‘ปิยสวัสดิ์’ นำทีม 3 ยอดขุนพล พิสูจน์ฝีมือภารกิจกอบกู้ ‘การบินไทย’
by The Bangkok Insight Editorial Teamวันนี้ (27 พ.ค.) ศาลล้มละลายกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) … เริ่มนับหนึ่งภารกิจกอบกู้สายการบินแห่งชาติ
สิ่งที่สังคมจับตามองเป็นอันดับแรก คือ รายชื่อผู้ได้รับมอบหมายให้เข้ามาปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้
เนื่องจากการบินไทยมักถูกข้อครหาเรื่องการแทรกแซงทางการเมือง ผู้อยู่ในตำแหน่งใหญ่โตไร้ความสามารถ แต่ได้เก้าอี้มาเพราะเส้นสาย คณะกรรมการ (บอร์ด) ส่วนใหญ่มาจากข้าราชการหรือทหาร ไม่ใช่ผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านธุรกิจหรือด้านการบิน เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้สายการบินแห่งนี้หมดความสามารถในการแข่งขันและเข้าสู่จุดวิฤติทางการเงิน
ในช่วงที่ผ่านมา จึงมีการเก็งรายชื่อผู้ที่จะเข้ามาบริหารการบินไทยในช่วงวิกฤติ ขณะเดียวกันก็ปรากฎข่าวการวัดพลังระหว่าง “ทีมกระทรวงการคลัง” และ “ทีมกระทรวงคมนาคม” ในการเสนอรายชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟูให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีตัดสินใจ
ในที่สุดวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ก็มีการแต่งตั้งบอร์ดการบินไทยใหม่จำนวน 4 คน ได้แก่ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” – “บุญทักษ์ หวังเจริญ” – “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” – “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์”
ข่าวว่านายกฯ เป็นผู้คัดลือกทั้ง 4 รายชื่อด้วยตัวเอง โดยไม่ได้เป็นรายชื่อที่ถูกเสนอจากกระทรวงการคลังหรือกระทรวงคมนาคม เนื่องจากต้องการให้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหา
สำหรับ 4 รายชื่อดังกล่าวก็มีดีกรีไม่ธรรมดาและได้รับการยอมรับเรื่องความรู้ความสามารถจากสังคมเป็นวงกว้าง ในจำนวนนี้มี 3 คนที่ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษานายรัฐมนตรีและมี 3 คนเคยนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีมาแล้ว
- บุญทักษ์ หวังเจริญ นายธนาคารมากฝีมือ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
- พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค มือกฎหมาย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
- ไพรินทร์ ชูโชติถาวร มือบริหาร อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
- ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) การบินไทยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
การแต่งตั้งบอร์ดใหม่ทั้ง 4 คน โดยเฉพาะ “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” จึงเป็นการเรียกขวัญกำลังใจและแรงศรัทธาให้กลับมายังการบินไทย เพราะสมัย “ปิยสวัสดิ์” นั่งเก้าอี้ DD ระหว่างปี 2552-2554 ได้ฝากผลงานพลิกฟื้นองค์กรแห่งนี้ให้กลับมารุ่งเรืองได้อีกครั้ง จากผลประกอบการขาดทุนใหญ่ เป็นมีกำไร 7,343 ล้านบาทในปี 2552 และกำไร 15,349 ล้านบาทในปี 2553
ในการยื่นขอฟื้นฟูกิจการการบินไทยในครั้งนี้ ยังได้ปรากฎรายชื่อทั้ง 4 คน “พีระพันธุ์-บุญทักษ์-ไพรินทร์-ปิยสวัสดิ์” เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู ร่วมกับ “พล.อ.อ. ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน” ประธานบอร์ดและ “จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล” รองประธานกรรมการและรักษาการดีดีด้วย
แต่ยังไม่ทันได้เริ่มงาน วันนี้ (27 พ.ค.) “ไพรินทร์” ก็ต้องลาออกจากบอร์ดการบินไทยและรายชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟู เนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว ขัดกับกฎข้อบังคับของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่กำหนดว่า ห้ามดำรงตำแหน่งใดๆ 2 ปี หลังจากพ้นจากรัฐมนตรี ส่งผลให้ยอดขุนพลลดพลังเหลือเพียง 3 คนเท่านั้น
นอกจากนี้ นายกฯ ได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)” จำนวน 9 คนมี “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา
สำหรับรายชื่อกรรมการอีก 8 คน ประกอบด้วย “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, “ประสงค์ พูนธเนศ” ปลัดกระทรวงการคลัง, “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” ปลัดกระทรวงคมนาคม, “ชยธรรมม์ พรหมศร” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร,
“วิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ” ปลัดกระทรวงยุติธรรม, “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, “รื่นฤดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ “ประภาศ คงเอียด” ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นทั้งกรรมการและเลขานุการ
ช่วงแรกมีผู้ขนานนามคณะกรรมการชุด “รองฯ วิษณุ” ว่าเป็น “ซุปเปอร์บอร์ดการบินไทย” แต่ภายหลังก็มีคำอธิบายว่าเป็นเพียง “มินิบอร์ด” เท่านั้น เพราะหน้าที่หลักของคณะกรรมการฯ ชุดนี้ คือเป็นตัวกลางประสานระหว่างรัฐบาลและการบินไทย เนื่องจากการบินไทยได้เปลี่ยนฐานะจากรัฐวิสาหกิจไปเป็นเอกชนแล้ว ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจใดๆ
ภารกิจฟื้นฟูการบินไทยครั้งนี้ จึงไม่พ้นต้องฝากความหวังไว้กับ 3 ยอดขุนพล ส่วนจะพลิกวิกฤติได้สำเร็จหรือไม่ ยังต้องติดตามกันต่อไป … แต่แน่นอนว่าทั้ง 3 คนได้วางชื่อเสียงที่สะสมไว้เป็นเดิมพัน