อเมริกาสั่งแบนนักเดินทางจากบราซิล ญี่ปุ่นยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินทั่ว ปท.

by
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005610401.JPEG
ผู้คนพักผ่อนอาบแดดที่หาดบอร์นมัธ ในเมืองบอร์นมัธ ทางภาคใต้ของอังกฤษ วันจันทร์ (25 พ.ค.)

เอเจนซีส์ - ยอดผู้ติดเชื้อในบราซิลยังพุ่งไม่หยุด ขณะที่สถานการณ์การระบาดในอเมริกาใต้ ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 5.4 ล้านคน และเสียชีวิตเฉียด 350,000 คน ทางด้านอเมริกาประกาศงดรับนักเดินทางจากแดนแซมบ้า ขณะที่ญี่ปุ่นยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ มีผลทันทีตั้งแต่วันจันทร์ (25 พ.ค.)

นอกจากทำให้มีผู้เจ็บป่วยล้มตายนับล้าน โควิด-19 ยังส่งผลกระทบหนักหน่วงต่อเศรษฐกิจโลก บีบให้ประเทศต่างๆ ต้องอัดฉีดมาตรการเยียวยา ทั้งสำหรับภาคธุรกิจและประชาชน รวมทั้งผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่กับการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดรอบสอง

สเปนหนึ่งในประเทศที่มีการระบาดรุนแรงที่สุดของยุโรป ผ่อนคลายมาตรการจำกัดในมาดริดและบาร์เซโลนา และเปิดสวนสาธารณะเรทิโรในเมืองหลวงครั้งแรกในรอบ 10 สัปดาห์เมื่อวันจันทร์

ขณะเดียวกัน สาธารณรัฐเช็กที่มีผู้ติดเชื้อสะสมเกือบ 9,000 คน เตรียมเปิดร้านอาหาร บาร์ สระว่ายน้ำ และธุรกิจอีกหลายประเภทเร็วๆ นี้ รวมทั้งจะอนุญาตการจัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมไม่เกิน 300 คน และยกเลิกคำสั่งสวมหน้ากากในที่สาธารณะ ยกเว้นในร้านค้าและระบบขนส่งสาธารณะ

กรีซอนุญาตให้ร้านอาหารและร้านกาแฟที่อยู่นอกอาคารเปิดให้บริการอีกครั้งในวันจันทร์ ส่วนกรุงเรคยาวิกของไอซ์แลนด์จะอนุญาตให้ไนต์คลับและบาร์เปิดให้บริการเร็วๆ นี้ เช่นเดียวกับสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์ในกรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก รวมถึงสระว่ายน้ำและศูนย์กีฬาในโรมของอิตาลี

ทางด้านเอเชีย นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินในโตเกียวและอีก 4 จังหวัดที่เหลือ โดยมีผลทันทีนับจากวันจันทร์ ทั้งนี้ เขากล่าวว่า สามารถควบคุมการระบาดในเวลาเพียง 1 เดือนครึ่ง ซึ่งสะท้อนความเข้มแข็งของการรับมือ “แบบญี่ปุ่น”

ผู้นำแดนอาทิตย์อุทัยสำทับว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 ฉบับ ที่ประกาศไปแล้วอาจมีมูลค่าเกิน 200 ล้านล้านเยน และเสริมว่า ยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการกลับคืนสู่ภาวะปกติควบคู่กับการควบคุมความเสี่ยงในการระบาดรอบใหม่

นอกจากนั้น คณะที่ปรึกษาของรัฐบาลยังเตือนให้จับตาสถานการณ์ในโตเกียว คานากาวะ และ ฮอกไกโด อย่างใกล้ชิด เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงผันผวน

สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเครายงานว่า ญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อสะสมจนถึงขณะนี้กว่า 16,600 คน และเสียชีวิต 839 คน

https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005610402.JPEG
ผู้นิยมอาบแดดพักผ่อนตามอัธยาศัยโดยเว้นระยะห่างตามพื้นที่ซึ่งกั้นเชือกและปักไม้เอาไว้เป็นเครื่องหมาย ณ ชายหาด ลา กรองด์ มอต ทางภาคใต้ของฝรั่งเศส วันอาทิตย์ (24 พ.ค.)

สำหรับละตินอเมริกาที่กลายเป็นศูนย์กลางการระบาดแห่งใหม่ โดยเฉพาะบราซิล ประเทศที่มีขนาดใหญ่อันดับ 6 ของโลก ที่มีผู้ติดเชื้อถึง 360,000 คน สูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากอเมริกา และมีผู้เสียชีวิตกว่า 22,000 คน

วันอาทิตย์ (24) ทำเนียบขาวแถลงว่า อเมริกาจะงดรับนักเดินทางที่ไม่ใช่พลเมืองสหรัฐฯ ที่อยู่ในบราซิล 14 วันก่อนการเดินทาง ตอกย้ำความกังวลของทั่วโลกที่มีต่อสถานการณ์การระบาดในแดนแซมบ้า

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู ของบราซิล ซึ่งเป็นพันธมิตรกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของอเมริกา ยังคงโจมตีว่า มาตรการล็อกดาวน์ไม่มีความจำเป็นและทำลายเศรษฐกิจ รวมทั้งยังเพิกเฉยต่อกฎการเว้นระยะห่างทางสังคมด้วยการไปร่วมการชุมนุมหน้าทำเนียบประธานาธิบดีเมื่อวันอาทิตย์ ซึ่งในระหว่างนั้นเขายังถอดหน้ากากต่อหน้าฝูงชน จับมือและสวมกอดผู้สนับสนุน

เช่นเดียวกับทรัมป์ที่ยังคงไม่พอใจมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งส่งผลให้มีคนว่างงานในอเมริกาถึง 40 ล้านคน ในขณะนี้ ผู้นำสหรัฐฯ กำลังผลักดันอย่างก้าวร้าวให้ยกเลิกมาตรการจำกัดต่างๆ เพื่อรีสตาร์ทเศรษฐกิจ แม้ยอดผู้เสียชีวิตในประเทศจ่อหลัก 100,000 คนก็ตาม

วันอาทิตย์ ทรัมป์ออกไปเล่นกอล์ฟเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน เพื่อโน้มน้าวให้ผู้คนเห็นว่า สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว หลังจากเขาห่างหายแฟร์เวย์ไปตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม

ทั้งนี้ แม้ผู้เชี่ยวชาญไม่เห็นด้วยกับการปลดล็อกเร็วเกินไป และแนะนำให้ใช้มาตรการกักตัวบางรูปแบบจนกว่าจะมีวัคซีนหรือยารักษา แต่รัฐบาลหลายประเทศกำลังถูกกดดันมากขึ้นให้ผ่อนคลายการล็อกดาวน์

ในส่วนของอินเดียอนุญาตให้เที่ยวบินภายในประเทศเปิดให้บริการอีกครั้งในวันจันทร์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ชะงักงันให้เดินหน้าต่อ อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังเพิ่มขึ้นไม่หยุด ทำให้ทั้งผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่สายการบินต่างกังวลกับความเสี่ยงในการเดินทาง