นักลงทุนหลงผิดหุ้น THAI
by สุนันท์ ศรีจันทราการตกลงซื้อขายหุ้นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ระหว่างกองทุนวายุภักษ์กับกระทรวงการคลังเสร็จสิ้นไปแล้ว โดยสังคมไม่ได้ตั้งคำถามใดๆถึงธุรกรรมครั้งนี้ เพราะเห็นว่าเป็นรายการอัฐยายซื้อขนมยาย เพื่อเปลี่ยนถ่ายทรัพย์สินของกระทรวงการคลังเท่านั้น
แต่ราคาหุ้นที่ตกลงซื้อขายกัน ซึ่งยังไม่มีใครออกมาอธิบายถึงความสมเหตุสมผล ได้กลายเป็นสิ่งที่นักลงทุนนำไปอ้างอิงซื้อขายเก็งกำไรหุ้น THAI ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จนอาจเกิดความเสียหายตามมาได้
กระทรวงการคลังได้ตัดแบ่งหุ้นในสัดส่วน 3.17% ของทุนจดทะเบียน ขายให้กองทุนวายุภักษ์ในราคาหุ้นละ 4.03 บาท ทำให้เหลือสัดส่วนการถือหุ้น 47.86% ของทุนจดทะเบียน
การที่กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นต่ำกว่า 50% ของทุนจดทะเบียน ทำให้ “การบินไทย” พ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ
ราคาหุ้นที่ซื้อขาย 4.03 บาท ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนวายุภักษ์ โดยอ้างว่า เป็นราคาที่เหมาะสม เพราะมีส่วนลด 20% โดยนำเอาราคาซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นฐานในการคำนวณ ทั้งที่ทุกคนรู้ว่า ราคาหุ้น THAI นับแต่มีข่าวฟื้นฟูฯ เคลื่อนไหวอย่างไม่ปกติ และเกิดการเก็งกำไรสูง
นอกเหนือจากวายุภักษ์แล้ว คงไม่มีกองทุนใดเสนอตัวซื้อหุ้น THAI ในราคา 4.03 บาท เพราะบริษัทอยู่ระหว่างขั้นตอนฟื้นฟูกิจการ และไม่มีใครรู้ฐานะของบริษัทที่แท้จริง โดยงบการเงินไตรมาสแรกปี 2563 ยังไม่นำส่งตลาดหลักทรัพย์ฯ และขอเลื่อนส่งงบฯ เป็นภายใน 14 สิงหาคมนี้ จากเดิมต้องส่งภายในวันที่ 15 พฤษภาคม
ฝ่ายวิจัยของบริษัทโบรกเกอร์ ไม่มีสำนักใด ประเมินราคาที่เหมาะสมหุ้น THAI มีแต่แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุน เพราะแผนการฟื้นฟูฯ ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ฐานะทางการเงินล่าสุดของบริษัทเป็นอย่างไรไม่มีใครรับรู้ และหลังฟื้นฟูฯ แล้ว จะกลับมาเป็นสายการบินที่สร้างผลกำไรได้หรือไม่ ยังเป็นคำถามอยู่
หุ้นที่กองทุนวายุภักษ์ซื้อจากกระทรวงการคลัง จึงหาคำอธิบายถึงการคำนวณราคาที่เหมาะสมไม่ได้ แต่ราคา 4.03 บาทได้กลายเป็นฐานอ้างอิงการซื้อขายหุ้น THAIในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปแล้ว
กองทุนวายุภักษ์จัดตั้งเมื่อปี 2546 เพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ของสถาบันการเงิน รัฐวิสาหกิจและธุรกิจที่กระทรวงการคลังถืออยู่ โดยจ่ายผลตอบแทนการลงทุนไม่ต่ำกว่า 3% ต่อปี มีนักลงทุนซื้อหน่วยลงทุนกว่า 3 หมื่นราย และเมื่อครบอายุ 10 ปีในปี 2556 กระทรวงการคลังได้รับซื้อคืนหน่วยลงทุนทั้งหมด ปัจจุบันถือหน่วยลงทุนแทบ100% เต็ม
