยอดผู้เสียชีวิตรายวันสูงสุดในโลกติดต่อกันเป็นวันที่ 5

ข้อเสนอมูลค่ามหาศาลของยุโรป มีขึ้นหลังจากที่ทั่วโลกระดมออกมาตรการฉุกเฉินอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 350,000 คน และผู้ติดเชื้อเกือบ 5.6 ล้านคนทั่วโลก

เออร์ซูลา วอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป มีกำหนดเปิดเผยข้อเสนอฟื้นเศรษฐกิจมูลค่า 1 ล้านล้านยูโร เข้าสู่สภายุโรปในวันพุธ (27 พ.ค.) เพื่อช่วยประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดหนักที่สุดทั้งด้วยเงินกู้และเงินช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะมีการเจรจาข้อเสนอนี้กันอย่างเข้มข้น เนื่องจากฝ่ายที่สนับสนุนต้องพยายามโน้มน้าวสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) บางประเทศที่คัดค้านการให้เงินช่วยเหลือชาติที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวอยู่แล้วอย่างสเปนและอิตาลี ซึ่งต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้หนักที่สุด

ยุโรปที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อย่างน้อย 172,000 คน ต้องรับมือทั้งโศกนาฏกรรมความสูญเสีย และผลกระทบหนักหน่วงทางเศรษฐกิจ

ในวันพุธ สเปนจะเริ่มการไว้อาลัยอย่างเป็นทางการนาน 10 วัน ให้แก่ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 กว่า 27,000 คน ถึงกระนั้น ทั้งสเปนและประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น อิตาลี เยอรมนี ฝรั่งเศส และ อังกฤษ ต่างเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว และประชาชนพากันไปจับจ่าย อาบแดดริมหาด วิ่งในสวนสาธารณะ ฯลฯ หลังจากกักตัวกันมาหลายเดือน

นครวาติกันปลดล็อกเช่นเดียวกัน โดยประกาศว่า พระสันตะปาปาฟรานซิส จะเสด็จออก ณ พระบัญชรเพื่อมีพระราชดำรัสประสาทพรในวันอาทิตย์ (29 พ.ค.)

ส่วนรัสเซียเผยว่า ผ่านช่วงเลวร้ายที่สุดของการระบาดแล้ว และให้คำมั่นว่า จะจัดพิธีฉลองชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเดือนหน้า หลังจากจำเป็นต้องเลื่อนก่อนหน้านี้

ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปยังกำลังพยายามเปิดพรมแดนอีกครั้งอย่างระมัดระวัง เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ยังกังวลกับการระบาดรอบสอง ซึ่งเป็นเหตุผลที่กิจกรรมบางอย่างยังต้องระงับต่อไป เช่น การร้องเพลงประสานเสียงที่เคยทำให้เกิดการติดเชื้อในหมู่นักร้องในหลายประเทศ

นอกจากนั้น ขณะที่หลายประเทศในยุโรปตะวันตกค่อยๆ กลับสู่สถานการณ์ปกติ ไวรัสโคโรนากลับยังคงระบาดอย่างหนักในละตินอเมริกา และมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งทะยานแซงยุโรปและอเมริกา

คาริสซา เอเตียนน์ ผู้อำนวยการองค์การสุขภาพภาคพื้นอเมริกาที่มีฐานอยู่ในวอชิงตัน แสดงความกังวลอย่างมากกับจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่มีการรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในบราซิล ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 7 วันนับจากเริ่มต้นการระบาด

เอเตียนน์เสริมว่า ทั้งเปรูและชิลีพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น บ่งชี้ว่า สถานการณ์การระบาดของประเทศเหล่านี้จะยังรุนแรงต่อไป

บราซิลรายงานยอดผู้เสียชีวิตรายวันสูงสุดในโลกติดต่อกันเป็นวันที่ 5 รวมเป็น 24,812 คน และจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นกว่า 390,000 คน สูงสุดอันดับ 2 รองจากอเมริกา

ไวรัสโคโรนายังจุดชนวนวิกฤตการเมืองในบราซิล ที่ประธานาธิบดี จาอีร์ โบลโซนาโร ดูเบากับภัยคุกคามจากโควิด-19 และโจมตีผู้ว่าการรัฐที่ขอให้ประชาชนงดออกจากบ้าน

เมื่อวันอังคาร (26 พ.ค.) ตำรวจบุกที่พักของ วิลสัน วิตเซล ผู้ว่าการรัฐริโอ เดอ จาเนโร หนึ่งในแกนนำที่วิจารณ์มาตรการรับมือโรคระบาดของโบลโซนาโร โดยกล่าวหาว่า วิตเซลยักยอกกองทุนรัฐที่จัดสรรไว้ต่อสู้กับไวรัส

ด้าน วิตเซล ตอบโต้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง และเตือนผู้ว่าการรัฐคนอื่นๆ ที่ถูกมองว่า เป็นศัตรูกับประธานาธิบดี ว่า จะต้องเจอเหตุการณ์เดียวกับตน

ที่อเมริกา ซึ่งยังคงเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดด้วยยอดผู้เสียชีวิตใกล้ 100,000 คน ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องเผชิญกระแสวิจารณ์เกี่ยวกับการจัดการวิกฤต และการไม่ยอมสวมหน้ากากในที่สาธารณะ แม้ได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในคณะบริหารก็ตาม

ผู้นำที่กำลังดิ้นรนเพื่อให้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งอีกสมัยปลายปีนี้ ถูกถล่มอีกรอบจากการรีทวิตวิจารณ์ โจ ไบเดน ที่ปฏิบัติตามกฎในการสวมหน้ากากระหว่างพิธีรำลึกทหารอเมริกันที่เสียชีวิตในสงคราม และถูกว่าที่คู่แข่งจากพรรคเดโมแครตผู้นี้สวนกลับว่า ทรัมป์เป็นคนโง่ขนานแท้