‘เรียนออนไลน์’ แบบไหนเหมาะสำหรับเด็กเล็ก /ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

by
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005664701.JPEG

ช่วงนี้ผู้คนพูดถึงเรื่อง “การ์ดห้ามตก” ซ้ำๆ ทุกวันภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มากมาย แต่ก็ดูเหมือนยังเป็นกังวลว่า COVID-19 อาจกลับมารอบ 2 ก็ได้ ถ้าเราวางใจจนเกินไป

ถ้าข้ามฟากมาทางด้านการศึกษา ก็จะพบว่าครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกของเด็กนักเรียนในทุกระดับที่อยากให้เปิดเทอมเสียที เพราะอยากไปโรงเรียน อยากไปเจอเพื่อนๆ อยากไปทำกิจกรรมมากมาย ซึ่งจะว่าไปก็นับเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้บรรดาเด็กนักเรียนได้เห็นข้อดีหลายประการของการไปโรงเรียนที่นอกเหนือจากการเรียนหนังสือ

แต่ในความเป็นจริง ตอนนี้เด็กนักเรียนต้องอยู่บ้านเพื่อเรียนออนไลน์

แม้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เริ่มนำร่องทดลองการเรียนการสอนทางไกล ผ่านสถานี DLTV จำนวน 17 ช่อง สำหรับนักเรียนชั้น อ.1-ม.6 และสามารถรับชมผ่านช่องทางออนไลน์ได้ด้วย

ในช่วงแรก การเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์ดูเหมือนเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเหล่าอาจารย์ และนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เพราะไม่จำเป็นต้องหยุดเรียน ยังคงจัดการเรียนการสอนต่อไปได้

จนกระทั่งถึงเวลาของโรงเรียนหลายแห่งเริ่มเปลี่ยนการเรียนการสอนเป็นระบบออนไลน์แทน แม้จะเลื่อนเปิดเทอมไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563แต่อุปสรรคเรื่องการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่นนี้ ยังไม่สามารถวางใจได้ ประกอบกับภาครัฐได้ทดลองจัดการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ ทำให้ได้เห็นปัญหามากมาย ทั้งเด็กนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ อยู่ในพื้นที่ไม่มีอินเตอร์เน็ต หรือในบางครอบครัวที่มีจำนวนอุปกรณ์สำหรับเรียนออนไลน์ไม่เพียงพอกับสมาชิกครอบครัวที่ยังอยู่ในวัยเรียน และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย

ประเด็นที่ดิฉันเป็นห่วงและอยากเขียนถึง ไม่ใช่เรื่องระบบ หรือความพร้อมในเชิงเทคโนโลยี เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องคำนึงถึง และต้องแก้ไขปัญหาระดับนโยบาย ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องของครอบครัวเท่านั้น

แต่ปัญหาก็คือ หลังจากติดตามเนื้อหาที่ได้มีการทดลองออกอากาศแล้ว ดิฉันค่อนข้างเป็นห่วงเด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กปฐมวัย เพราะบางเนื้อหาก็ไม่เหมาะสม และไม่เหมาะกับช่วงวัย บางเนื้อหาก็เก่ามาก ไม่ทันกับยุคสมัยที่ต้องการสร้างแรงจูงใจให้เด็กเกิดการเรียนรู้สำหรับเด็กยุคดิจิทัล

จริงอยู่ว่าประเด็นเรื่องการจัดการทางด้านสาธารณสุขก็เรื่องหนึ่ง ไม่ควรให้เด็กเล็กไปโรงเรียน เพราะธรรมชาติของเด็กเล็กก็จะไม่ได้ระมัดระวังตัว ยังชอบที่จะเล่นกับเพื่อน กรณีที่จะให้รักษาระยะห่างสำหรับเด็กวัยอนุบาลจึงทำได้ยาก แม้จะมีบางประเทศที่พยายามแก้ปัญหาด้วยมาตรการต่างๆ เช่น ประเทศจีนที่มีความพยายามจัดกระบวนการดูแลทุกขั้นตอนในการทำความสะอาดและรับตัวเด็กก่อนเข้าโรงเรียนอย่างเข้มข้น หรือความพยายามให้เด็กสวมหมวกปีกสองข้างความยาว 1 เมตรสร้างระยะห่างทางสังคมป้องกันCOVID-19 อย่างน่ารักน่าชัง ซึ่งทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และคำนึงถึงการ “รักษาระยะปลอดภัย” ตลอดเวลา

