WHO เตือนชาติติดเชื้อลดอย่าวางใจ เสี่ยงเจอจุดพีกรอบสองหากผ่อนคลายล็อกดาวน์เร็วเกิน
by ผู้จัดการออนไลน์เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ - องค์การอนามัยโลกเตือนในวันจันทร์ (25 พ.ค.) ประเทศต่างๆ ที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) กำลังลดลงเรื่อยๆ อาจยังเผชิญกับ “จุดสูงสุดรอบสองอย่างทันทีทันใด” หากผ่อนคลายมาตรการสกัดการแพร่ระบาดเร็วเกินไป
ดอกเตอร์ ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการฝ่ายโครงการฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวระหว่างแถลงสรุปทางออนไลน์ ว่าโลกยังคงอยู่ท่ามกลางระลอกคลื่นแรกของการแพร่ระบาด และแม้กำลังลดลงในหลายประเทศ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอเมริกากลาง อเมริกาใต้ เอเชียใต้ และ แอฟริกา
ส่วนผู้แทนพิเศษรายหนึ่งประจำองค์การอนามัยโลก เตือนเช่นกันว่า ในขณะที่จนถึงตอนนี้แอฟริกายังรอดพ้นจากสถานการณ์แพร่ระบาดเลวร้ายของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ แต่ทางองค์การอนามัยโลกกังวลว่าทวีปแห่งนี้อาจเจอ “โรคระบาดใหญ่เงียบ” หากว่าพวกผู้นำประเทศต่างๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญลำดับต้นๆกับการตรวจเชื้อ
ไรอันบอกว่า โรคระบาดต่างๆ บ่อยครั้งที่มาในลักษณะระลอกคลื่น ซึ่งนั่นหมายความว่า การแพร่ระบาดของโรคอาจหวนคืนมาอีกรอบในช่วงปลายปีนี้ ในประเทศต่างๆ ที่การแพร่ระบาดระลอกแรกลดน้อยถอยลงแล้ว นอกจากนี้แล้ว ยังมีโอกาสที่อัตราการติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้ง หากว่ามาตรการต่างๆ ที่กำหนดออกมาเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดระลอกแรกนั้นถูกยกเลิกเร็วเกิน
“เมื่อเราพูดถึงความคลาสิกของระลอกสอง บ่อยครั้งที่เราหมายถึงก็คือ ระลอกแรกของโรคระบาดเอง และจากนั้นมันจะโผล่ขึ้นมาอีกครั้งในอีกไม่กี่เดือนถัดมา และสิ่งนี้อาจกลายเป็นจริงสำหรับหลายประเทศในช่วงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า” ไรอันกล่าว
“เราจำเป็นต้องตระหนักว่าโรคติดต่อนี้สามารถทะยานขึ้นได้ทุกเมื่อ เราไม่สามารถทึกทักไปว่า เพียงเพราะว่าโรคระบาดกำลังอยู่ในช่วงขาลง แล้วมันจะดิ่งลงไปเรื่อยๆ เรามีเวลาหลายเดือนสำหรับเตรียมพร้อมรับมือระลอกคลื่นที่ 2 บางทีเราอาจเผชิญกับจุดพีกที่ 2 ของคลื่นนี้”
เขาบอกว่า ประเทศต่างๆ ในยุโรปและอเมริกาเหนือ “ควรเดินหน้าบังคับใช้มาตรการด้านสุขภาพและทางสังคมต่อไป เช่นเดียวกับมาตรการเฝ้าระวัง มาตรการตรวจโรคและมียุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมเพื่อรับประกันว่าเราจะอยู่ในวงโคจรขาลงต่อไป และเราจะไม่เผชิญกับจุดพีกรอบที่ 2 อย่างทันทีทันใด”
คำเตือนนี้มีขึ้นในขณะที่หลายประเทศในยุโรปและรัฐต่างๆ ของสหัรฐฯค่อยๆ ทยอยผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ซึ่งกำหนดออกมาเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่อีกด้านหนึ่งมันได้ก่อความเสียหายแก่เศรษฐกิจอย่างรุนแรง