รบ.เยอรมนีบรรลุข้อตกลงทุ่ม 3.1 แสนล้าน อุ้ม “ลุฟท์ฮันซ่า” สายการบินแห่งชาติ

by
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005614901.JPEG

รอยเตอร์ - เยอรมนีมอบสายหล่อเลี้ยงชีวิตแก่ลุฟท์ฮันซ่า สายการบินแห่งชาติในวันจันทร์ (25 พ.ค.) ด้วยการอนุมัติเงินช่วยเหลือ 9,000 ล้านยูโร (310,000 ล้านบาท) แลกกับสิทธิ์วีโต้ในกรณีที่ต้องเผชิญกับการยื่นซื้อกิจการแบบไม่เป็นมิตรเข้ามา

ในการให้ความช่วยเหลือบริษัทเยอรมนีครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แพร่ระบาด จะได้เห็นรัฐบาลเข้าถือหุ้นของสายการบินลุฟท์ฮันซ่า 20% และอาจเพิ่มเป็น 25% กับอีก 1 หุ้น ในกรณึที่มีความพยายามเข้ามาเทกโอเวอร์ ในความเคลื่อนไหวที่พวกเขาพยายามปกป้องการจ้างงานหลายพันอัตรา

รัฐบาลจะซื้อหุ้นใหม่ในราคา 2.56 ยูโร/หุ้น รวมเป็นเงิน 300 ล้านยูโร อย่างไรก็ดี ข้อตกลงดังกล่าวจะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น และคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เสียก่อน

ลุฟท์ฮันซ่า ติดหล่มอยู่ในการเจรจากับรัฐบาลเยอรมนีมานานหลายสัปดาห์ เกี่ยวกับเงินช่วยเหลือที่จำเป็นสำหรับความอยู่รอดท่ามกลางแนวโน้มอุปสงค์ด้านการเดินทางดำดิ่งเป็นเวลานาน โดยประเด็นสำคัญที่พูดคุยกันคือสายการบินแห่งนี้จะยอมให้รัฐบาลเข้ามาควบคุมมากน้อยแค่ไหนเพื่อแลกกับการสนับสนุนทางการเงิน

รัฐบาลกลางของเยอรมนีใช้เวลานานหลายทศวรรษในการปล่อยหุ้นที่ถือครองในบริษัทต่างๆ แต่พวกเขาก็ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในอดีตกิจการต่างๆ ที่ผูกขาดโดยรัฐ อาทิ ดอยช์ โพสต์ (บริษัทไปรษณีย์) และดอยช์ เทเลคอม (ธุรกิจโทรคมนาคม) นอกจากนี้แล้วเบอร์ลินยังคงถือครองหุ้น 15% ในธนาคารคอมเมิร์ซแบงก์ด้วย ซึ่งเข้าถือครองระหว่างวิกฤตการเงินโลก

นอกจากลุฟท์ฮันซ่าแล้ว สายการบินอื่นๆ อย่าง แอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม ซึ่งเป็นสายการบินสัญชาติฝรั่งเศส กับ เนเธอร์แลนด์, อเมริกัน แอร์ไลน์ส, ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส และเดลตา แอร์ไลน์ส 3 สายการบินสัญชาติสหรัฐฯ ก็ต้องการเงินช่วยเหลือจากภาครัฐเช่นกัน หลังวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ส่งผลกระทบต่อการเดินทางทั่วโลก

กระทรวงการคลังและเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยในวันจันทร์ (25พ.ค.) ว่า ลุฟท์ฮันซ่าเคยเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งและมีกำไร เช่นเดียวกับมีแนวโน้มการดำเนินงานที่ดี แต่สายการบินแห่งนี้ต้องดิ่งเข้าสู่ปัญหาสืบเนื่องจากโรคระบาดใหญ่

ลุฟท์ฮันซ่าเปิดเผยว่า เงื่อนไขของการรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ยังรวมถึงการงดจ่ายเงินปันผล และลดค่าตอบแทนสำหรับฝ่ายบริหาร นอกจากนี้ รัฐบาลจะส่งเจ้าหน้าที่ 2 รายเข้าร่วมคณกรรมการดูแลบริษัท ซึ่งหนึ่งในนั้นจะเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม เยอรมนี ซึ่งจัดตั้งเงินทุน 100,000 ล้านยูโร สำหรับเข้าถือหุ้นในบริษัทต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ เผยว่า มีแผนจะขายหุ้นลุฟท์ฮันซ่าออกไปในช่วงปลายปี 2023 เมื่อบริษัทแห่งนี้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง