ลุ้น! ตัวเลขความสูง “ยอดเขาเอเวอเรสต์” ครั้งใหม่ หลังทีมสำรวจจีนปักหมุดสำรวจยอดเขาแล้ว
by ผู้จัดการออนไลน์ทีมนักสำรวจจีนพิชิต “ยอดเขาเอเวอเรสต์” ก่อนลงมือปักหมุดสำรวจความสูงของยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกครั้งใหม่ที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะ ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 27 พ.ค. 63
สำนักข่าวซินหัว สื่อทางการของประเทศจีนรายงานถึงภารกิจในการสำรวจความสูงของ “ยอดเขาเอเวอเรสต์” ครั้งใหม่ว่า ทีมนักสำรวจจีนจำนวน 8 คน หลังจากเดินทางถึงจุดสูงสุดของยอดเขาเอเวอเรสต์ เมื่อช่วงเช้าของวันพุธ ที่ 27 พ.ค. 63 ก็ได้เริ่มทำการปักหมุดสำรวจความสูงของยอดเขาที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะ ซึ่งมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ตารางเมตร
โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ทีมสำรวจชาวจีนได้พักแรมท่ามกลางน้ำแข็งบนภูเขา ณ “ค่ายปีศาจ” บนระดับความสูงจากน้ำทะเลถึง 6,500 เมตร ซึ่งเป็นค่ายสุดท้ายที่อยู่ก่อนแนวหิมะและถนนที่เย็นเยียบไปด้วยน้ำแข็งและหิมะ อีกทั้งยังมีอ็อกซิเจนเบาบางมาก
หลังจากนั้นทีมสำรวจได้ออกเดินทางจากแคมป์สุดท้าย ณ ความสูง 8,300 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มุ่งสู่จุดสูงสุดของยอดเขาเอเวอเรสต์ เมื่อเวลาประมาณ 02.10 น. ของวันพุธ ที่ 27 พ.ค. และยังยอดสูงสุดในช่วงเช้าของวันดังกล่าว โดยหลังจากนั้นทางทีมสำรวจได้เริ่มลงมือปักหมุดสำรวจเพื่อวัดระดับความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น
สำหรับการพิชิตยอดเขาโชโมลังมาครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของคณะทำงานจีน ซึ่งจะวัดความสูงของยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกอีกครั้ง โดยคณะนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการสำรวจจะทำให้มนุษย์เข้าใจธรรมชาติมากขึ้นและช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์
ยอดเขาเอเวอเรสต์ เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในเทือกเขาหิมาลัย และเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก มีความสูงราว 8,848 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งเกิดจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียนและแผ่นเปลือกโลกอินเดีย ยอดเขาแห่งนี้เป็นยอดเขาใหม่ที่เกิดขึ้นเพียงไม่กี่แสนปี จึงยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ ปีละไม่กี่เซนติเมตร เนื่องจากการที่แผ่นเปลือกโลกยังคงชนกันอยู่
ยอดเขาเอเวอเรสต์ถือเป็นจุดแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศเนปาลและทิเบต โดยชาวทิเบตเรียกยอดเขาแห่งนี้ว่า “ยอดเขาโชโมลังมา” (Mount Qomolangma)หรือ “จูมู่หลั่งหม่า” (珠穆朗玛) ซึ่งมีความหมายว่า มารดาแห่งสวรรค์ ส่วนชาวเนปาลเรียกยอดเขานี้ว่า “สครมาตา” มีความหมายว่า มารดาแห่งท้องสมุทร
ในอดีตนักสำรวจเรียกยอดเขาแห่งนี้ง่ายๆ ว่า ยอดที่สิบห้า (Peak XV) ส่วนชื่อ “เอเวอเรสต์” ที่เรียกขานกันไปทั่วโลกนั้นตั้งขึ้นภายหลังเพื่อเป็นเกียรติแก่เซอร์จอร์จ อีฟเรสต์ นักสำรวจประเทศอินเดีย
สำหรับความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์นั้น เมื่อ ค.ศ.1952 รัฐนาถ สิกทาร์ (Radhanath Sikdar) นักคณิตศาสตร์และนักสำรวจจากเบงกอล (Bengal) เป็นคนแรกที่ประกาศว่าเอเวอเรสต์คือยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก จากการคำนวณทางตรีโกณมิติ โดยอาศัยข้อมูลที่วัดด้วยกล้องส่องแนว (theodolite) ในที่ที่ไกลจากยอดเขาไป 150 ไมล์ ณ ประเทศอินเดีย
มาในช่วงทศวรรษ 1950 การวัดทำได้แม่นยำขึ้น และได้ความสูง 29,028 ฟุต หรือ 8,848 เมตร ซึ่งตัวเลขนี้ถือเป็นความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์ที่ใช้อ้างถึงโดยทั่วไป และได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลเนปาล อย่างไรก็ดี จากการติดตั้งเครื่องมือที่ยอดเขาของทีมสำรวจสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ.1999 และวัดความสูงด้วย GPS พบว่าความสูงที่แท้จริงของยอดเขาเอเวอเรสต์ในขณะนั้นคือ 29,035 ฟุต หรือ 8,850 เมตร
ส่วนใน ค.ศ.2005 ทางการจีนได้ส่งคณะเดินทางสำรวจเพื่อคำนวณความสูงของยอดเขา พบว่ายอดเขาเอเวอเรสต์มีความสูง 8,844.43 เมตร (29,017 ฟุต 2 นิ้ว) และอาจมีการคลาดเคลื่อนจากการวัดเล็กน้อย
และล่าสุดในปีนี้ ค.ศ.2020 หรือ พ.ศ.2563 คณะสำรวจชาวจีนก็ได้ออกเดินทางเพื่อไปวัดความสูงของยอดเขาโชโมลังมา หรือยอดเขาเอเวอเรสต์อีกครั้ง ซึ่งอีกไม่นานเราคงจะได้ทราบตัวเลขระดับความสูงครั้งใหม่ของยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกแห่งนี้กัน
************************************************หมายเหตุ : ภาพประกอบจากซินหัว