https://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2020/05/away.jpg
(ภาพ-Pixabay)

สะพานแห่งกาลเวลา : โควิด กับ สิ่งแวดล้อม โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

by

มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ระหว่างที่เราถูกสถานการณ์บังคับให้อยู่แต่กับบ้าน รถราจอดนิ่งอยู่กับที่ การจราจรบนท้องถนนหลงเหลือแต่เฉพาะที่จำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น เครื่องบินที่เคยสัญจรขวักไขว่บนท้องฟ้าหายไปจนเกือบหมด

ในห้วงเวลานั้น สภาวะแวดล้อมโดยรวมๆ ของโลกดีขึ้น

ท้องฟ้าสดใส กระจ่าง หมอกควันและไอพิษ ลดน้อยลง หายใจได้เต็มปอดมากขึ้น

สัตว์ป่าออกมาเตร็ดเตร่บนท้องถนนในหลายๆ เมืองของโลก สะท้อนให้เห็นว่า ที่ผ่านมา เราเบียดเบียนบีฑาพวกมันในนามของ “ความจำเป็นเพื่อการครองชีพ” มากน้อยเพียงใด

เหล่านั้นเป็นการแสดงออกถึงห่วงโซ่สัมพันธ์ระหว่างการใช้ชีวิตของเรากับธรรมชาติได้อย่างแจ่มชัด แม้ว่าจะเป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งก็ตามที

อีกหลายคนบอกว่าการแพร่ระบาดของ โควิด-19 แสดงให้เห็นถึง “อันตราย” ของการไปยุ่มย่ามทำลายธรรมชาติไปเรื่อยๆ มากขึ้นและมากขึ้น แบบหลับหูหลับตา

ถ้ามนุษย์ ยังคงรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบเห็นแก่ตัวเองเป็นหลัก ยึดถือเอาแต่ความต้องการของตัวเองเป็นที่ตั้งอย่างนี้ โควิด-19 จะไม่ใช่การแพร่ระบาดของเชื้ออุบัติใหม่ครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน

ยิ่งมนุษย์เรารุกรานธรรมชาติ เบียดบังเอาธรรมชาติมาเป็นของตัวเองมากขึ้นเท่าใด การตอบโต้ทำนองเดียวกันนี้ก็จะเกิดขึ้นอีกนับครั้งไม่ถ้วน

อันที่จริง กลุ่มและองค์กรระหว่างประเทศเพื่อสิ่งแวดล้อม พากันยกปี 2020 นี้ขึ้นมาให้เป็น “ซุปเปอร์ เยียร์” ของ “ความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์และพืช”

เพราะว่า ความตกลงระดับโลกของนานาชาติว่าด้วยเรื่องนี้ กำหนดจะบรรลุถึงขั้นตอนสุดท้าย เพื่อสรุปผลและลงนามกันขึ้น

แต่โรคระบาดใหม่อย่างโควิด-19 ทำให้เรื่องนั้นต้องยกเอาไว้ก่อนอีกครั้ง สหประชาชาติผู้เป็นเจ้าภาพการหารือต้องเลื่อนกำหนดออกไปก่อน

ในเวลาเดียวกัน โควิด-19 ก็สะท้อนความหมายและความสำคัญของธรรมชาติต่อคนเราให้เห็นกันได้ชัดมากขึ้น

นักนิเวศวิทยาอย่าง แซนดรา ดิแอซ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติ คอร์โดบา ในอาร์เจนตินา บอกว่า วิดีโอที่แสดงให้เห็นสัตว์ป่าเข้ามาเพ่นพ่านตามชายหาด อาจทำให้หลายคนคิดว่า นั่นคือการ “ฟื้นกลับมาของธรรมชาติ” ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วไม่ใช่

พวกมันถูกละเว้นจากการเบียดเบียนบีฑาเพียงชั่วขณะ แล้วก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น

นั่นอาจเป็นสัญญาณดีขึ้นบ้าง แต่หากต้องการป้องกันไม่ให้เกิดการกระโดดของเชื้อจากสัตว์ป่ามาสู่มนุษย์อีกในอนาคต เรายังจำเป็นต้องทำอีกมากเหลือเกิน

ทั้งต่อสัตว์ ต่อน้ำ ต่อป่า ต่อพันธุ์พืชทั้งหลายทั่วโลก

ความคิดริเริ่มเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อตกลงในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ซีบีดี) และสนธิสัญญาเพื่อความคุ้มครองมหาสมุทร คือส่วนหนึ่งของความพยายามเหล่านั้น

ในขณะที่ทุกอย่าง ถูกระงับไปไม่มีกำหนดเพราะโควิด แต่โควิด ก็ช่วยสร้างสรรค์โอกาสให้มีการ “รีเซต” ความสัมพันธ์ระหว่างคนเรากับธรรมชาติเสียใหม่ ให้ดีขึ้นกว่าเดิม เอื้อเฟื้อ อาทร ซึ่งกันและกันมากกว่าเดิม และที่สำคัญที่สุดคือควรต้องเป็นความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนมากกว่าเดิม

เอลิซาเบธ มารูมา เอ็มเรมา รักษาการเลขาธิการบริหารของ ซีบีดี ชี้ให้เห็นว่า โควิด-19 ตอกย้ำในสิ่งที่คนเรารู้กันอยู่ก่อนแล้วว่า ความหลากหลายทางชีวภาพนั้นเป็นพื้นฐานสำคัญของสุขภาวะมนุษย์

เธอคาดหมายว่า ทุกคนจะเข้าใจธรรมชาติได้มากขึ้น ทำความรู้จัก คุ้นเคยและใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้นจากวิกฤตครั้งนี้

ที่น่าสนใจก็คือ หลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคพื้นยุโรป เริ่มเรียกร้องมากขึ้นแล้วว่า หลังวิกฤตผ่านไป การฟื้นฟูขึ้นมาใหม่จำเป็นต้องคำนึงถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับแรก

กรรมาธิการยุโรป องค์กรบริหารของอียู ประกาศจะคุ้มครอง อนุรักษ์ 30 เปอร์เซ็นต์ของผืนดินและท้องทะเลของอียูไว้ให้ได้ ลดการใช้ยาฆ่าแมลงลง 50 เปอร์เซ็นต์ เปลี่ยน 50 เปอร์เซ็นต์ของฟาร์มเกษตรกรรมที่มีให้เป็นฟาร์มออร์แกนิค ภายในปี 2030 นี้เท่านั้น

อีกบางคนคาดหวังว่า สังคมส่วนใหญ่ในโลกจะเข้าใจและตื่นรู้มากขึ้น ว่าควรทำอย่างไรถึงจะไม่ให้มีโควิดขึ้นอีกครั้งในอนาคต

ซึ่งหนีไม่พ้นการ “รีเซต” สัมพันธภาพใหม่ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมหลังโควิด-19

การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่จำกัดแคบเพียงหวังผลตัวเลขจีดีพีสูงๆ และเม็ดเงินรายได้มากๆ อย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว