https://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2020/05/9B8527BA-1FFB-4D1F-BC39-18518C429634.jpeg

การบินไทยต้องอ่าน ‘สื่อศาล’ เปิดไทม์ไลน์ ขั้นตอน ฟื้นฟู ภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย

by

การบินไทยต้องอ่าน “สื่อศาล” เปิดไทม์ไลน์ ขั้นตอนศาลล้มละลาย ตั้งเเต่ยื่นฟื้นฟูกิจการจนถึงศาลสั่งยกเลิกฟื้นฟูกิจการ ช้าเร็วต้องทำอย่างไร

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเพจในเฟซบุ๊ก “สื่อศาล” ซึ่งเป็นเพจที่ให้ข้อมูลข่าวสารของศาลยุติธรรมไปยังบุคลากรในองค์กรและสังคม ได้เผยแพร่บทความข้อกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไทยเเละสหรัฐอเมริกาซึ่งเขียนโดย ดร.กนก จุลมนต์ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาเเผนกคดีล้มละลาย และรองเลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายเนติบัณฑิตยสภา มีข้อความว่า

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ตอนที่ 2: กระบวนพิจารณาจะเร็วหรือจะช้าขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง?

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 หมวด 3/1 กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2541 ตลอดระยะเวลา 22 ปี ที่ผ่านมา กฎหมายในส่วนนี้ช่วยพลิกฟื้นบริษัท จํากัดและบริษัทมหาชนไม่น้อยกว่า 900 กิจการ มีมูลหนี้รวมกันกว่าล้านล้านบาท กระบวนการฟื้นฟูกิจการเริ่มต้น ด้วยการยื่นคําร้องขอจนกระทั่งดําเนินการเป็นผลสําเร็จตามแผนและศาลมีคําสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ แม้กระบวนพิจารณาเริ่มต้นตั้งแต่วันยื่นคําร้องขอ แต่กิจการจะเริ่มฟื้นฟูตามแผนได้ก็ต่อที่ประชุมเจ้าหนี้ ยอมรับแผนและศาลมีคําสั่งเห็นชอบด้วยแผนโดยมีการตั้งผู้บริหารแผน เมื่อนั้นแผนจึงมีผลผูกมัดลูกหนี้และเจ้าหนี้ ดังนั้น ขั้นตอนในช่วงแรกไม่ว่าจะเป็นการยื่นคําร้องขอ การไต่สวนคําร้องขอการที่ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ การที่ศาลมีคําสั่งตั้งผู้แทน การที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติยอมรับแผน จนกระทั่งถึงก่อนที่ศาลมีคําสั่งเห็นชอบด้วยแผน บริษัทลูกหนี้จะยังไม่ได้เริ่มปรับโครงสร้างหนี้และหรือปรับโครงสร้างองค์กรตามแผน รวมทั้งเจ้าหน้ีจะยังไม่ได้รับชําระหนี้ตามแผน

สิ่งที่ลูกหนี้และหรือผู้ทําแผนสามารถกระทําได้ในระหว่างที่ศาลรับคําร้องขอจนกระทั่งถึงก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งเห็นชอบด้วยแผนคือ “การกระทําที่จําเป็นเพื่อให้การดําเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดําเนินต่อไป ได้” เว้นแต่ศาลล้มละลายกลางจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่นตามมาตรา 90/12 (9) ประกอบมาตรา90/25 หมายความว่า หากลูกหนี้และหรือผู้ทําแผนจะชําระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทําการใดๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินที่ไม่ใช่การ ดําเนินการค้าตามปกติ ลูกหนี้และหรือผู้ทําแผนจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลางก่อน หากกระทําการ ดังกล่าวโดยศาลไม่อนุญาต การทํานิติกรรมหรือการชําระหนี้ใดๆ นั้นเป็นโมฆะ และบุคคลที่ฝ่าฝืนอาจต้องระวาง โทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือจําคุกไม่เกิน 3 ปีหรือทั้งปรับทั้งจํา ตามมาตรา 90/82

ดังนั้นการที่จะทําให้บริษัทลูกหนี้เริ่มฟื้นฟูได้เร็ว ซึ่งจะส่งผลให้เจ้าหนี้เริ่มได้ร้บชำระหนี้ด้วยนั้น จึงต้องเร่งกระบวนพิจารณาให้ศาลมีคําสั่งเห็นชอบด้วยแผนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทําได้ตามขั้นตอนที่กฎหมายกําหนด โดยเฉลี่ยระยะเวลาตั้งแต่วันยื่นคําร้องขอจนกระทั่งถึงวันที่ศาลมีคําสั่งเห็นชอบด้วยแผนอยู่ระหว่าง 8 เดือน ถึง 1 ปี

กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

1.การยื่นและการรับคําร้องขอ (มาตรา 90/6, 90/7 และ 90/9) เมื่อผู้ร้องขอซึ่งอาจเป็นลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ยื่นคําร้องขอต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว การพิจารณาว่าจะรับ หรือไม่รับคําร้องขอเป็นเรื่องระหว่างศาลกับผู้ร้องขอ ไม่เกี่ยวกับผู้มีส่วนได้เสียคนอื่นๆ ปัจจัยในการใช้เวลา พิจารณาคําร้องขอขึ้นอยู่กับรายละเอียดคําร้องขอและเอกสารประกอบว่ามีมากน้อยเพียงใด และมีความซับซ้อน ขนาดไหน หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ามีรายละเอียดครบถ้วน ศาลก็จะมีคําสั่งรับคําร้องขอ

โดยปกติแล้ว หากผู้ร้องขอยื่นคําร้องขอในช่วงเช้า ศาลสามารถพิจารณาคําร้องขอให้แล้วเสร็จในช่วงบ่าย หรือหากยื่นในช่วงบ่าย ศาลสามารถพิจารณาคําร้องขอให้แล้วเสร็จได้ไม่เกินวันทําการถัดไป ผลของการที่ศาล รับคําร้องขอที่สําคัญที่สุดคือ ก่อให้เกิดสภาวะพักการชําระหนี้ (automatic stay) ตามมาตรา 90/12

2.กระบวนการภายหลังศาลรับคําร้องขอและการนัดไต่สวนคําร้องขอ (มาตรา 90/9)

ภายหลังศาลมีคําสั่งรับคําร้องขอไว้เพื่อพิจารณา ศาลไม่สามารถไต่สวนคําร้องขอและมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการในวันที่ยื่นคําร้องขอได้เลยเนื่องจากมาตรา 90/9 กําหนดไว้ว่า ให้ศาลประกาศคําสั่งรับคําร้องขอและวัน เวลานัดไต่สวนในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อย 1 ฉบับ ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ห่างกันไม่เกิน 7 วัน กับให้ ส่งสําเนาคําร้องขอแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายเท่าที่ทราบ และแก่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อนายทะเบียนจะได้จดแจ้งคําสั่งศาลไว้ในทะเบียน ทั้งนี้ ให้ส่งก่อนวันไต่สวนไม่น้อยกว่า 7 วัน

เงื่อนไขข้างต้นมาจากหลักพื้นฐานของกฎหมายวิธีพิจารณาความข้อหนึ่งว่า ก่อนเริ่มกระบวนการใดๆ จะต้องแจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบล่วงหน้า โดยให้เวลาพอสมควรแก่ผู้มีส่วนได้เสียในการตรวจเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาว่าจะคัดค้านหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมในการดําเนินคดีคดีจะเร็ว หากประกาศในหนังสือพิมพ์เพียง 2 ครั้ง และประกาศติดกัน 2 วัน สิ่งที่ต้องใช้เวลาคือ การส่งสําเนาคําร้องขอแก่เจ้าหนี้ เพราะในการส่งหากไม่พบเจ้าหนี้หรือบุคคลใดที่บ้านหรือที่ทํางานของเจ้าหนี้ก็จะต้อง ส่งสําเนาคําร้องขอด้วยวิธีปิดหมาย ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.) มาตรา 79 กําหนดให้ มีผลใช้ได้ต่อเมื่อกําหนดเวลา 15 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้วนับตั้งแต่ปิดหมาย ดังนั้นระยะเวลาที่จะถือว่าได้ส่งสําเนาคํา ร้องขอโดยวิธีปิดหมายโดยชอบคือ ไม่น้อยกว่า 15+7 = 22 วัน ก่อนวันไต่สวน ในทางทฤษฎี วันไต่สวนคําร้อง ขอที่เร็วที่สุดคือ วันที่ 23 หรือ 24 นับแต่วันยื่นคําร้องขอ

อย่างไรก็ตาม วันที่กําหนดนัดไต่สวนอาจต้องขยายออกไปอีก หากมีเจ้าหนี้ที่อยู่ต่างประเทศ เนื่องจากการ ส่งสําเนาคําร้องขอจะมีผลใช้ได้ต่อเมื่อพ้นกําหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ได้มีการส่ง เว้นแต่เจ้าหนี้มีการตั้งตัวแทน ในการรับคําคู่ความไว้ในประเทศไทย ระยะเวลามีผลจะสั้นลงเหลือ 30 วัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 83 ทวิ, 83 จัตวา, 83 เบญจ, 83 ฉ และ 83 สัตต ประกอบข้อกําหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการส่งหมายเรียกและคําฟ้องตั้งต้น คดีเเก่จําเลย ที่ภูมิลําเนาหรือสํานักทําการงานของจําเลยนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2558

