https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20200527/news_ZuOLqrNDuT152551_533.jpg?v=20200528134

บอร์ดกสทช.ยังไม่เคาะเยียวยาคลื่น2600ให้อสมท

บอร์ดกสทช. โหวดไม่ลงตัว จึงไม่สามารถเคาะจ่ายเงินเยียวยาคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ให้อสมท ได้ ลุ้นพิจารณาเข้าบอร์ดอีกครั้งสัปดาห์หน้า 

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ดกสทชว่า ที่ประชุมยังไม่สามารถลงมติสรุปกรอบวงเงินเยียวยาการเรียกคืนคลื่นความถี่ ทดแทน ชดใช้ และจ่ายค่าตอบแทน ในย่านความถี่คลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ให้กับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้ เนื่องจากกรรมการที่ลงมติมีเพียง 2:2 

โดยพ.อ.นที สุกลรัตน์ รองประธานกสทช.ขอถอนตัวออกจากที่ประชุมเพราะไม่ต้องการลงมติเรื่องนี้ ต้องการให้ อสมท ทำหนังสือกลับมาใหม่ว่าต้องการให้ใครเป็นผู้แบ่งเงินและต้องการให้แบ่งในสัดส่วนเท่าไหร่ อย่างไร ขณะที่นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช.ไม่ขอลงมติเช่นกัน

ทั้งนี้ พล.อ.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. และร.ศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กสทช. โหวตเลือกแนวทางที่ 2 เห็นชอบอายุการถือครองคลื่นความถี่ 2600  เมกะเฮิรตซ์ ของบ อสมท ที่ระยะเวลา 6 ปี 5 เดือน ส่วน พล.ท. พีรพงษ์ มานะกิจ กสทช. และ ผ.ศ. ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กสทช. โหวตเลือก แนวทางที่ 3 เห็นชอบอายุการถือครองคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ของ อสมท ที่ระยะเวลา 8 ปี 6 เดือน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาประเด็นเรื่องการกำหนดสัดส่วนค่าตอบแทนผู้ถือครองคลื่นความถี่และผู้ได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500–2690 เมกะเฮิรตซ์ ของ อสมท โดยมีมติเป็น 2 : 2 เสียง โดยพล.ท. พีรพงษ์ กสทช. และ ผ.ศ. ธวัชชัย กสทช. โหวตเลือก แนวทางแรก ที่ กสทช. เป็นผู้กำหนดสัดส่วนค่าตอนแทนผู้ถือครองคลื่นความถี่และผู้ได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500 – 2690 เมกะเฮิรตซ์  ของ  อสมท เป็น 50 ต่อ 50

ส่วน พล.อ.อ. สุกิจ ประธาน กสทช. และร.ศ.ประเสริฐ กสทช. โหวตเลือกแนวทางที่ 2 เห็นควรให้ อสมท  เป็นผู้กำหนดสัดส่วนค่าตอบผู้ถือครองคลื่นความถี่และผู้ได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500–2690 เมกะเฮิรตซ์ ของ อสมท เอง

เมื่อออกมา 2 : 2 เสียงจึงไม่เข้าระเบียบกสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2556 ข้อ 41 (2) กรณีเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นอื่นนอกเหนือจากประเด็นใน (1) ต้องได้รับมติพิเศษ กล่าวคือได้รับความเห็นชอบจากกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด

โดยปัจจุบันมี กสทช. ปฏิบัติหน้าที่รวม 6 คน เสียงกึ่งต้องมีเสียงอย่างน้อย 3 คน ประธานจึงไม่สามารถออกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาดได้ จึงให้นำเรื่องส่งให้อนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายกสทช. พิจารณาต่อไป โดยจะผลักดันให้เข้าสู่การพิจารณาต่อที่ประชุมกสทช.ในสัปดาห์หน้า ซึ่งวันนี้การประชุมดุเดือดมาก ตนอยากให้จบโดยเร็วก่อนที่จะหมดวาระ อยากให้มีการประชุมกสทช.วาระพิเศษเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ให้เสร็จโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นอาจถือว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ต้องการให้ยื้อกันไปมา”