"ผู้ว่าธปท."ย้ำพ.ร.ก.แบงก์ชาติ9แสนล้านไม่ใช่เงินกู้
"วิรไท" ผู้ว่าแบงก์ชาติ ย้ำพ.ร.ก.ธปท. 9 แสนล้านบาท ไม่ใช่พ.ร.ก.กู้เงิน วอนอย่ากังวลไม่สร้างภาระให้คนไทยในอนาคต
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผ่านเฟซบุ้คส่วนตัวถึงกรณีพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท ว่า ได้ยินหลายท่านอภิปรายในสภาว่า รัฐบาลเสนอ พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ รวม 1.9 ล้านล้านบาท
ขอเรียนยืนยันอีกครั้งว่า พ.ร.ก.ที่ ธปท. เสนอ “ไม่” ควรเรียกว่าเป็น พ.ร.ก.กู้เงิน เพราะหัวใจของ พ.ร.ก.ทั้งสองฉบับคือการให้อำนาจ ธปท. เข้าไปบริหารจัดการสภาพคล่องได้ตรงจุด
เมื่อครบเวลาสองปี เงินที่ ธปท. ปล่อยซอฟต์โลน ผ่านสถาบันการเงินไปให้เอสเอ็มอี สถาบันการเงินก็ต้องเอากลับมาคืน ธปท.
ส่วนเงินที่ ธปท. จะลงทุน ผ่านกองทุนบีเอสเอฟ เป็นการให้บริดจ์ ไฟแนนซิ่งชั่วคราว เมื่อครบกำหนดก็เอาเงินกลับมาคืน ธปท. โดยธปท.ได้เน้นเรื่องคุณภาพของตราสารที่กองทุนบีเอสเอฟเข้าไปลงทุน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย
ทั้งกลไกของซอฟต์โลนและกองทุนบีเอสเอฟ ไม่ใช่การกู้เงิน 900,000 ล้านบาทมาใช้จ่าย หรืออีกนัยหนึ่ง ไม่ได้สร้างภาระการคลัง 900,000 ล้านบาท หรือไม่ได้สร้างภาระภาษี 900,000 ล้านบาทให้ลูกหลานเหมือนกับที่หลายท่านกังวล
ทั้งสองกลไกอาจจะสร้างภาระการคลังในอนาคตได้บ้าง ถ้าสินเชื่อซอฟต์โลนที่ปล่อยให้เอสเอ็มอีจำนวนมากเกิดกลายเป็นหนี้เสีย หรือตราสารหนี้ที่กองทุนบีเอสเอฟเข้าไปลงทุนไม่ได้รับชำระหนี้คืน ซึ่งตาม พ.ร.ก. แล้วรัฐบาลจะชดเชยความเสียหายให้เพียงบางส่วนเท่านั้น
ธปท. ตระหนักดีว่าทั้งสองกลไกที่ ธปท. เสนอไม่พึงสร้างภาระการคลังให้กับคนไทยในอนาคต จึงต้องมีเงื่อนไขด้านคุณภาพอย่างรัดกุมทั้งการปล่อยสินเชื่อผ่านซอฟต์โลนและการลงทุนผ่านกองทุนบีเอสเอฟ