ในทางปฏิบัติ เมื่อศาลล้มละลายกลางรับคําร้องขอแล้ว จะนัดไต่สวนประมาณ 1-2 เดือน นับแต่วัน รับคําร้องขอ ขึ้นอยู่กับจํานวนเจ้าหนี้และภูมิลําเนาของเจ้าหนี้ เนื่องจากก่อนเริ่มกระบวนการไต่สวนคําร้องขอ การส่งสําเนาคําร้องขอแก่เจ้าหนี้ทุกรายต้องชอบด้วยกฎหมาย มิฉะนั้น ต้องเลื่อนการไต่สวนปัจจัยสําคัญที่สุดที่จะช่วยย่นระยะเวลาในการนัดไต่สวนคําร้องขอคือ รายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้ที่ชัดเจนและเป็นปัจจุบัน โดยเป็นหน้าที่ของผู้ร้องขอที่ต้องแนบมาพร้อมคําร้องขอ ความสมบูรณ์ของรายชื่อและที่อยู่ของ เจ้าหนี้ยังส่งผลถึงขั้นตอนการกําหนดวันนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนและวันที่ศาลนัดพิจารณาให้ความ เห็นชอบด้วยแผน เนื่องจากก่อนจะเริ่มการประชุมเจ้าหนี้และการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผน ก็ต้องส่งหมายนัดแจ้งให้เจ้าหนี้ทั้งหลายทราบโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนเช่นกัน

อนึ่งคดีจะเร็วหากศาลล้มละลายกลางตกลงกับคู่ความและบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมทั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เกี่ยวกับรายละเอียดและผลทางกฎหมายในส่วนวิธีการติดต่อระหว่างกันว่าให้สามารถกระทำโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นตามข้อกำหนดคดีล้มละลาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 23, 34/1 และ 68 ประกอบข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการยันส่งและรับคำคู่ความและเอกสารทางระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2560

3.การไต่สวนคําร้องขอและคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ (มาตรา 90/10)

3.1 คดีจะเร็ว ในกรณีที่ไม่มีผู้คัดค้านคําร้องขอ ศาลจะงดการไต่สวนและมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเลยก็ได้หรือหากจะมีการไต่สวน ก็เป็นการไต่สวนเฉพาะพยานของผู้ร้องขอ ซึ่งสามารถไต่สวนให้แล้วเสร็จได้ภายในหนึ่งวัน และศาลอาจมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการในวันดังกล่าวได้

3.2 คดีจะช้าในกรณีที่มีผู้คัดค้านอาจจะทําให้การไต่สวนพยานของผู้ร้องขอและผู้คัดค้านไม่สามารถ กระทําได้ภายในหนึ่งวันซึ่งจะส่งผลให้การวินิจฉัยของศาลว่าจะมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือไมล่าช้าออกไป

4.การตั้งผู้แทน (มาตรา 90/17)

ในคําร้องขอ ผู้ร้องขอจะต้องระบุชื่อและคุณสมบัติของผู้ทําแผนตามมาตรา 90/6 (4)

4.1 คดีจะเร็ว ในวันที่ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ศาลสามารถมีคําสั่งตั้งผู้ทําแผนตามที่ผู้ร้องขอเสนอพร้อม กับคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการได้เลย หากไม่มีการคัดค้านในส่วนผู้ทําแผน หรือมีการคัดค้านผู้ทําแผนแต่ผู้คัดค้านไม่ได้ เสนอชื่อผู้ทําแผนอีกคนเข้าแข่ง และศาลเห็นว่าผู้ทําแผนที่ผู้ร้องขอเสนอเหมาะสม

4.2 คดีจะช้า หากผู้คัดค้านเสนอผู้ทําแผนอีกคนเข้าแข่ง ศาลจะต้องมีคําสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายเพื่อเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทําแผน ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีก 1-2 เดือน กว่าจะได้ผู้ทําแผนตัวจริง

5.ระยะเวลาในการจัดทําแผน (มาตรา 90/43)

เมื่อศาลมีคําสั่งตั้งผู้ทําแผนแล้ว ผู้ทําแผนมีระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันโฆษณาคําสั่งตั้งผู้ทําแผนใน ราชกิจจานุเบกษาในการจัดทําแผนคดจีะเร็วหากบริษัทลูกหนี้เตรียมการเกี่ยวกับรายละเอียดของแผนไว้ตั้งแต่ก่อนยื่นคําร้องขอแล้ว เมื่อศาลมีคําสั่งตั้งผู้ทําแผนแล้ว ผู้ทําแผนสามารถเสนอแผนในวันรุ่งขึ้นหรือภายใน 15 วันหรือ 30 วันก็ได้ เพราะกฎหมายกําหนดไว้เพียงว่าให้จัดทําแผนให้แล้วเสร็จไม่เกิน 3 เดือน

6.การประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ (มาตรา 90/44-90/48)

เมื่อผู้ทําแผนส่งแผนให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะนัดประชุมเจ้าหนี้ เพื่อปรึกษาลงมติว่าจะยอมรับแผนหรือไม่ หรือจะแก้ไขอย่างไร กฎหมายกําหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องส่ง หมายนัดประชุมให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายโดยชอบด้วยกฎหมาย และโฆษณากําหนดการประชุมดังกล่าวใน เว็บไซต์กรมบังคับคดีล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 10 วัน ด้วยเหตุนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่ สามารถนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนทันทีในวันที่ผู้ทําแผนส่งแผน เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติยอมรับแผน ด้วยจํานวนหนี้ข้างมากตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 90/46 แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงรายงานมติดังกล่าวต่อศาล

7.การพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ (มาตรา 90/56-90/58)

ก่อนที่จะถึงวันที่ศาลกําหนดนัดพิจารณาแผนว่าศาลจะเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ จะต้องแจ้งกําหนดวันนัดพิจารณาแผนให้เจ้าหนี้ทั้งหลายทราบโดยชอบด้วยกฎหมายล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน

8. การดําเนินการภายหลังศาลมีคําสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ (มาตรา 90/60-90/62, 90/70 และ 90/75)

8.1 ระยะเวลาดําเนินการตามแผนซึ่ง ไม่เกิน 5 ปี ตามมาตรา 90/42 (9) อาจขยายได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี ตามมาตรา 90/63 วรรคสอง ระยะเวลาดําเนินการตามแผนคือ ระยะเวลาที่ผู้บริหารแผนต้อง บริหารกิจการของบริษัทลูกหนี้ภายใต้การกํากับของศาลล้มละลายกลางและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ระยะเวลา ดําเนินการตามแผนสามารถกําหนด 1 ปี หรือ 2 ปี ก็ได้ เพราะกฎหมายบังคับเพียงว่าไม่ให้เกิน 5 ปี นอกจากนั้น หากบริษัทลูกหนี้สามารถดําเนินการเป็นผลสําเร็จตามแผนก่อนระยะเวลาที่ระบุไว้ในแผน ศาลก็ สามารถมีคําสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการได้เลย

8.2 กรณีระยะเวลาดําเนินการตามแผนเป็นระยะเวลาเดียวกันกับระยะเวลาชําระหนี้ เมื่อดําเนินการเป็นผลสําเร็จตามแผนและศาลมีคําสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ บริษัทลูกหน้ีก็ไม่ต้องชําระหนี้ในส่วนที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการอีกต่อไป

8.3 กรณีระยะเวลาชําระหนี้ยาวกว่าระยะดําเนินการตามแผนซึ่งผู้ทําแผนสามารถกําหนดในแผนได้เนื่องจากกฎหมายให้ศาลพิจารณาเฉพาะระยะเวลาดําเนินการตามแผนว่าไม่เกิน 5 ปี เช่น ระยะเวลาดําเนินการ ตามแผน 5 ปี โดยมีระยะเวลาชําระหนี้ท้ังหมด 12 ปี การพิจารณาว่าบริษัทลูกหนี้ฟื้นฟูกิจการสําเร็จหรือไม่ ศาล พิจารณาเฉพาะตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในช่วงระยะเวลาดําเนินการตามแผน หากดําเนินการเป็นผลสําเร็จตามแผน ศาลก็มีคําสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ โดยหนี้ส่วนที่เหลืออีก 7 ปี ยังมีผลผูกมัดให้ลูกหนี้ต้องชําระหนี้แก่เจ้าหนี้ แต่เป็นการชําระหนี้ต่อนอกศาล

โดยสามารถติดตามอ่านข้อกฎหมายควรรู้ได้ทางเพจ เฟซบุ๊ก สื่อศาลตามลิงก์ข้างล่างนี้

https://www.facebook.com/pr.coj/posts/573703439998321?__tn__=K-R-R-R