''สาคูต้น''พืชมหัศจรรย์ที่อาจ''สูญพันธุ์''

https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20200526/news_oRsMIgEMZT200844_533.jpg?v=20200602147

''สาคูต้น''พืชยั่งยืนในทางทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญในด้านต่างๆ แต่กำลังจะถูกทำลายด้วยโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ อย่างที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

"ป่าสาคูผืนนี้เคยมี 200 ไร่ แต่ตอนนี้ที่เหลือเพียง 70 ไร่ เพราะโครงการของรัฐ พัฒนา ทำเสาไฟฟ้า และการขุดลอกคูคลองใช้เครื่องจักรใหญ่ สาคูริมคลองหายไป ตอนนี้แห้งแล้งมาก เราพึ่งเขา มันเป็นชีวิตของเราได้เลย เพราะฉะนั้นเราต้องอนุรักษ์สาคูไว้" พี่บอย ผู้ที่ใช้ชีวิตพึ่งป่าสาคูบ้านหัวพรุ ป่าสาคูที่ใหญ่ที่สุดในจ.พัทลุงกล่าว
 
วันนี้เรารู้จัก''สาคูต้น''พัทลุงว่าเป็นแป้งทำขนมหวานแสนสุดอร่อย แต่เราอาจจะยังไม่รู้ว่าต้นสาคูนั้นเป็นพืชที่มีประโยชน์ทั้งต่อสิ่งแวดล้อม และชาวบ้านมากมายหลายด้าน 
 
โดยเป็นเรื่องที่น่าเศร้า วันนี้''สาคูต้น''ในพัทลุงลดเหลือน้อยเพียง 10% ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทางเกษตรของชาวบ้าน และเป็นผลจากโครงการพัฒนาต่างๆของรัฐ และการขุดลอกคูคลองแบบผลาญทำลายนิเวศ ทำให้ชวนคิดถึงทิศทางของต้นสาคูเพื่อให้อยู่คู่กับเราไปตราบนานว่าจะเป็นอย่างไร

https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20200526/news_aWBGQssoPw162208_533.jpg?v=20200602147?v=3744

 
ประโยชน์ของต้นสาคู
"สาคูเรียกว่าเป็นพืชมหัศจรรย์เลยก็ว่าได้" พี่บอย ผู้ที่ใช้ชีวิตพึ่งพาป่าสาคู บ้านหัวพรุ จ.พัทลุงกล่าว ณ เวทีพูดคุยของกลุ่มอนุรักษ์ สาคูเป็นพืชตระกูลปาล์มพบในตอนใต้ของไทยและประเทศใกล้เคียง โดยเป็นพืชที่ดีต่อต่อทั้งสิ่งแวดล้อม ชุมชน และเศรษฐกิจท้องถิ่น 
 
ในด้านสิ่งแวดล้อม สาคูเป็นพืชที่ช่วยรักษา ชะลอ ดูดซับน้ำ เป็นฝายธรรมชาติ ทำให้พื้นที่ชุ่มชื้น เมื่ออยู่ริมตลิ่งช่วยรักษาการพังทลายของตลิ่งได้ เป็นแหล่งอาศัยสัตว์ อีกทั้งส่วนรากยังเป็นแหล่งวางไข่ อนุบาลปลา ตัวอ่อน ช่วยรักษาพันธุ์ปลาได้อีกทาง ซึ่งทั้งหมดนี้ป่าสาคูเป็นร ะบบนิเวศในตัวเอง
 
ในด้านประโยชน์ต่อชุมชนและเศรษฐกิจ สาคูเป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น เมื่ออายุราว 2 ปี ใบสามารถนำไปทำมุมหลังคา ห่ออาหาร ก้านทางนำไปทำเสื่อ ทำให้ชาวบ้านได้สารพัดประโยชน์และรายได้จากสิ่งนี้ โดยหลัง 8 ปี ขึ้นไปสาคูที่แก่จัดนั้นสะสมแป้งคุณภาพทางอาหารสูงนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย ทั้งขนม สาคูไส้ สาคูเปียก ซึ่งเปลือกต้นแก่จัดยังไปทำเฟอร์นิเจอร์ได้อีกด้วย โดยก่อนจะแก่ 8 ปีนั้น ต้นสาคูได้แตกสร้างต้นลูกเล็กๆไว้มากมาย 
 
"แป้งสาคูนั้นเป็นเพียงโบนัสหลัง 8 ปี แต่ก่อนหน้านั้นได้สร้างประโยชน์มากมายต่อชาวบ้าน และสิ่งแวดล้อมแล้ว" พี่บอยแห่งป่าสาคูกล่าว ซึ่งจากประโยชน์ข้างต้นเราสามารถเรียกได้เต็มปากว่าสาคูเป็นพืชมหัศจรรย์ที่ครบเครื่องเรื่องสร้างความยั่งยืนทั้งต่อชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม 

https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20200526/news_LZzKsRLOlT162209_533.jpg?v=20200602147?v=1441

 
ปัญหาสาคูและผลกระทบในปัจจุบัน
เป็นเรื่องที่น่าเสียดายวันนี้ต้นสาคูจำนวนลดน้อยลงอย่างมาก เหลือเพียง 10% จากอดีต และกำลังห่างหาย จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทางเกษตรของชาวบ้าน รวมถึงเป็นผลจากโครงการพัฒนาต่างๆของรัฐ โดยเฉพาะการขุดลอกคูคลอง ซึ่งทำให้พืชมหัศจรรย์นี้อาจหมดไปหากไม่เร่งแก้ไข และพัฒนาการอนุรักษ์ 
 
