จีนชี้ข้อเท็จจริง โต้ “การศึกษาผลกระทบเขื่อนจีนต่อระดับแม่น้ำโขง” ของกลุ่มนอกภูมิภาค
by ผู้จัดการออนไลน์จีนโต้การศึกษา “การเปลี่ยนแปลงการไหลและระดับน้ำในแม่น้ำโขง” ของกลุ่มอิทธิพลนอกภูมิภาค ซึ่งมุ่งชี้ว่าการสร้างเขื่อนในจีนกระทบปลายน้ำ
สืบเนื่องจากการเปิดเวทีอภิปรายออนไลน์ (20 พ.ค.) เรื่องการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำไหลและผลกระทบจากเขื่อนที่มีต่อแม่น้ำโขงซึ่งถือเป็นแม่น้ำสายยาวเกือบ 5,000 กิโลเมตร ที่ไหลผ่านจีน(ซึ่งมีชื่อเรียกว่าแม่น้ำหลันชาง หรือล้านช้าง) เมียนมาร์ ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม โดยแหล่งข้อมูลหลักที่การอภิปรายฯนี้ใช้อ้างอิงคือ การศึกษาวิจัย Monitoring the Quantity of Water Flowing Through the Upper Mekong Through Natural (Unimpeded) Conditions ซึ่งจัดทำโดยบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านน้ำที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯคือ อายส์ ออน เอิร์ธ อิงค์ (Eyes on Earth)
ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมานี้ได้มีการเผยแพร่บทความเกี่ยวกับผลการศึกษาชุดดังกล่าวข้างต้นเขียนโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศสองคนคือ อลัน เบซิสต์ และโคลด วิลเลียมส์ เนื้อหาในบทความมุ่งชี้ว่าเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในจีนกักน้ำไว้ปริมาณมหาศาลในช่วงที่ประเทศลุ่มน้ำโขงประสบปัญหาภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรงเมื่อปีที่แล้ว โดยในช่วงครึ่งหลังของปี(2019) ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
สำหรับการอภิปรายฯออนไลน์ที่จัดเมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมาซึ่งเปิดให้สื่อมวลชนไทยเข้าร่วม จัดโดยสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมกับผู้จัดทำรายงานเกี่ยวกับแม่น้ำโขงเมื่อวันที่
ด้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนโต้แย้งว่าการศึกษาของอายส์ ออน เอิร์ธ คำนวณกระแสน้ำโดยวัดจากต้นน้ำที่เชียงแสน ซึ่งการคำนวณดังกล่าวไม่ได้สะท้อนปริมาณกระแสน้ำในฤดูแล้งอย่างแท้จริงในระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา
คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้บันทึกปริมาณกระแสน้ำจริงในเอกสาร “กระบวนการรักษากระแสน้ำในสายหลัก” (Maintenance of Flows on the Mainstream (PMFM) )ในฤดูแล้งปี 2019 และปี 2020 แสดงให้เห็นว่าในปี 2019 และปี 2020 ปริมาณน้ำไหลจากประเทศจีนเข้าไประบบแม่น้ำสูงกว่าปกติ ส่วนกรณีกระแสน้ำต่ำในฤดูแล้งปี 2019 และ 2020 ที่ทางประเทศลาวได้บันทึกนั้นอาจมีสาเหตุจากปริมาณน้ำฝนและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของฝน
ผลการศึกษาของงานวิจัยของ อายส์ ออน เอิร์ธ ไม่ได้คำนึงถึงปริมาณฝนและความซับซ้อนของกระแสน้ำ ดังนั้นไม่ได้สะท้อนถึงความจริงของอุทกศาสตร์ ผลที่ได้นั้นเป็นปริมาณกระแสน้ำตามการคำนวณ แต่ไม่ใช่ผลจากการวิเคราะห์จากปริมาณกระแสน้ำจริงที่ผ่านเชียงแสนตามแนวโน้มระยะยาว แต่วิธีที่ผู้เขียนรายงานผลการศึกษานำเสนอมีความเป็นเชิงประจักษ์สูงและสอบเทียบในช่วงปี 1997-2001 ดังนั้น ฟังก์ชันการถดถอยไม่ได้ครอบคลุมปัจจัยความซับซ้อนของอุทกศาสตร์และกระบวนการทางฟิสิกส์ซึ่งปัจจัยเหล่านี้กำหนดลุ่มแม่น้ำและปริมาณกระแสน้ำ
