https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20200527/news_SBqersQXXx105736_533.jpg?v=20200527121

เกษตรกรร้องศาลคุ้มครองชั่วคราว ปมมติแบนสารพิษ

สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย -เกษตรกรผู้ปลูกพืช 6 ชนิด ยื่นหนังสือร้องศาลปกครองขอให้ไต่สวนฉุกเฉินและคุ้มครองชั่วคราว หลังคก.วัตถุอัตราย มีมติแบนสารมีผล 1 มิ.ย.นี้ จนกว่ามีคำพิพากษาถึงที่สุด

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย พร้อมด้วยตัวแทนผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง เปิดเผยภายหลังเข้ายื่นหนังสือร้องศาลปกครอง ว่าขอให้ศาลมีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินและขอให้คุ้มครองชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

กรณีที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบนสารเคมี พาราควอต และคลอไพริฟอส ซึ่งมีผลในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศให้สารทั้ง 2 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ขณะที่กรมวิชาการเกษตรได้ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 25 พฤกษภาคมที่ผ่านมา ให้เกษตรกรต้องนำไปคืนร้านจำหน่ายใน 90 วันนั้น

นายสุกรรณ์ กล่าวว่า การแบนสารดังกล่าวกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกพืชกว่า 100 ล้านไร่ ที่ยังไม่มีสารทดแทนมาใช้ได้จึงมาพึ่งศาลขอให้พิจารณาช่วยเหลือ เนื่องจากขณะนี้เข้าสู่ช่วงฤดูฝนเป็นฤดูเพาะปลูกของเกษตรกรถ้าไม่มีสารดังกล่าวจะไม่สามารถเพาะปลูกได้

ส่วนไกลโฟเซตที่มีการจำกัดการใช้ ที่ผ่านมามีการอบรมเกษตรผ่านเพียง 4.7 แสนรายเท่านั้น ที่มีใบอนุญาตสามารถซื้อสารดังกล่าวได้ แต่มีเกษตรกรจำนวนมากที่ไม่สามารถซื้อได้ ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการอบรมการใช้สาร 3 ชนิด คือ พาราควอตมไกลโฟเซตและคลอร์ไพรีฟอส มีเกษตรกร 1.5 ล้านรายที่อบรมแต่สอบผ่านเพียง 4.7 แสนรายแล้วหยุดการอบรม ส่วนกลูโฟซิเนตมีคุณสมบัติที่ไม่สามารถทดแทนพาราควอตได้ ขณะที่การใช้เครื่องจักรมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่

ขณะนี้ กรมวิชาการเกษตรได้ออกคำสั่งให้ผู้มีไว้ในครอบครองทั้งเกษตรกรต้องนำไปคืนร้านจำหน่ายใน 90 วัน ร้านจำหน่ายต้องนำไปคืนบริษัทผู้นำเข้าและผู้ผลิตใน 180 วัน ส่วนบริษัทผู้นำเข้าและผู้ผลิตจะต้องนำเสนอแผนการเก็บและทำลายต่อกรมวิชาการเกษตรภายใน 365 วัน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะไม่รับผิดชอบค่าทำลาย

สำหรับโทษมีไว้ในครอบครอง มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.