เร่งสปีดแก้ขาดแคลนน้ำหน้าแล้ง-เก็บกักน้ำฝน

by
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005666301.JPEG

สทนช.ยืนยันงบกลางแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ-เก็บกักน้ำฝน เดินหน้าขับเคลื่อนทันกำหนด มิ.ย.-ก.ค.นี้แน่ ระบุโครงการการพัฒนาแหล่งน้ำยังคงกระจุกตัว ทั้งที่มีถึง 11 หน่วยงานเสนอโครงการและงบประมาณ เตรียมวางแผนแก้ไขให้กระจายตัวครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น

ถึงกรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 และมีพายุฤดูร้อนหอบฝนมาในเดือนเมษายน 2563 รวมทั้งพายุไซโคลน “อำพัน” จากมหาสมุทรอินเดียก็ตาม แต่การแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง 2562/2563 รวมทั้งการเตรียมการรับมือฤดูฝน 2563 ของประเทศไทย ภายใต้งบกลาง ยังคงเดินหน้าต่อไป จนกว่าจะครบกำหนดกรอบเวลาในเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม 2563 ตามลำดับ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า โครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง 2562-2563 และโครงการเร่งด่วนเก็บกักน้ำในฤดูฝน 2563 และการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง 2562/2563 (เพิ่มเติม) ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และได้รับอนุมัติโครงการจากงบกลางจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ 7 มกราคม 2563 และ 17 มีนาคม 2563 ตามลำดับนั้น มีความคืบหน้าดังนี้

โครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง 2562/2563 มีพื้นที่เป้าหมาย 44 จังหวัด 2,041 โครงการ กรอบวงเงิน 3,079 ล้านบาท ได้รับการพิจารณาจัดสรรงบประมาณแล้ว (ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2563) จำนวน 1,424 โครงการ งบประมาณ 2,280 ล้านบาท ดำเนินการแล้ว 787 โครงการ คิดเป็น 55.26% เสร็จแล้ว 21 โครงการที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ

ทั้งนี้ แบ่งเป็นโครงการขุดบ่อบาดาล 752 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ภาคเหนือและภาคอีสาน โครงการซ่อมแซมระบบประปา 10 แห่งของภาคเหนือทั้งหมด จัดหาแหล่งน้ำผิวดิน 5 แห่ง อยู่ในภาคอีสาน 4 แห่ง ภาคเหนือ 1 แห่ง และโครงการวางท่อน้ำดิบ 11 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสานและเหนือ

“ผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการเหล่านี้จะเพิ่มปริมาณน้ำบาดาล 39.76 ล้านลูกบาศก์เมตร ประชาชนได้รับประโยชน์ 129,765 ครัวเรือน และเพิ่มปริมาณน้ำดิบผลิตประปา 60.51 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ผู้ใช้น้ำประปา 183,192 ราย และมีน้ำประปาสำรอง จ.พะเยา และ จ.ขอนแก่น รวม 7 แสนลูกบาศก์เมตร” ดร.สมเกียรติกล่าว

โครงการข้างต้นมีหน่วยงานรับผิดชอบ ประกอบด้วย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กองทัพบก หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และการประปาส่วนภูมิภาค

ส่วนโครงการเร่งด่วนเพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝน ปี 2563 และโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง 2562/2563 (เพิ่มเติม) ตามมติ ครม. 17 มีนาคม 2563 นั้น มีแผนงานโครงการ 6,806 โครงการ กรอบวงเงิน 8,269.35 ล้านบาทนั้น ณ วันที่ 12 พฤษภาคมได้รับจัดสรรงบประมาณ 1,679 โครงการ งบประมาณ 4,405.01 ล้านบาท ดำเนินการไปแล้ว 107 โครงการ เกือบทั้งหมด 106 โครงการเป็นงานของกรมชลประทาน

ประกอบด้วยงานฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิม 88 แห่ง ส่วนใหญ่อีสาน 47 แห่ง ภาคกลาง 16 แห่ง ภาคเหนือ 11 แห่ง ภาคตะวันออก 9 แห่ง และภาคใต้ 5 แห่ง งานก่อสร้างแหล่งน้ำพร้อมระบบ 6 แห่ง ภาคอีสาน 3 แห่ง
งานก่อสร้างแหล่งน้ำพร้อมระบบ 6 แห่ง เป็นภาคอีสาน 3 แห่ง ภาคเหนือ 2 แห่ง และภาคใต้ 1 แห่ง งานก่อสร้างแหล่งน้ำใหม่ 12 แห่ง ส่วนใหญ่ภาคอีสานถึง 10 แห่ง และงานเชื่อมโยงแหล่งน้ำ 1 แห่ง ในภาคตะวันออก

“จะเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักเกือบ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 115,662 ไร่ เกือบ 40,000 ครัวเรือน และจ้างงานกว่า 3,000 คน”

ดร.สมเกียรติกล่าวอีกว่า โครงการทั้ง 2 หมวดใหญ่ดังกล่าวตามมติ ครม.จะดำเนินการแล้วเสร็จตามกรอบเวลา คือ มิถุนายน และกรกฎาคมตามลำดับ มีผลทำให้การบูรณาการแก้ไขปัญหาเกิดประโยชน์เป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งมิติการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง การเก็บกักน้ำในฤดูฝน ตลอดจนการจ้างงานในพื้นที่ เหลือเพียงความพร้อมของหน่วยงานเจ้าของโครงการที่ยังกระจุกตัวไม่กี่แห่ง ทั้งที่มีถึง 11 หน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่ง สทนช.กำลังวางแผนปรับปรุงอยู่

ทั้งนี้ 11 หน่วยงานประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมประมง สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำ กรมเจ้าท่า การประปาส่วนภูมิภาค กรมการทหารช่าง หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมการข้าว