"ป่าสาคูผืนนี้เคยมี 200 ไร่ แต่ตอนนี้ที่เหลือเพียง 70 ไร่ เพราะโครงการต่างๆของรัฐ" พี่บอยเผยกลางป่าสาคู พร้อมชี้ให้ดูเสาไฟฟ้าแรงสูงตั้งอยู่กลางพื้นที่ที่เคยเป็นป่าสาคูมาก่อน 
 
"จากพืชชะลอน้ำ กลายเป็นพืชขวางทางน้ำ" การทำชลประทาน การถลุงขุดลอกคูคลองลึกมากขึ้นเรื่อยๆ จากภาครัฐและเอกชนเพื่อระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วมพร้อมเครื่องจักรใหญ่โต และการโค่นสาคูริมตลิ่ง ริมคลองทำให้สาคูลดหายไปมหาศาลทั้งในพื้นที่พัทลุง และจังหวัดใกล้เคียง 

https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20200526/news_LxEpCqussI162209_533.jpg?v=20200602147?v=4098

 
ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนและความมั่นคงทางอาหารอย่างมาก การขุดลอกคูคลองดึงน้ำป่าสาคูจนแห้ง พี่บอยเผยว่าตอนนี้ในผืนป่าแห้งแล้ง น้ำแห้งลง สาคูผอมลง ปลาที่เคยมาวางไข่อาศัยในป่าลดน้อยลง ซึ่งการทำลายต้นสาคูทำให้ตลิ่งพังง่ายขึ้น ระบบนิเวศเสียหาย 
 
จากสาคูที่ลดลง หายากขึ้นและปัจจัยอื่นๆ ทำให้วันนี้สาคูพัทลุงเหลือไม่ถึง 10% การทำอาหาร ขนมจากสาคูถูกทดแทนด้วยแป้งมันสำปะหลัง และถูดลดความสำคัญลงไปในสังคม 
 
สาคูฟีเวอร์และการขบคิดเพื่ออนุรักษ์พัฒนาป่าสาคู
ด้วยเทรนด์ขนมสาคูต้น"สาคูจริงๆ"จากพัทลุงที่เกิดขึ้นเป็น Fever อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ประกอบกับการฉุกคิดถึงปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการลดลงของป่าสาคู อย่างโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนา ทำให้เกิดเวทีพูดคุยกลางป่าสาคู หัวพรุ โดยกลุ่มอนุรักษ์ เมื่อวันสาร์ที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา  
 
โดยทุกท่านร่วมวงเห็นพ้องกันว่าเราควรอนุรักษ์ป่าสาคู เพิ่มพื้นที่ป่า ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการโครงสร้างพื้นฐานโดยภาครัฐให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชนมากขึ้น พร้อมผลักดันพัทลุงให้เป็นเมืองสีเขียว ที่เน้นสร้างความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ เกษตร-อาหารมั่นคงปลอดภัย เพิ่มมูลค่าสินค้า ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ยั่งยืน ซึ่งพัทลุงมีสถานที่ต่างๆสวยงาม และพืชอีกจำนวนมากที่เป็นประโยชน์ต่อจังหวัด 

https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20200526/news_RlcWfaXKQe162210_533.jpg?v=20200602147?v=5974

 
บทสรุป
''สาคู''เป็นหนึ่งในตัวอย่างของทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญในด้านต่างๆ แต่กลับถูกทำลายเพราะโครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ท่ามกลางปัญหาจากภาครัฐต่างๆมากมายที่ผุดขึ้น และประชาชนกำลังเรียกร้องความถูกต้อง อย่างการกุดหัวต้นไม้ กำแพงกันคลื่น การทำเขื่อน ชลประทาน การทำเหมืองระเบิดหิน การทำอุตสาหกรรม การทำข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการขุดลอกคูคลองที่เป็นการทำลายธรรมชาติท้องถิ่นนี้
 
อีกทั้งการพัฒนาอื่นๆ การเปลี่ยนแปลงทางพื้นที่ และสังคม ทำให้ทรัพยากรร่อยหรอ และกำลังหมดไป ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และเราทุกคน  
 
ดังนั้นเราทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน จึงควรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดไว้เพื่อสร้างความยั่งยืนแก่เราทุกคน 
"และอย่าลืมว่า สาคู ไม่ใช่แค่แป้งเท่านั้น" 

https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20200526/news_HzBSNrdnSv162210_533.jpg?v=20200602147?v=6402

ขอบคุณเวทีพูดคุย "สาคู: คน น้ำ ชีวิต เศรษฐกิจพัทลุง" ที่ชวนคุยประเด็นว่าสาคู สากู หรือสาใคร? จัดทำโดยสำนักคิดท้องถิ่นเพื่อสังคม ร่วมกับสำนักส่งเสริมบริหารวิชาการและภูมิปัญหาชุมชน จ.พัทลุง / สมาคมสร้างสุขชุมชนคนเมืองลุง / หน่วยจัดการ สสส. พัทลุง และมูลนิธิภาคใต้สีเขียว ที่ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของสาคูมากขึ้น 
.............................
คอลัมน์ พุ่มไม้ใบบัง
โดย "ร่มธรรม ขำนุรักษ์"
 
ทุกท่านสามารถฟังการสนทนาในเวทีได้ที่ https://www.facebook.com/freedommojo/videos/854299448381252/?vh=e&d=n
อุดหนุนแป้งสาคูพี่บอยและยายฉุย สาคูคุณภาพจากป่าสาคูพัทลุงได้ที่ แป้งสาคูต้นยายฉุย บ้านหัวพรุ
 
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาคูได้ที่
สาคู สากู หรือ สาใคร , ทั่วถิ่นแดนไทย
https://www.facebook.com/tuathindanthai/videos/241362803946507/?v=241362803946507