ผู้เชี่ยวชาญจีนได้วิเคราะห์อุทกศาสตร์และน้ำฝน ผลแสดงให้เห็นว่า ความแห้งแล้งในปี 2019 สาเหตุสำคัญคือปริมาณฝนในฤดูฝนไม่เพียงพอ ฝนตกจากลมมรสุมมาช้าและออกเร็ว กอปรด้วยการเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำให้เกิดอุณหภูมิสูงผิดปกติและอุณหภูมิที่สูงนี้ทำให้น้ำระเหยไปมาก
จีนกล่าวว่ายินดีร่วมมือการหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นในเชิงสร้างสรรค์บนพื้นฐานข้อเท็จจริง พร้อมกับเผยแพร่ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการพัฒนาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโขงอย่างรอบด้านและไม่ลำเอียง อีกทั้งยินดีตอบคำภามข้อสงสัยต่างๆ
ความเห็นข้อที่ 1 การสร้างเขื่อนจะทำให้ปริมาณน้ำมากขึ้นในหน้าฝนและน้อยลงในหน้าแล้ง ส่งผลให้แม่น้ำโขงตอนล่างเกิดน้ำท่วมและภัยแล้งบ่อยครั้ง
ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า: คนสมัยใหม่มักออมทรัพย์ที่ธนาคารเมื่อมีเงินเหลือ เผื่อเกิดกรณีฉุกเฉินในวันข้างหน้า โครงการชลประทานก็เป็นธนาคารของแม่น้ำ “หน้าฝนเก็บน้ำ- หน้าแล้งปล่อยน้ำ” เป็นหลักประกันที่ขาดมิได้ในการรับมือกับน้ำท่วมหรือภัยแล้ง
ประเทศยุโรป เช่นสวีเดน นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ มีโครงการชลประทานในแม่น้ำมากกว่า 90% สหรัฐฯ มีอ่างเก็บน้ำ 84,000 แห่ง แม่น้ำ 96% ได้สร้างเขื่อน โดยแม่น้ำมิสซิสซิปปีโดดเด่นที่สุด หนังสือ “ฟ้าลิขิต” ซึ่งพิมพ์โดยสำนักงานแม่น้ำมิสซิสซิปปีระบุว่า “หากแม่น้ำมิสซิสซิปปีไม่มีโครงการชลประทานที่รัฐบาลสหรัฐฯ ลงทุนก่อสร้าง 14,000 ล้านเหรียญ นึกภาพไม่ออกว่าจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อเกิดภัยพิบัติ จะกลายเป็นประเทศโลกที่สาม ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย ไม่มีการขนส่งและไม่มีฟาร์ม ชายฝั่งจะถูกน้ำท่วมและกัดเซาะ เป็นภาพพังพินาศอย่างยับเยิน” สหรัฐฯได้ลงทุนสร้างเขื่อนในต้นน้ำที่แคนาดา เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในแม่น้ำโคลัมเบียตอนล่าง
สำหรับแม่น้ำโขง 80 % ของน้ำฝนตกลงมาในหน้าฝน แต่การพัฒนาโครงการชลประทานยังน้อยกว่าสหรัฐฯและยุโรปมาก ซึ่งเป็นปัจจัยขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ประเทศในภูมิภาคได้สร้างโครงการชลประทานหลายแห่งในแม่น้ำสายหลักและสายย่อยของแม่น้ำโขง ได้แก่ เขื่อน 2 แห่งในสายหลักและเขื่อน 40 กว่าแห่งในลำน้ำสายย่อย เพื่อปรับระดับน้ำตามฤดู หลังจากเกิดภัยแล้งปีนี้
ด้านรัฐบาลไทยได้อนุมัติงบประมาณพิเศษในการสร้างโครงการชลประทาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง โครงการชลประทานจะทำให้น้ำในแม่น้ำตอนล่างมีปริมาณมากขึ้นในหน้าแล้งและน้อยลงในหน้าฝน โดยผ่านการปรับระดับน้ำตามหลักวิทยาศาสตร์
ความเห็นข้อที่ 2 เขื่อนในแม่น้ำล้านช้างทำให้ตอนล่างยิ่งแล้งขึ้น ควรรื้อถอนออกไป
ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า: ตามสถิติจากการสังเกตการณ์ ในสภาพธรรมชาติก่อนสร้างเขื่อน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ปริมาณน้ำที่ไหลลงจากแม่น้ำล้านช้างอยู่ที่ประมาณ 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนของปีนี้ (2020) เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงในตอนล่าง จีนก็ได้บริหารจัดการพิเศษ ปล่อยปริมาณน้ำที่ไหลลงจากแม่น้ำล้านช้างมากกว่า 2 เท่าตัวของน้ำไหลเข้าโดยอยู่ในระดับที่มากกว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ข้อมูลจากคณะกรรมการแม่น้ำโขงระบุว่า ที่สถานีอุทกวิทยาเชียงแสน ซึ่งเป็นสถานีที่อยู่ใกล้กับจีนที่สุด ระดับน้ำในเดือนมกราคมถึงเมษายนปีนี้ โดยเฉลี่ยแล้วสูงกว่า 0.2 เมตรเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโครงการชลประทานในแม่น้ำล้านช้างมีบทบาทเพิ่มปริมาณน้ำในหน้าแล้ง ปริมาณน้ำที่ไหลลงมาไม่ได้ลดลงแต่เพิ่มขึ้น รายงานล่าสุดจากคณะกรรมการแม่น้ำโขงระบุว่า หน้าแล้งปี 2019 และ ปี 2020 ปริมาณน้ำมาจากแม่น้ำล้านช้างมากกว่าช่วงหน้าแล้งปีก่อน ๆ
เมื่อเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน ประเทศต่างๆ ได้หารือกันอย่างกระตือรือร้นในการตั้งธนาคารใหม่หรือประสานการทำงานระหว่างธนาคาร โดยมีน้อยคนคิดว่าควรแก้ปัญหาโดยรื้อถอนธนาคาร เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้นในลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ภัยแล้งและน้ำท่วมเกิดจะยิ่งบ่อยขึ้น ทำไมจะไปเชื่อคำยั่วยุของคนที่มีเจตนาซ่อนเร้น มองข้ามประโยชน์เชิงบวกของโครงการชลประทาน และไปตั้งคำถามว่าทำไมต้องมีโครงการชลประทาน
ความเห็นข้อที่ 3 สถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบันเกิดจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนในแม่น้ำล้านช้าง
ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า: เรามาดูปริมาณน้ำฝนในลุ่มแม่น้ำโขง เมื่อปี 2019 ปริมาณน้ำฝนในลุ่มแม่น้ำล้านช้างน้อยกว่า 700 มม. ลดลงประมาณ 30% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยหลายปีที่ผ่านมา รายงานจากคณะกรรมการแม่น้ำโขงระบุว่า ปริมาณน้ำแม่น้ำล้านช้างในช่วงฤดูฝนมีสัดส่วนแค่ประมาณ 11% ของปริมาณน้ำในลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงในช่วงเวลาเดียวกัน ควรมองเห็นว่า ปริมาณน้ำฝนในแม่น้ำสายย่อยซึ่งเป็น 89% ของลุ่มแม่น้ำทั้งหมดก็ลดลง ข้อมูลจากคณะกรรมการแม่น้ำโขงยังระบุว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2019เป็นต้นมา พื้นที่ส่วนใหญ่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงเกิดความแห้งแล้งและฝนน้อยอย่างต่อเนื่อง ปริมาณน้ำฝนระหว่างเดือนมิถุนายนถึงตุลาคมในสถานีอุทกวิทยาเชียงแสน หลวงพระบางและหนองคาย ซึ่งอยู่ในสายหลักของแม่น้ำโขง ลดลงประมาณ 40% 50% และ 20% ตามลำดับ นอกจากนี้ ปริมาณน้ำฝนในสายย่อยของแม่น้ำโขงก็ลดลง เช่นลุ่มน้ำอูนซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาสำคัญของแม่น้ำโขง ในปี 2019 ปริมาณน้ำฝนน้อยลง 37% เมื่อเทียบกับปี2018
