‘พลังงาน’ เร่งปรับโครงสร้าง ราคาก๊าซฯใหม่ หลังกกพ.ออกใบอนุญาต ผู้ค้า’แอลเอ็นจี’ แล้ว 5 ราย
by SARANYA THONGTHABบอร์ดกกพ.มีมติ “บี.กริม.” เป็นผู้ค้าแอลเอ็นจี รายที่ 5 ด้านกระทรวงพลังงาน เร่งปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯใหม่ หลังแอลเอ็นจีตลาดจรราคาร่วง ส่งผลมีผู้นำเข้าเพิ่ม คาดช่วยลดค่าไฟ
หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) วันนี้ (27 พ.ค.) เห็นชอบให้ บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหา และค้าส่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นอีก 1 ราย เป็นรายที่ 5 ต่อจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด
ผู้นำเข้าที่เพิ่มขึ้น เกิดจากอานิสงค์ของราคาแอลเอ็นจีตลาดโลก ในปัจจุบันที่ราคาต่ำลง กระทรวงพลังงานสบช่อง เร่งมือปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯครั้งใหญ่ โดยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กำลังเตรียมการปรับโครงสรัางราคาก๊าซฯ โดยตอนนี้มีราคาก๊าซฯรวม หรือ Pool Price ของปตท. และ Market Price ของกฟผ.ซึ่งนำเข้าแอลเอ็นจี จากตลาดจร (Spot) มาแล้ว 2 ล็อต หากอนาคตมีผู้นำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้น สัดส่วนของ Market Price ที่จะเข้ามาในโครงสร้างราคา ก็จะมีน้ำหนักมากขึ้น ทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงได้
ขณะนี้กำลังประสานกับกกพ. เพื่อดูถึงช่วงเวลาเหมาะสมในการนำเข้า และการปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯที่จะมีแอลเอ็นจีเข้ามา หลังแล้วเสร็จจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) หากอนาคตราคาแอลเอ็นจีตลาดจร (Spot) มีราคาสูงขึ้น เราก็จะกลับมาให้น้ำหนัก กับการจัดซื้อตามสัญญาระยะยาว
สำหรับแผนการนำเข้าแอลเอ็นจีตลาดจร ของกฟผ.ได้เสนอมาแล้ว เป็นการนำเข้าในช่วง 3 ปี ระหว่าง 2563-2565 ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกฟผ.เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเป็นปริมาณที่เกินจากสัญญาหลัก (Global DCQ) ที่กฟผ.ซื้อจากปตท. เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าพระนครใต้ โดยจะนำเสนอต่อกพช.ต่อไป
ด้านนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานกกพ. ระบุว่า ใบอนุญาตที่กกพ.ให้ไปกับผู้ค้ารวม 5 รายนั้นเหมือนเป็นใบขับขี่เท่านั้น เพื่อนำไปประสานงานติดต่อ คลังเก็บก๊าซธรรมชาติ (LNG Receiving Terminal) และจองใช้ท่อส่งก๊าซฯต่อไป
ทั้งนี้กกพ. ได้ออกประกาศข้อบังคับเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซฯ และสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่สาม ตั้งแต่ปี 2557 และกำกับผู้ได้รับใบอนุญาตให้พัฒนากฎกติกาเกี่ยวกับ Third Party Access (TPA Codes) ทั้งระบบท่อส่งก๊าซฯ และคลังเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซฯมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้มีการพัฒนาและปรับปรุงให้เหมาะสมกับประเทศไทย
“ช่วงนั้นยังไม่มีผู้สนใจมาใช้งานเนื่องจาก แอลเอ็นจี ในตลาดโลกมีราคาสูงกว่าก๊าซฯในอ่าวไทย แต่ขณะนี้ราคาแอลเอ็นจีลดต่ำลง จึงมีผู้สนใจนำเข้ามากขึ้น “
โดยมี กฟผ. เป็นหน่วยงานในทดลองนำเข้าแอลเอ็นจี จำนวน 2 ลำเรือในเดือนธันวาคม 2562 และเดือนเมษายน 2563 ตามลำดับ เพื่อทำการทดสอบระบบบริหารจัดการระบบท่อก๊าซฯ และคลังเก็บก๊าซฯ เช่น ทดสอบการประสานงานในการเรียกใช้ก๊าซ และการสั่งจ่ายไฟฟ้า ทดสอบการบริหารจัดการด้านคุณภาพบริการ ซึ่งผลทดสอบอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้
ทั้งนี้ขอให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทุกราย ศึกษาโครงสร้างกิจการก๊าซฯ โครงสร้างราคา และกฎกติกาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ TPA Codes ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อประโยชน์ในการนำเข้าแอลเอ็นจี ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และในจังหวะที่เหมาะสม
ส่วนกรณีมีปัญหาจากการปฏิบัติ หรือมีข้อโต้แย้งระหว่าง ผู้ได้รับใบอนุญาตในระยะเริ่มต้น กกพ. ได้เตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางแห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 แล้ว
- กกพ.เตรียมไฟเขียว ‘บี.กริม.’ ได้ใบอนุญาตดำเนินการ แอลเอ็นจี เป็นรายที่ 5 รับเปิดเสรีก๊าซฯ
- พร้อม! ปี 63 ไทยประกาศเป็น ‘ศูนย์กลางแอลเอ็นจีของภูมิภาค’
- กกพ.วางเกณฑ์ค้าแอลเอ็นจี รับเปิดเสรี