ตะลึง! พบอดีตปลัดฯ เวียงแก่น สวมสัญชาติให้ต่างด้าว บางรายชื่อโผล่ตั้ง 3 บริษัททุน 3,600 ล้าน
by ผู้จัดการออนไลน์เชียงราย - ดีเอสไอร่วมกับกรมการปกครอง ลุยสอบขบวนการสวมบัตร ปชช.ชายแดนเวียงแก่น พบอดีตปลัดฯ เอี่ยวสวมสัญชาติให้ต่างด้าวกว่า 250 คน บางรายถือพาสปอร์ตทั้งไทย-จีน มีชื่อโผล่ตั้ง 3 บริษัทในไทย ทุนจดทะเบียนรวมถึง 3,600 ล้าน
นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ มอบหมายให้ พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดี, ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล ผอ.กองคดีความมั่นคง และนายธวัชชัย รัตนปรีชาชัย ผู้อำนวยการส่วนคดีความมั่นคง 2 ร่วมกับนายวีระชาติ ดาริชาติ ผอ.สำนักบริหารการทะเบียน นายเอกอนันต์ ศรีอินทร์ ผอ.ส่วนป้องกันและปราบปรามการทุจริตการทะเบียนฯ กรมการปกครอง นายอุดม อยู่อินไกร นายอำเภอเวียงแก่น และตำรวจเชียงราย ตรวจสอบกรณีพบคนต่างด้าวสวมสิทธิสัญชาติไทย ในพื้นที่ชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้าน อ.เวียงแก่น ตลอดวันวานนี้ (26 พ.ค.)
หลังจากกรมการกงสุลได้แจ้งข้อมูลว่าพบนายแก้ว แซ่ลี ถือหนังสือเดินทางระหว่างประเทศถึง 2 ฉบับ ทั้งของไทยและสัญชาติจีน และเคยทำพิธีการผ่านการตรวจของ ตม.จีน เมื่อตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่านายแก้วเป็นชาวต่างด้าวสวมสัญชาติไทยโดยใช้วิธีสวมชื่อในบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ ณ สำนักงานทะเบียน อ.เวียงแก่น โดยมีอดีตปลัดอำเภอที่เคยทำงานที่ อ.เวียงแก่น ในฐานะผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอดำเนินการให้
ทางดีเอสไอจึงได้ส่งเรื่องให้กรมการปกครองเพิกถอนรายการสิทธิสัญชาติไทยและดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่เมื่อขยายผลร่วมกับสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครองแล้ว พบว่าในช่วงที่ปลัดอำเภอคนดังกล่าวทำหน้าที่ได้มีการสวมสิทธิในลักษณะดังกล่าวแก่บุคคลอื่นๆ รวมกันอีกกว่า 255 คน
ล่าสุดทางดีเอสไอจึงรับเป็นคดีพิเศษเรื่องสืบสวนที่ 23/2563 และได้นำหลักฐานทั้ง 255 คน ส่งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจ เช่น ลายนิ้วมือ เปรียบเทียบกับลายพิมพ์นิ้วมือกับผู้ทำบัตรประจำตัวบัตรประชาชนเพื่อพิสูจน์ตัวบุคคลที่แท้จริง ฯลฯ
ขณะเดียวกัน จากการตรวจสอบกับฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าในจำนวนนี้มีอยู่ 15 รายที่มีชื่อจดทะเบียนประกอบธุรกิจต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าว เป็นนิติบุคคลรวม 19 บริษัท ทั้งนี้ พบด้วยว่า 1 ใน 15 รายดังกล่าวได้จดทะเบียนนิติบุคคล 3 บริษัทมีทุนจดทะเบียนรวมกันไม่น้อยกว่า 3,600 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีสินทรัพย์ของนิติบุคคลรวมเกิน 100 ล้านบาท จึงเข้าข่ายลักษณะที่เป็นคดีพิเศษที่ดีเอสไอต้องบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิดได้
พ.ต.ท.ปกรณ์แถลงว่า ปัจจุบันดีเอสไอมุ่งดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกรณีการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 อย่างเด็ดขาดและครอบคลุมทุกมิติ เพื่อคุ้มครองธุรกิจที่คนไทยไม่พร้อมที่จะแข่งขันกับนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะกรณีคนต่างด้าวสวมสิทธิเป็นคนไทยโดยมิชอบแล้วเข้าไปถือหุ้นแทน หรือเป็นนอมินี เพื่ออำพรางว่าเป็นธุรกิจของคนไทยด้วย ทั้งนี้จะมีการตรวจสอบที่มาของแหล่งเงินทุนของธุรกิจว่าเข้าข่ายการกระทำผิดตามกฎหมายฟอกเงินด้วยหรือไม่อีกด้วย
“หากประชาชนมีข้อมูลหรือเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำผิดดังกล่าว สามารถแจ้งมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ที่สายด่วน DSI Call Center 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) โดยดีเอสไอจะเก็บรักษาข้อมูลผู้แจ้งเบาะแสไว้เป็นความลับต่อไป” พ.ต.ท.ปกรณ์กล่าว