https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20200527/news_nSxBjMmOUS171023_533.jpg?v=20200527179

เผยผลสำรวจคนไทยกลัวโควิด สูบบุหรี่ลดลง30%

 ศจย.เผยผลสำรวจ คนไทยกลัวโควิด สูบบุหรี่ลดลง 30 % แนะรัฐฉวยโอกาส รณรงค์คนไทย ลด ละ เลิกบุหรี่ สร้างวิถีแห่งสุขภาวะ

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พ.ค. ที่จะถึงนี้ ทางศจย.ได้สำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนไทย ผ่านระบบออนไลน์ 800 ตัวอย่างและร่วมกับสวนดุสิตโพลสำรวจในกลุ่มแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ 1,105 ตัวอย่าง ในเดือนมี.ค.-เม.ย.ที่มีการล็อคดาวน์ และเคอร์ฟิว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 พบว่าทั้ง 2 กลุ่มมีการสูบบุหรี่ลดลงเกือบ 30% เป็นผลมาจากการกลัวกระทบกับสุขภาพ 38.4% ต้องการประหยัด 37.2% มี 24.4% ที่ต้องการเลิก

ส่วนมาตรการล็อคดาวน์ และเคอร์ฟิว มีผลต่อพฤติกรรมการซื้อบุหรี่น้อยลง 30% สอดคล้องกับข้อมูลจากร้านสะดวกซื้อที่พบว่ายอดจำหน่ายบุหรี่ในเดือนม.ค.-ก.พ.เทียบกับมี.ค.-เม.ย.63 ที่มีมาตรการล็อค ดาวน์ และเคอร์ฟิว ทำให้ยอดจำหน่ายลดลง 25% อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจยังพบคนสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น 18.1% โดย ระบุว่าสูบเพราะเครียด 18.3 % สูบเพราะไม่มีอะไรทำ 14.8% ขณะที่มาตรการล็อคดาวน์ และเคอร์ฟิวทำให้คนไทยซื้อบุหรี่ตุนมากขึ้น 12.7% ส่วนใหญ่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อ

https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20200527/news_waRhbuNRAJ171023_533.jpg?v=20200527179?v=5330

นพ.รณชัย กล่าวว่า จากผลสำรวจจะเห็นว่าในวิกฤตโรคระบาดมีทั้งคนที่สูบหรี่ลดลง และเพิ่มขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้าไปศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพื่อหาแนวทางการรณรงค์ให้คนไทยดูแลสุขภาพ และลดปริมาณการสูบลงในอนาคต  โดยเฉพาะในกลุ่มของการสูบลดลงเพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจ และกลัวกระทบกับสุขภาพ แสดงให้เห็นว่าบุหรี่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นในชีวิต และควรสร้างวิถีปกติใหม่ เป็นวิถีแห่งสุขภาวะ รวมถึงการสื่อสารข้อมูลสูบบุหรี่เสี่ยงป่วยโควิด-19 มากขึ้น

ส่วนกลุ่มที่สูบมากขึ้นเพราะเครียดนั้น หน่วยงานด้านสาธารณสุขควรให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพจิตด้วย ซึ่งศจย.จะนำข้อมูลที่ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสุขภาพเสนอต่อรัฐบาลต่อไป อย่างไรก็ขอเชิญชวนคนที่สูบหรือ และผู้ที่ต้องการให้คนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเลิกยาสูบเข้าร่วม ‘โครงการเลิกสูบ ลดเชื้อ เพื่อตัวคุณ และคนที่คุณรัก’ ได้ที่ https://forms.gle/jeMPFVJs7QvWusHy9 หรือโทรสายเลิกบุหรี่ 1600 ได้ฟรี.