"สาวยาคูลท์"เติมของตู้ปันสุข ปณิธานการให้ไม่มีสิ้นสุด
เรื่องราวยาคูลท์ในสัปดาห์นี้ ขอพาไปพูดคุยกับ''คุณเจี๊ยบ''สาวยาคูลท์หัวใจแห่งการแบ่งปัน ขอตั้งมั่นเติมของในตู้ปันสุข เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อน
“สังคมแห่งการให้ไม่มีสิ้นสุด”.. คงเป็นคำที่บอกเล่าเรื่องราวของ ''สาวยาคูลท์'' ในสัปดาห์นี้ได้ดีที่สุด เรามาพูดคุยกับ “คุณพัชราภา ลิ้มกุสุมาวดี” หรือ เจี๊ยบ อายุ 32 ปี สาวยาคูลท์ที่ทำงานมามากกว่า 5 ปี แต่ด้วยภาระทางบ้านจึงต้องลาออกจากงาน แต่ในวันที่เธอเลือกกลับมาทำงานกับ ''ยาคูลท์'' อีกครั้ง ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา เธอได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแห่งการแบ่งปัน ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
โดย “คุณพัชราภา” เผยว่า ปกติส่ง ''ยาคูลท์'' ในเขตซอยวิภาวดี64ถึงโรงงานยาคูลท์ ซึ่งจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่หลายๆคนคงจะทราบกันดีอยู่แล้วจากข่าวสารที่จะพบเห็นโรงงาน บริษัทต่างๆปิดตัวลงไป คนตกงาน ว่างงานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ตัวเจี๊ยบเองก็เห็นสิ่งเหล่านั้นได้จากประสบการณ์ตัวเองโดยตรง จากการที่เราได้พูดคุยกับลูกค้าที่เขาได้รับผลกระทบ ก็ทำให้เรามองเห็นความเดือดร้อนของเพื่อนร่วมสังคมได้อย่างชัดเจนจริงๆ
ประกอบกับเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ระหว่างที่ขี่มอเตอร์ไซค์ในเขตพื้นที่เพื่อไปส่งยาคูลท์ให้กับลูกค้าซึ่งเป็นพี่ๆวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างบริเวณวงเวียนวิภาวดี60 ที่จะดื่มยาคูลท์ทุกวัน วันละ 2 ขวดกัน ก็เห็นว่าไม่ใกล้ไม่ไกลมี “ตู้ปันสุข” อยู่จึงอยากนำของที่เรามีไปช่วยเหลือบ้าง
บางครั้งก็ไปช่วยลูกค้าที่เป็นพี่ๆวินมอเตอร์ไซค์ที่เขาช่วยดูแลตู้ปันสุข กรอกข้าวสารแบ่งเป็นถุงเพื่อเติมในตู้ ตัวเราเองก็นำทั้งหน้ากากอนามัย สบู่ ยาสีฟัน ของที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ รวมไปถึงข้าวสารไปใส่ในตู้ด้วย แต่ละครั้งก็จะสังเกตว่าอะไรขาดไปบ้าง ก็นำของที่ขาดมาเพิ่มเติมสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป
“จริงๆแล้วเป็นคนเราที่ช่วยเหลือคนอื่นตามโอกาสต่างๆอยู่เสมอ อย่างบางครั้งเล่นเฟซบุ๊ก เห็นคนที่เดือดร้อนจริงๆ ก็เช็กข้อมูลว่าจริงไหม หรือองค์กุศลต่างๆ เราก็โอนเงินไปช่วยเขาบ้าง ครั้งละไม่ได้มากมายอะไร 20 บาทบ้าง 100 บาทบ้าง หรือบางครั้งก็รวมของกับเพื่อนๆไปบริจาคบ้าง ให้ตามกำลังที่เรามี ไม่ให้เดือดร้อนตัวเอง อย่างการเติมของที่ “ตู้ปันสุข”