ข้อมูลจากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งประเทศไทยระบุว่า ปริมาณน้ำฝนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2019 ลดลง 71% และ 82% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เห็นได้ชัดว่าสาเหตุหลักของความแห้งแล้งในแม่น้ำโขงคือ ปริมาณน้ำฝนน้อยในพื้นที่ส่วนใหญ่ของแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง รายงานจากคณะกรรมการแม่น้ำโขงระบุว่า ระดับน้ำที่เวียงจันทน์แม่น้ำโขงตอนกลางในปี 2019 และปี 2020 ต่ำสุดในประวัติศาสตร์ สาเหตุหลักคือน้ำฝนลดลง
ความเห็นข้อที่ 4 เขื่อนในแม่น้ำล้านช้างควรปล่อยน้ำมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งภาคอีสานของไทย
ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า: เขื่อนในแม่น้ำล้านช้างสามารถบรรเทาความแห้งแล้งในภาคอีสานได้บ้าง แต่ก็มีข้อจำกัดเนื่องจากสาเหตุ 3 ประการ ประการแรก ปริมาณน้ำในแม่น้ำล้านช้างมีจำกัด ตามรายงานจากคณะกรรมการแม่น้ำโขง น้ำที่มาจากตอนบนตั้งแต่สถานีอุทกวิทยาเชียงแสนขึ้นไป(รวมทั้งแม่น้ำล้านช้างและแม่น้ำโขงช่วงอยู่ในประเทศเมียนมาร์และลาว) คิดเป็น 16 % เท่านั้น ในเมื่อน้ำจากลำน้ำสายย่อยไหลเข้าแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เขื่อนจีนจะมีบทบาทน้อยลงในการปรับระดับน้ำตั้งแต่เวียงจันทน์ลงไป
ประการที่สอง ภาคอีสานของไทยอยู่ห่างไกลจากจีน จังหวัดเลยซึ่งอยู่ใกล้กับจีนที่สุดห่างจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจิ่งหงประมาณ 900 กิโลเมตร เท่ากับระยะทางขับรถยนต์จากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯแล้วต่อไปถึงพัทยา แม่น้ำล้านช้างไหลออกจากจีนแล้วต้องใช้เดินทางไกล 900 กิโลเมตรจึงไปถึงภาคอีสานของไทย ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในการเดินทางระยะทาง 900 กิโลเมตร
ประการที่สาม การเพิ่มน้ำจากแม่น้ำล้านช้างมีผลเฉพาะต่อสายหลักของแม่น้ำโขง และมีผลน้อยมากต่อแม่น้ำส่วนใหญ่ในภาคอีสานไทย แม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทย-ลาว และเป็นปลายน้ำของแม่น้ำเกือบทั้งหมดในภาคอีสาน การแก้ปัญหาความแห้งแล้งในลำน้ำสายย่อยต่างๆ ของแม่น้ำโขง ต้องอาศัยโครงการชลประทานในพื้นที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบัน ประเทศลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ต่างก่อสร้างโครงการชลประทานในสายหลักและสายย่อยของแม่น้ำโขง ปริมาณน้ำที่กักเก็บมากกว่าเขื่อนที่สร้างในแม่น้ำล้านช้าง ทุกประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของโครงการชลประทานในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงเกิดภัยแล้งหรือน้ำท่วม ประเทศใดประเทศเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งระบบ รายงานจากคณะกรรมการแม่น้ำโขงระบุว่า เมื่อเผชิญกับภัยแล้งครั้งนี้ เขื่อนของลาวและประเทศอื่นที่อยู่ในสายย่อยแม่น้ำโขงก็ได้มีบทบาทในเชิงบวก ทำให้ระดับน้ำตั้งแต่เวียงจันทน์ลงไปคงไว้ที่ระดับเดียวกับปีก่อนๆ หน้าแล้งปี 2019 และ 2020 ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าแม่น้ำโขงช่วงที่อยู่ในกัมพูชามากกว่าปีก่อน
