โควิด ฉุด MPI เม.ย. -17.21% กำลังผลิตเหลือ 51.87%

by
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005675201.JPEG

สถานการณ์โควิด ฉุดดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเมษายน ติดลบ 17.21% ต่ำสุดในรอบ 8 ปี เพราะหลายอุตสาหกรรมต้องหยุดผลิตชั่วคราว แนะผู้ประกอบการ ปรับแผนการผลิตให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคในสภาวะชีวิตวิถีใหม่

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ สศอ. รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเมษายน 2563 อยู่ที่ระดับ 79.04 หดตัว 17.21 % เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นค่าดัชนีที่ต่ำสุดในรอบกว่า 8 ปี นับตั้งแต่พฤศจิกายน 2554 ที่ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 66.95

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005675202.JPEG

นายอิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว และโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่ง ต้องหยุดผลิตชั่วคราว เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์เดือนเมษายนมีอัตราการใช้กำลังการผลิต เพียง12.64% ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตโดยรวมเดือนเมษายนอยู่ที่ 51.87% ขณะที่ผลจากการแก้ปัญหาด้านการขนส่งสินค้า ทั้งในและระหว่างประเทศ ให้สามารถส่งสินค้าได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้บางอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมอาหาร กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 9 เดือน เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยา ที่ขยายตัว38.52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับ 2 หลักติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3

หากดูเป็นรายอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมหลัก ที่ส่งผลลบต่อดัชนีเดือนเมษายน คือ รถยนต์และเครื่องยนต์ ,น้ำมันปิโตรเลียม และเบียร์ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมสถานการณ์ระบาดทำให้โรงงานต้องหยุดสายการผลิต ประชาชนต้องหยุดอยู่บ้าน ลดการเดินทาง และการถูกสั่งห้ามการจำหน่ายสุรา

ส่วนอุตสาหกรรมหลัก ที่ยังขยายตัวได้ดี คือ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ปูนซีเมนต์ ที่มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากโครงการก่อสร้างของรัฐบาล และจำนวนวันทำงานที่มากกว่าปีก่อน จากการประกาศเลื่อนวันหยุดสงกรานต์

เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค จากความต้องการที่เพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการบางราย สร้างอาคารเก็บยาเพิ่ม เพื่อขยายความสามารถในการสต๊อคล่วงหน้า ยกเว้นยาผงที่พบปัญหาขาดวัตถุดิบที่ต้องนำเข้า

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัว จากคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดโลก ,อาหารทะเลกระป๋อง ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากความต้องการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เกิดความต้องการอาหาร ที่เก็บไว้ได้นานเพิ่มขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจัยที่ สศอ.ระบุว่า ต้องจับตาหลังจากนี้ คือ การปลดล็อคทางเศรษฐกิจว่า จะกลับมาดำเนินการเต็มที่ได้เมื่อไหร่ ,การควบคุมโรคของประเทศคู่ค้า และรายได้ ที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็วแค่ไหน โดยในเดือนพฤษภาคมนี้ ประเทศไทยควบคุมการระบาดได้ดี ส่งผลให้รัฐบาลเริ่มปลดล็อคกิจการบางประเภท ให้กลับมาเปิดดำเนินการได้ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทย จำเป็นต้องปรับแผนการผลิตให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคในสภาวะชีวิตวิถีใหม่ด้วย