เราก็ไปสำเพ็งเพื่อซื้อหน้ากากอนามัย หรือสิ่งของอื่นๆมาใช้เอง อาศัยว่าซื้อจำนวนมาก แล้วแบ่งมาช่วยคนที่เขาเดือดร้อน ส่วนค่าใช้จ่ายในส่วนที่ช่วยเหลือคนอื่น ก็จะแยกไว้ต่างหากนอกจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันกับเงินเก็บ อย่างการซื้อของ แบ่งของใส่ตู้ปันสุขก็แยกไว้ประมาณเดือนละ 600-700 บาท”
ถ้าถามว่าจะข่าวต่างๆที่เห็นว่ามีคนมาหยิบของหรือโกยของในตู้ไปครั้งละมากๆ ก็รู้สึกว่าจะทำให้แบ่งปันคนอื่นๆได้ไม่ทั่วถึง แต่เราก็ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วแต่ละคนมีความเดือดร้อนไม่เท่ากันก็ได้ ถามว่าหมดศรัทธาในการทำความดีไหม? ก็คงไม่หมดไปหรอกค่ะ ลองคิดว่าถ้าทุกคนท้อแท้ไม่อยากทำความดี สังคมเราจะเป็นอย่างไร คงจะไม่น่าอยู่มากๆ ถ้า 1 ให้ ก็จะมีอีกหลายๆคนได้รับ
“มีอยู่ครั้งหนึ่ง ระหว่างที่กำลังนำของไปเติม เราเห็นบางคน เขามายืนรอของที่คนอื่นมาช่วยเหลือได้คุยกับเขาก็พบว่าเขาเดือดร้อนมากๆ เขาเข้ามาขอบคุณเรา ที่ช่วยทำให้วันนั้นของเขาดีขึ้น ก็รู้สึกว่าของที่เราให้แม้ไม่ได้มากมาย แต่สิ่งที่เราทำนั้นเกิดประโยชน์ ได้ช่วยคนอื่นได้ เท่านั้นใจก็เป็นสุขแล้วล่ะค่ะ”
นอกจากนี้ คุณพัชราภา ได้บอกความในของเธออีกว่า การทำดีของแต่ละครั้งนั้น ไม่ได้ทำเพราะอยากสร้างภาพแต่อย่างใด อยากทำแบบเงียบๆ แม้ว่าการไปเติมของใน “ตู้ปันสุข” จะถูกนักข่าวถ่ายภาพและไปออกอากาศนั้น จะทำให้มีภาพของเธอปรากฎในสื่อ ซึ่งแรกๆก็อึดอัด แปลกๆที่มีคนเข้ามาทัก เกรงว่าจะมองว่าเราสร้างภาพ แต่ก็มาคิดได้ว่าเราคงจะไปห้ามความคิดใครไม่ได้ ถ้ามัวแต่คิดว่าใครจะคิดเห็นอย่างไร ชีวิตก็ไม่มีความสุข เปลี่ยมองเรื่องที่เกิดขึ้นว่าเป็นสิ่งที่ดี อย่างการที่มีลูกค้าฝากของไปเติมในตู้ปันสุขบ้าง
และมีหนึ่งสิ่งหนึ่งจากเรื่องราวที่เกิดขึ้น ที่ประทับอยู่ในใจของเธออย่างที่สุดมาจนถึงตอนนี้ คือการที่ “ผู้บริหารยาคูลท์” มองเห็นเรื่องราวของเธอ ที่เป็นพนักงานตัวเล็กๆคนนี้ ทั้งยังชื่นชม สนับสนุนให้ทำความดีต่อไปโดยไม่ต้องเขินอาย
รวมทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับพนักงานยาคูลท์คนอื่นๆ รวมตัวกันช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจากวิกฤตโควิด-19 ร่วมสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันให้สังคมไทยน่าอยู่ เพราะความสุขของการเป็นผู้ให้ ไม่มีสิ้นสุดจริงๆ...