จากข้อมูลที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า เมื่อสายหลักและสายย่อยร่วมมือกัน จึงสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำได้ ฝ่ายจีนเรียกร้องประเทศต่างๆเร่งดำเนินความร่วมมือ เพื่อให้โครงการชลประทานในสายหลักและสายย่อยแม่น้ำโขงมีการประสานร่วมมือมากขึ้น ร่วมกันรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคนี้
ความเห็นข้อที่ 5 เขื่อนจีนในแม่น้ำล้านช้างกักเก็บและใช้น้ำมาก ทำให้ตอนล่างขาดแคลนน้ำ
ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า: โครงการชลประทานของจีนในแม่น้ำล้านช้างเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าโดยอาศัยการไหลผ่านของน้ำ แทบจะไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรน้ำนอกจากมีการระเหยเพียงเล็กน้อย โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจะปฏิบัติตามหลักการ “น้ำไหลเข้าเท่าไหร่ ก็จะให้ไหลออกเท่านั้น” โดยแค่ปรับเวลาการปล่อยน้ำ เข้าใจง่ายๆก็คือ “เก็บน้ำในหน้าฝนไปปล่อยในหน้าแล้ง”
โดยปกติโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจะไม่สกัดกั้นน้ำจากต้นน้ำในช่วงหน้าแล้ง และจะเพิ่มน้ำไหลลงไปต่างหาก ยกตัวอย่างเช่น ช่วงเวลาเดือนมกราคมถึงเมษายนปีนี้ น้ำที่ไหลลงจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในแม่น้ำล้านช้างมากกว่า 2 เท่าตัวของปริมาณน้ำในสภาพธรรมชาติอยู่ที่ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รายงานจากคณะกรรมการแม่น้ำโขงระบุว่า เขื่อนในแม่น้ำล้านช้างช่วยเพิ่มปริมาณน้ำตอนล่างในหน้าแล้ง ช่วงหน้าแล้งปี 2019 และ 2020 น้ำที่มาจากแม่น้ำล้านช้างมากกว่าหน้าแล้งปีก่อน ๆ ภัยแล้งเกิดขึ้นต่อเนื่องกันมาจนถึงทุกวันนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในแม่น้ำล้านช้างมีบทบาทเชิงบวกในการบรรเทาความแห้งแล้งและส่งเสริมความมั่นคงระบบนิเวศในลำน้ำสายหลักของแม่น้ำโขง
ความเห็นข้อที่ 6 : รายงานการวิจัยระบุว่าต้นน้ำแม่น้ำล้านช้างชุ่มชื้นกว่าปี 2019 ดังนั้นจึงไม่มีภัยแล้งในมณฑลยูนนาน
ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า: สิ่งที่ควรมองเห็นก็คือ น้ำในแม่น้ำล้านช้างส่วนใหญ่มาจากมณฑลยูนนาน ไม่ได้มาจากมณฑลชิงไห่ พื้นที่ชุ่มชื้นที่พูดถึงในรายงานหมายถึงพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำล้านช้างที่อยู่ในมณฑลชิงไห่ ซึ่งตั้งอยู่ที่ที่ราบสูง ปริมาณน้ำฝนต่อปีน้อยกว่า 500 มม. ไม่ถึง 1/3 ของปริมาณน้ำฝนที่จังหวัดหนองคาย ที่ต้นน้ำแม่น้ำแคบ น้ำน้อย สายย่อยน้อย ปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจะไม่ส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณน้ำในสายหลักของแม่น้ำล้านช้าง ระยะทางจากคุนหมิงซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลยูนนานไปซีหนิงซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลชิงไห่ห่างกันถึง 1,400 กว่ากิโลเมตร ซึ่งเกือบจะเป็นระยะทางจากกรุงเทพฯถึงสิงคโปร์ ถ้าฝนตกในกรุงเทพฯ คงไม่มีใครคิดว่าฝนจะตกในสิงคโปร์ด้วย เช่นเดียวกัน ทำไมชิงไห่มีความชุ่มชื้นมากขึ้น ยูนนานก็ต้องมีความชุ่มชื้นพร้อมกัน ในรายงานฉบับเดียวกันจะเห็นได้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของมณฑลยูนนานที่แม่น้ำล้านช้างไหลผ่านมีปริมาณน้ำฝนลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีสภาพคล้ายๆ ประเทศต่างๆ ที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง นับถึงวันที่ 15 เดือนเมษายนปีนี้ ประชาชนในมณฑลยูนนานมากกว่า 1.47 ล้านคนขาดแคลนน้ำดื่ม ซึ่งเทียบเท่ากับประชาชนทั้งจังหวัดชลบุรีที่ไม่มีน้ำดื่มที่ปลอดภัย
มณฑลยูนนานกำลังเผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี ได้ทุ่มเทกำลัง 1.13 ล้านคน และรถ 1.3 แสนคันเพื่อต่อสู้ภัยแล้ง ในสถานการณ์อย่างนี้ จีนยังคงพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีการเพิ่มน้ำไหลออกจากเขื่อนและบรรเทาภัยแล้งของแม่น้ำโขงตอนล่าง
ความเห็นข้อที่ 7 หลังโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในแม่น้ำล้างช้างสร้างเสร็จ แม่น้ำโขงเกิดภัยแล้งบ่อยมากขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า: ตามดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศโลก(Global Climate Risk Index)ล่าสุดระบุว่า ประเทศเมียนมาร์ เวียดนาม ไทยและประเทศอื่นที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงอยู่ในกลุ่มประเทศสิบอันดับแรกของโลกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดความแห้งแล้งเนื่องจากปริมาณน้ำฝนน้อยอย่างผิดปกติ
รายงานการวิจัยทางด้านอุตุนิยมวิทยายังแสดงให้เห็นว่า เกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ปัญหาภัยแล้งในภาคอีสานของไทย ในพื้นที่่ส่วนใหญ่ของกัมพูชา และในเมียนมาร์นั้นมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในบางพื้นที่ของภาคอีสานไทย รายงานจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติของไทยแสดงให้เห็นว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขงเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1960 แต่โครงการชลประทานในแม่น้ำล้านช้างเริ่มสร้างเสร็จในศตวรรษที่ 21 ซึ่งไม่สามารถอธิบายว่าทำไมปริมาณน้ำเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 1960 โดยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลุ่มแม่น้ำโขงเกิดภัยแล้งบ่อยเป็นประจำ เป็นข้อสรุปที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ และเป็นความท้าทายที่เราร่วมมือกันแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้งานวิจัยร่วมของแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง 6 ประเทศระบุว่า ภัยแล้งในประเทศแม่น้ำโขงเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฝ่ายจีนบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในแม่น้ำล้านช้างอย่างชอบด้วยเหตุผล ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงจากแม่น้ำล้านช้างโดยเฉลี่ยแล้วเพิ่มขึ้น 70% ในหน้าแล้งและลดลง 30%ในหน้าฝน เมื่อเทียบกับสภาพธรรมชาติ โครงการชลประทานเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำหรับการตีความที่ไม่มีเหตุผลจากกลุ่มอิทธิพลนอกภูมิภาคต่อการพัฒนาโครงการชลประทานในแม่น้ำล้านช้าง ทุกประเทศในลุ่มแม่น้ำต่างมีการพิจารณาที่เป็นธรรมและชอบด้วยเหตุผล