จีนเปิดฉาก ‘ลงโทษ’ ออสซี่...

by
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005687801.JPEG
มาริส เพย์น รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลีย

หลังจากออสเตรเลียทำตัวเป็นเหมือน “ผู้ช่วยนายอำเภออเมริกัน” ออกหน้าเป็นปากเสียงจะเช็กบิลประเทศจีนกรณีการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ก็โดนตอบโต้ทันควันโดยปักกิ่ง ซึ่งมองว่าออสเตรเลียเล่นเกินบทห้าวไม่ดูตัวเองว่าอยู่ในระดับใด

รัฐมนตรีต่างประเทศ มาริส เพย์น พูดสนับสนุนการสอบสวนในระดับนานาชาติ ช่วงการออกโทรทัศน์เช้าวันอาทิตย์ในปลายเดือนเมษายน ซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่าจีนเป็นเป้าหมาย และถูกกล่าวหาโดยผู้นำทำเนียบขาว โดนัลด์ ทรัมป์ มาโดยตลอด

ไม่กี่วันหลังจากนั้น ทูตจีนประจำออสเตรเลีย เฉิง จิ่งเย่ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ออสเตรเลียน ไฟแนนเชียล รีวิว แนะว่าคนจีนอาจพิจารณาตอบโต้ออสเตรเลียด้วยการคว่ำบาตรสินค้าออสเตรเลีย

“ถึงเวลาที่คนจีนอาจถามตัวเองว่าทำไมต้องดื่มไวน์ออสเตรเลีย กินเนื้อวัวจากออสเตรเลีย” นายเฉิง กล่าว

หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน การรณรงค์โดยจีนเพื่อลงโทษออสเตรเลียก็ได้เริ่มเต็มที่

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า วันที่ 12 พฤษภาคม จีนเลิกซื้อเนื้อวัวจาก 4 โรงฆ่าสัตว์ในออสเตรเลีย โดยอ้างว่าเป็นประเด็นเรื่องสุขภาพ หลังจากนั้นอีก 5 วัน รัฐบาลจีนประกาศขึ้นภาษีนำเข้าข้าวบาร์เลย์ของออสเตรเลียกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

อ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการตรวจสอบการทุ่มตลาด แค่นี้ออสเตรเลียก็หาตลาดใหม่ได้ยาก เพราะการค้าโดยรวม จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย

ยอดรวมของการค้าขายระหว่าง 2 ประเทศมีมูลค่า 214 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2018 ความสัมพันธ์ด้านการค้ากับจีนเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ออสเตรเลียเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย

เมื่อเกิดการปะทะคารมกันในระดับกระทรวง สื่อจีนก็ยกระดับการนำเสนอปัญหาระหว่าง 2 ประเทศ และความร้าวฉานก็ยิ่งขยายกว้างขึ้น และยิ่งไม่มีการเจรจาหาทางออกสมานฉันท์ร่วมกัน จะเป็นการยากที่จะทำให้ 2 ประเทศมีความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน

ผู้เชี่ยวชาญสถานการณ์ระหว่างประเทศมองว่าออสเตรเลียอาจเป็นกรณีตัวอย่างว่าการดำรงตัวเป็นอิสระภายในระบอบประชาธิปไตยจะอยู่รอดได้หรือไม่ ถ้าต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทางการค้ากับประเทศจีน ซึ่งถูกมองว่ามีรัฐบาลในระบอบคอมมิวนิสต์

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ออสเตรเลียต้องดำเนินนโยบายด้วยความระมัดระวัง เพราะความสัมพันธ์กับจีนได้นำความมั่งคั่งสู่ออสเตรเลีย ด้านการค้า เป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับสินค้าออสเตรเลีย กระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราน่าพอใจ

นักศึกษาจีนหลายแสนคนเสียค่าหน่วยกิต ค่าใช้จ่ายแต่ละปีหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ การปิดการเดินทางระหว่างประเทศทำให้นักศึกษาจีนกลับไปเรียนต่อไม่ได้ ทำให้มหาวิทยาลัยในออสเตรเลียขาดรายได้มหาศาลถึงขั้นอาจมีวิกฤตการเงิน