หรือในประเทศเดนมาร์ก ที่เปิดโรงเรียนสำหรับเด็กเล็กชั้นอนุบาลถึงป.5 เป็นปกติ โดยลดจำนวนเด็กให้เหลือห้องละไม่เกิน 15 คน แบ่งมุมให้เด็กอยู่กระจายกันไป ไม่ให้รวมกลุ่มกัน และต้องทำตามกฎระเบียบด้านความสะอาด เช่น พกขวดน้ำส่วนตัวไปเอง เด็กต้องนั่งห่างกัน 2 เมตร ล้างของเล่นวันละ 2 ครั้ง

นั่นหมายความว่าถ้าบ้านเราจะเปิดให้เด็กเล็กไปโรงเรียน ก็ต้องมีมาตรการช่วยเหลือให้เด็กมีระบบการป้องกันตัวที่ดีพอ ที่สำคัญเมื่อเปิดโรงเรียน แล้วต้องรักษาระยะห่างให้ได้อย่างไร

เพราะไม่เช่นนั้นแล้วอาจเกิดเหตุการณ์เหมือนประเทศฝรั่งเศส และเกาหลีใต้

บทเรียนที่ “เกาหลีใต้” หลังจากเปิดเรียนวันแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้วทำเอาต้องรีบสั่งปิดอีกรอบสำหรับโรงเรียนมัธยม 75 แห่ง เนื่องจากพบนักเรียน 2 คน ติดเชื้อCOVID-19 สำหรับการเปิดเรียนของโรงเรียนในเกาหลีใต้ถูกเลื่อนมาหลายต่อหลายครั้งนับตั้งแต่เดือนมีนาคม และตอนนี้ต้องกลับไปใช้มาตรการเรียนทางออนไลน์

เช่นเดียวกับที่ “ฝรั่งเศส” ที่ก่อนหน้านั้นก็พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 อย่างน้อย 70 ราย ในกลุ่มเด็กนักเรียนจากเนอสเซอรี่ และโรงเรียนประถมหลายแห่งนับตั้งแต่วันที่ “ผ่อนคลาย” มาตรการล็อกดาวน์เปิดสถานศึกษาราว 40,000 แห่ง ให้เด็กกว่า 1.4 ล้านคน กลับไปเรียนที่โรงเรียนอีกครั้ง ซึ่งการพบผู้ติดเชื้อดังกล่าวทำให้เนอสเซอรี่กับโรงเรียนประถมหลายแห่ง ต้องปิดทำการอีกครั้ง ส่วนนักเรียนมัธยมต้นราว 1.5 แสนคน กลับไปเรียนที่โรงเรียนแล้วในวันเดียวกัน

เรื่องมาตรการความปลอดภัยจาก COVID-19 เป็นสิ่งจำเป็นมาก ถ้าจะเปิดเทอมต้องมีมาตรการเข้มข้นในการรับมือที่เข้มข้นด้วย

อย่างไรก็ดี การเตรียมสำหรับการเรียนออนไลน์ก็ยังมีความจำเป็น เพราะถึงที่สุดแล้วเราก็ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์เรื่อง COVID-19 ในบ้านเราจะไปถึงจุดไหน ฉะนั้นการเตรียมการไว้ก่อนจึงจำเป็น

แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงเด็กเล็กด้วยว่าจะเรียนออนไลน์แบบไหนจึงเหมาะสม ?

ที่ผ่านมาในวงวิชาการการศึกษาปฐมวัยได้มีการให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีกับเด็กปฐมวัยมีทั้งข้อดีและข้อด้อยและพยายามให้เด็กวัยนี้หลีกเลี่ยงการใช้เทคโนโลยีโดยไม่จำเป็น

ข้อมูลที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงเสมอจาก The National Association for the Education of Young Children และ Fred Rogers Center for Early Leaning and Children’s Media at Saint Vincent College (NAEYC & the Fred Rogers Center, 2012) ยืนยันว่า การใช้เทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ ดีวีดี และเกม กับเด็กแรกเกิดจนกระทั่งถึง 8 ปี จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในเรื่องความคิด สติปัญญา และอารมณ์ แต่ทั้งนี้ต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขว่า จะต้องใช้อย่างถูกวิธีตามความเหมาะสม และความสามารถของครูปฐมวัยและผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องเทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาของเด็กปฐมวัยในยุคปัจจุบัน

ดังนั้นการที่จะนำเอาเทคโนโลยีมาใช้กับเด็ก สิ่งที่ต้องคำนึงคือ วิธีการเลือกเครื่องมือ และแอพพลิเคชั่น เครื่องมือที่นำมาใช้ในเรื่องการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีนั้นต้องช่วยให้เด็กสามารถค้นคว้า สร้างโอกาส และต้องส่งเสริมให้เด็กมีทางเลือกในการสร้างจินตนาการ และแก้ปัญหาด้วยตนเอง

หากให้เด็กใช้โดยปราศจากการควบคุมดูแลของผู้ใหญ่ หรือใช้มากเกินไป หรือใช้ไม่เหมาะสมกับวัยของเด็กก็จะกลายเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตของเด็กในด้านต่าง ๆ ได้

ฉะนั้น สิ่งที่ควรคำนึงถึงเรื่อง “เนื้อหา” การเรียนออนไลน์ในเด็กเล็ก

หนึ่ง–เนื้อหาต้องสนับสนุนพัฒนาการเด็ก
การนำเทคโนโลยีมาใช้กับเด็กปฐมวัยนั้นต้องพิจารณาในหลักของความสอดคล้องกับหลักการสนับสนุนพัฒนาการของเด็ก ครูต้องใช้ดุลยพินิจในการนำมาใช้ให้เหมาะสม คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และบริบททางสังคมของเด็กด้วยและควรจะต้องบูรณาการกับเครื่องมืออื่นๆ ในลักษณะของการเสริมสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ และใช้เป็นสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก

สอง –เสริมสร้าง Cognitive Skill
เนื้อหาจะต้องช่วยพัฒนาการทั้งด้านสติปัญญาและทางสังคมควบคู่กันไปซึ่งต้องเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมสุขภาพ หรือรูปแบบการใช้ชีวิตของเด็ก เช่น พฤติกรรมการกิน การนอน หรือการออกกำลัง ที่มีผลต่อพัฒนาการทางด้านสติปัญญา (Cognitive skill) โดยในปี 2016 Pooja S.Tandon และคณะ ได้รวบรวมองค์ความรู้ และผลการศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวไว้ในบทความวิชาการเรื่อง “The relationship between physical activity and diet and young children’s cognitive development” ซึ่งถือเป็นการวางกรอบความคิด (Framework) ในการศึกษาด้านพัฒนาการสมองที่มีความครอบคลุมปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเด็ก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งมีความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และนำมาซึ่งพัฒนาการทางสมองของเด็กที่ต่างกันไป

สาม – วัตถุประสงค์ของครูต้องชัดเจน
ครูจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของเนื้อหาและสิ่งที่ต้องการให้เด็กเรียนรู้อย่างชัดเจน คือให้เป็นเสมือนเครื่องมือที่สนับสนุนการเรียนรู้ แต่มิใช่นำมาใช้ในลักษณะของการเป็นบทเรียน หรือ สาระความรู้ที่ผู้เรียนต้องเรียนอย่างเคร่งเครียด แต่ต้องคำนึงถึงวัย และเลือกใช้สื่ออื่นๆ ที่เหมาะสมเป็นตัวช่วยด้วย