ไม่มีรายละเอียดโครงสร้างผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุนวายุภักษ์ คณะกรรมการกองทุนเป็นใครกันบ้าง สาธารณชนทั่วไปไม่ได้รับรู้ แต่บริหารจัดการโดยบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ซึ่งแต่เดิมวายุภักษ์ถือหุ้น THAI ในสัดส่วน 15.12% ของทุนจดทะเบียน
การนำเงินกองทุนวายุภักษ์ซื้อหุ้น THAI เพิ่มเติมในราคา 4.03 บาท ถ้าเกิดความเสียหาย เช่นราคาหุ้น THAI ตกลงเหลือ 1 บาท หรือฟื้นฟูฯ ไม่ได้ เกิดการล้มละลาย จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานวายุภักษ์โดยตรง ซึ่งผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถฟ้องร้องคณะกรรมการกองทุนวายุภักษ์ได้ ฐานสร้างความเสียหายให้ผู้ถือหน่วยลงทุน
แต่ถึงไม่มีผู้ถือหน่วยลงทุนรายอื่น ถ้ารัฐบาลชุดใหม่เข้ามา และเป็นขั้วการเมืองตรงข้ามกับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็สามารถรื้อฟื้นใบสั่งหรือคำสั่งซื้อขายหุ้นระหว่าง THAI ระหว่างกองทุนวายุภักษ์กับกระทรวงการคลังได้เหมือนกัน
บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กำลังถูกตั้งคำถามถึงความเป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการกองทุนวายุภักษ์ เพราะผู้จัดการกองทุน จะต้องมีอิสระในการบริหารจัดการ และปราศจากการแทรกแซงใดๆ
แต่การซื้อหุ้น THAI จากกระทรวงการคลังครั้งนี้ ไม่น่าจะเป็นการตัดสินใจของผู้จัดการกองทุนโดยอิสระ
หุ้น THAI ยังซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามปกติ แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะไม่ปกติคือ ราคาหุ้นที่เคลื่อนไหวขึ้นลงอย่างหวือหวา ล่าสุดถูกจุดพลุเก็งกำไรอีกครั้ง หลังกองทุนวายุภักษ์กับกระทรวงการคลังทำรายการซื้อขายหุ้นกันเสร็จสิ้น
ราคาหุ้นที่ 4.03 บาท กลายเป็นปัจจัยกระตุ้นการเก็งกำไรรอบใหม่ ทั้งที่ยังไม่มีคำอธิบายว่า กระทรวงการคลังใช้สูตรอะไรคำนวณราคาหุ้นที่ขายให้กองทุนวายุภักษ์ และไม่เคยมีใครออกมาชี้แจงว่า ราคาหุ้นที่ซื้อขายมีความสมเหตุสมผลเพียงใด
ประมาณ 2 เดือนแล้วที่หุ้น THAI ตกอยู่ในภาวะเก็งกำไรกันฝุ่นตลบ มีนักลงทุนบาดเจ็บล้มตายจำนวนไม่น้อย และการเก็งกำไรน่าจะปิดรอบลงแล้ว แต่มักมีข่าวเข้ามากระตุ้นราคาอย่างต่อเนื่อง
และการซื้อขายหุ้นระหว่างกระทรวงการคลังกับกองทุนวายุภักษ์ ได้ปลุกให้นักลงทุนแห่เก็งกำไรหุ้น THAI อีกรอบ โดยอิงราคา 4.03 บาทเป็นฐาน
แต่กระทรวงการคลังกับกองทุนวายุภักษ์ กำลังชี้นำให้เกิดการหลงผิดกับราคาหุ้นการบินไทยหรือไม่ และถ้าเกิดบาดเจ็บล้มตายจากการเก็งกำไร จะมีใครรับผิดชอบกับนักลงทุนในตลาดหุ้นหรือไม่