ขณะเดียวกัน ออสเตรเลียต้องพึ่งพาสหรัฐฯ ในด้านความมั่นคง และเป็นประเทศ “หนึ่งใน 5 ตา” ที่พูดภาษาอังกฤษ แลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล ข่าวกรองด้านความมั่นคง ร่วมกับอีก 3 ประเทศคือแคนาดา อังกฤษ และนิวซีแลนด์ เพื่อนบ้านใกล้เคียง

ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือดำเนินนโยบายผิดพลาด ต้องจ่ายในราคาแพง ออสเตรเลียก็ต้องนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์ด้านเทคนิคจากจีน เช่นกัน

เช่นเดียวกัน จีนยังต้องพึ่งพาสินค้าสำคัญจำนวนมหาศาลจากออสเตรเลีย เช่นสินแร่เหล็ก ถ่านหิน ทองคำ และขนแกะ ป้อนอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งขยายตัวพร้อมกับเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะด้านงานก่อสร้างอาคารและเครือข่ายรางรถไฟฟ้า

ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศเริ่มมีปัญหาตั้งแต่ปี 2017 หลังจากรัฐบาลออสเตรเลียผ่านกฎหมายใหม่ด้านความมั่นคง มีบทบัญญัติครอบคลุมกว้างขวาง เพื่อ ป้องกันการแทรกแซงจากต่างประเทศ ซึ่งจีนมองว่าเป็นการออกกฎหมายเอาจีนเป็นเป้า

แม้รัฐบาลออสเตรเลียให้เหตุผลว่ากฎหมายนั้นเพื่อเป็นการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ จีนก็มองว่ามีผลมากกว่านั้น ทั้งสองประเทศเริ่มมีปัญหาความสัมพันธ์ และนั่นก็ทำให้รัฐมนตรีต่างประเทศ มาริส เพย์น เรียกร้องให้สอบสวนเรื่องโควิด-19

เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศเปิดเกม นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน ก็เป็นผู้นำประเทศแรกซึ่งเรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างเป็นทางการระดับนานาชาติ ถือว่าเป็นเสียงแรกนอกประเทศสหรัฐฯ ซึ่งทรัมป์ได้กล่าวหาทั้งจีนและองค์การอนามัยโลก

นายมอร์ริสัน อ้างในการแถลงข่าววันที่ 29 เมษายน ว่ามีเหตุผลเพียงพอที่โลกควรจำมีการสอบสวนโดยหน่วยงานอิสระให้เห็นต้นตอและปัญหาของการระบาด โดยที่รู้ว่าทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างกล่าวหากันในสงครามน้ำลายที่ยืดเยื้อและส่อแววขยายตัวต่อไป

สถานการณ์ระหว่างจีนและออสเตรเลียเลวร้ายกว่าเดิม เมื่อรัฐบาลออสเตรเลียเรียกทูตจีนเข้าไป และกล่าวหาจีนว่ากำลังใช้มาตรการทางเศรษฐกิจบีบคั้น เมื่อตัวทูตได้พูดเชิงชี้นำให้คนจีนเลิกการบริโภคไวน์และเนื้อวัวจากออสเตรเลีย เป็นการตอบโต้

วันที่ 28 เมษายน ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศแถลงข่าว ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ออสเตรเลีย บอกว่า “ยังไม่เคยได้ยินคำพูดที่รุนแรงดังที่ทูตเฉิง กล่าวมาก่อนหน้านี้เลย” ก็โดนโฆษกกระทรวงฯ นายเกิ้ง ส่วง สวนกลับ “อยากจะฟังตอนนี้มั้ยละ”

เมื่อโดนจีนใช้มาตรการตอบโต้ รัฐมนตรีการค้าออสเตรเลีย นายไซมอน เบอร์มิงแฮม แถลงว่ารัฐบาลจะไม่เปลี่ยนแนวนโยบายและท่าทีแม้จะมีเสียงขู่จากจีน ความพยายามจะติดต่อพูดคุยกับฝ่ายจีนไม่ได้รับการตอบสนอง และจีนอ้างว่าไม่เกี่ยวกัน

โดยทั่วไป นักสังเกตการณ์เชื่อว่าออสเตรเลียจะเป็นกรณีตัวอย่างให้ชาติอื่นได้เห็นว่าการทำตัวเป็นปฏิปักป์กับจีนนั้นจะได้ผลอย่างไร และอาจมีผลเสียเพราะหลายชาติเริ่มต้องระวังเช่นกันว่าการจะดำรงความสัมพันธ์กับจีนนั้น จะมีทั้งผลดีและผลเสียอย่างไร