สี่ –ครูและผู้ปกครองต้องอยู่ด้วย
คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ต่างๆ เป็นเพียงเครื่องมือช่วยการเรียนรู้ การให้เด็กเรียนโดยใช้คอมพิวเตอร์จะต้องมีครูและผู้ปกครองอยู่ด้วยทุกครั้งและตลอดเวลา เพื่อให้คำชี้แนะที่เหมาะสม

ห้า –ซอฟต์แวร์ต้องเหมาะกับวัย
จุดประสงค์หลักของการผลิตซอฟแวร์สำหรับเด็ก จะไม่เน้นเด็กให้เกิดการเรียนรู้เฉพาะเนื้อหาอย่างเดียวแต่ต้องสนุกกับการเรียนนั้นด้วย และต้องคำนึงถึงสื่อผสม (Multimedia) หมายถึง การใช้สื่อหลายๆแบบประกอบกันมีทั้งข้อความ ภาพนิ่ง ภาพที่เคลื่อนไหวได้ มีเสียง

ความแตกต่างของโทรทัศน์กับสื่อผสมต่างกันตรงที่การเรียนจากโทรทัศน์เป็นการเรียนแบบรับ (Passive) ขณะที่เรียนจากสื่อผสมคอมพิวเตอร์เป็นการเรียนแบบตอบโต้ (Active) ที่เด็กสามารถมีปฏิกิริยาตอบโต้ได้ในขณะเรียน ซึ่งการเรียนกับโทรทัศน์เด็กจะเป็นฝ่ายรับอย่างเดียวไม่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ได้ดังนั้นการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์(Interactive learning) มีความสำคัญสำหรับเด็กวัยนี้มากเด็กจะเรียนรู้ได้สนุกกว่าโทรทัศน์ และเด็กสามารถควบคุมการเรียนรู้ในขณะที่เรียน ซึ่งเป็นการกระตุ้นทำให้เกิดการอยากรู้อยากเห็น และตอบโจทย์การสร้างจินตนาการได้ด้วย

หก – สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการเรียน
สภาพแวดล้อมการเรียนด้วยคอมพิวเตอร์ไม่ใช่เฉพาะการนั่งเรียนหน้าจอเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีกิจกรรมเสริมนอกจอด้วยกิจกรรมต่างๆที่ครูควรจัดขึ้น เพราะคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือเสริมกิจกรรมและหลักสูตร ไม่ใช่สิ่งทดแทนการเรียนการสอนทั้งหมดของครู

เจ็ด– ต้องยืดหยุ่น
สิ่งสำคัญอย่าเล็งผลเลิศ และต้องไม่ให้เด็กใช้เวลาอยู่หน้าจอนานเกินไปหรือถ้าเด็กยังไม่พร้อมที่จะเรียนในช่วงเวลานั้น ก็ต้องยืดหยุ่น ไม่ควรบังคับ แต่ใช้วิธีโน้มน้าว สร้างแรงจูงใจ ซึ่งถ้ารูปแบบการเรียนการสอนสนุกสนาน เด็กก็จะไม่เกิดความเบื่อหน่าย และอยากเรียนรู้ด้วย

ท่ามกลางวิกฤติ COVID-19 ทุกคนก็ล้วนแล้วแต่ห่วงใยคนในครอบครัว โดยเฉพาะลูกที่อยู่ในวัยเด็กเล็ก พ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่อยากให้ลูกไปอยู่ในสถานที่หรือมีภาวะเสี่ยง แต่ก็เป็นห่วงเรื่องการเรียนของลูก แม้จนถึงขณะนี้ยังมีปัญหาและอุปสรรคอีกมากมาย แต่ก็อยากให้คิดด้วยว่านี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ แต่เป็นสถานการณ์พิเศษแบบกะทันหันที่ทำให้ทุกคนต้องปรับตัว และปรับตามสถานการณ์
ไหนๆ ก็ไหนๆ ถือโอกาสเรียนรู้ร่วมกันในครอบครัว หาโอกาสและประโยชน์จากการเรียนออนไลน์ในรูปแบบที่เหมาะกับวัยของลูกเท่าที่มีข้อจำกัดและเงื่อนไขของชีวิตละกัน