https://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2019/06/%E0%B8%94%E0%B8%A3.%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A2.jpg
ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล

“อัยการธนกฤต”ถอดบทเรียนฟื้นฟู”ทีพีไอ”ที่”บินไทย”ต้องระวัง!!!

by

“อัยการธนกฤต”ถอดบทเรียนทีพีไอสู่การฟื้นฟูบินไทย ชี้เเผนเกือบล้ม  ผุ้บริหารแผนเจ้าหนี้รวมหัวกันแปลงดอกเบี้ยเป็นหุ้นไม่ลดหนี้ เจ้าหนี้เป็นถือหุ้นใหญ่ฮุบกิจการ ย้ำคุณสมบัติผู้ทำเเผน ผู้บริหารแผนต้องมีความชำนาญ ชื่อสัตย์ ไม่เอื้อกลุ่มอำนาจ คอยควบคุมตรวจสอบค่าใช้จ่ายเเผนไม่สูงเกินสมควร

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล  อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลไทย (ทุน ก.พ.) ตามความต้องการของกรมบังคับคดีไปศึกษาต่อกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส และอดีตเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี ได้โพสต์ความเห็นเรื่องการฟื้นฟูการบินไทย มีความว่า

ผู้บริหารแผน ผู้กุมชะตาชีวิตของการบินไทย : ถอดบทเรียนมหากาพย์ฟื้นฟูทีพีไอ ที่การบินไทย ลูกหนี้ต้องระวัง

เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว อำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการกิจการและทรัพย์สินของผู้บริหารลูกหนี้ คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (การบินไทย) จะสิ้นสุดลง และถูกโอนถ่ายมายังบุคคลอื่นเป็นการชั่วคราว จนในที่สุดจะตกมาสู่ผู้บริหารตัวจริงคือ ผู้บริหารแผน ซึ่งจะทำหน้าที่ในการบริหารจัดการกิจการและทรัพย์สินของการบินไทยไปตลอดในระหว่างกระบวนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยโดยแผนฟื้นฟูกิจการจะเป็นตัวกำหนดว่าใครจะเป็นผู้มาบริหารแผน ถ้าฝ่ายการบินไทยหรือฝ่ายรัฐได้เป็นผู้ทำแผนก็จะเป็นข้อดีในการกำหนดตัวผู้บริหารแผนได้ แต่ตามกฎหมายล้มละลายของไทยมีความไม่แน่นอนว่าผู้ทำแผนจะเป็นคนของฝ่ายการบินไทยหรือฝ่ายรัฐ ผู้ทำแผนอาจมาจากฝ่ายเจ้าหนี้ก็ได้ หากเจ้าหนี้คัดค้านผู้ทำแผนที่ลูกหนี้เสนอ และลงมติตั้งผู้ทำแผนจากฝ่ายตนเข้ามาแทน

ซึ่งแตกต่างจากประมวลกฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกา Chapter 11 และมาตรา 363 ที่กำหนดให้ลูกหนี้ยังคงมีอำนาจบริหารกิจการ และจัดการทรัพย์สินด้วยตนเองต่อไปได้ (Debtor in possession) ภายใต้เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ศาลและกฎหมายกำหนด เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเห็นสมควร      ศาลอาจแต่งตั้งบุคคลภายนอกผู้มีความเชี่ยวชาญให้มีอำนาจดำเนินกิจการและจัดการทรัพย์สินแทนลูกหนี้ได้และมาตรา 1121 ที่กำหนดให้สิทธิเด็ดขาดลูกหนี้แต่เพียงผู้เดียวที่จะเป็นผู้ทำแผน เว้นเสียแต่ลูกหนี้จะไม่เสนอแผนภายในระยะเวลาที่กำหนด ตามกฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกา ฝ่ายลูกหนี้จึงเป็นทั้งผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน และผู้บริหารกิจการของตนเองด้วย เนื่องจากเล็งเห็นว่า ลูกหนี้ย่อมเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจกิจการของตนเองและสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นได้ดีที่สุด

กรณีศึกษา การฟื้นฟูกิจการของทีพีไอ เมื่อผู้บริหารแผนและเจ้าหนี้รวมหัวกัน ลูกหนี้หรือจะรอด

ในการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย มีหลายสิ่งหลายอย่างในกระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) (ทีพีไอ) ที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ในปี 2543 ตามที่เจ้าหนี้ทั้งในไทยและต่างประเทศยื่นคำร้องขอต่อศาล ที่การบินไทยและฝ่ายรัฐ และผู้เกี่ยวข้องควรนำมาศึกษาและใช้เป็นข้อควรระวัง ถึงแม้การบินไทยจะมีสถานะเดิมเป็นรัฐวิสาหกิจก่อนที่รัฐจะลดสัดส่วนการถือหุ้น และรัฐยังคงครองสัดส่วนการถือหุ้นจำนวนมากในการบินไทย ในขณะที่ทีพีไอมีสถานะเป็นเอกชน  เมื่อพิจารณาจากการที่ทีพีไอประกอบธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจร เช่นเดียวกับการบินไทยที่ประกอบธุรกิจการบินครบวงจร และทั้งทีพีไอและการบินไทยต่างเป็นหนี้เจ้าหนี้รวมกันในระดับหลักแสนล้านบาท โดยทีพีไอมีมูลหนี้รวมกันประมาณ 130,000 ล้านบาท ขณะที่การบินไทยมีมูลหนี้ประมาณ 250,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ธุรกิจของทีพีไอและการบินไทยล้วนเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงด้านการพลังงาน เศรษฐกิจและการคมนาคมของประเทศ และประการที่สำคัญ ธุรกิจของทีพีไอและการบินไทยล้วนเป็นที่หมายปองของบรรดาเจ้าหนี้  กลุ่มทุนเจ้าของธุรกิจรายใหญ่ ทั้งในไทยและต่างประเทศ และกลุ่มผู้มีอำนาจ ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการและบริหารผลประโยชน์ในกิจการและกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งนั้น

เมื่อครั้งที่ทีพีไอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ บริษัท เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด       ซึ่งตั้งขึ้นโดยฝ่ายเจ้าหนี้โดยความเห็นชอบของศาลล้มละลายกลาง เป็นทั้งผู้ทำแผนและผู้บริหารแผน  ในระหว่างนั้นมีความขัดแย้งอย่างมากระหว่างผู้บริหารทีพีไอ ลูกหนี้ กับคณะกรรมการเจ้าหนี้และบริษัท เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด ผู้บริหารทีพีไอ ลูกหนี้ จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขอให้เพิกถอนบริษัท ฯ ซึ่งเป็นฝ่ายเจ้าหนี้ ออกจากการเป็นผู้ทำแผนและผู้บริหารแผน โดยอ้างเหตุผลหลายอย่าง เช่น บริษัท ฯ ไม่มีประสบการณ์และความรู้ความชำนาญในการบริหารธุรกิจปิโตรเคมีแบบครบวงจร ทำให้กิจการของลูกหนี้แทนที่จะดีขึ้นกลับมีผลประกอบการที่แย่ลงกว่าเดิม พยายามที่จะขายกิจการและทรัพย์สินของบริษัทฯ  แทนที่จะฟื้นฟูกิจการของบริษัท ฯ ให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ โอนหุ้นของทีพีไอโดยตรงให้กับเจ้าหนี้ซึ่งขัดกับแผนฟื้นฟู แปลงดอกเบี้ยที่ค้างชำระเป็นหุ้นของทีพีไอ โดยไม่มีการลดหนี้ (Hair Cut) เพื่อให้เจ้าหนี้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ครอบครองกิจการของทีพีไอ ใช้จ่ายเงินสูงเกินสมควรสร้างความเสียหายแก่ลูกหนี้ในหลาย ๆ เรื่อง  เช่น เบิกเงินเป็นค่าวิชาชีพให้แก่ตัวเองที่เป็นผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนเป็นเงินประมาณ340 ล้านบาท เบิกเงินค่าใช้จ่ายให้แก่ที่ปรึกษากฎหมายและที่ปรึกษาอื่น ๆ รวมทั้งกรรมการเจ้าหนี้เป็นเงินประมาณ 489 ล้านบาท เบิกเงินค่าจ้างบริการรักษาความปลอดภัยเดือนละประมาณ 54 ล้านบาท จ้างที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการผลิตน้ำมันในสหรัฐอเมริกาโดยไม่มีความจำเป็น ทั้งที่ทีพีไอมีผู้ปฏิบัติงานประจำซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการผลิตน้ำมันอยู่แล้ว รวมถึงข้อกล่าวหาอื่น ๆ ว่า บริษัท ฯ ขาดความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือในการบริหารแผน ซึ่งข้อพิพาทระหว่างผู้บริหาร ทีพีไอ ลูกหนี้ กับบรรดาเจ้าหนี้และบริษัท ฯ ผู้บริหารแผนมีเป็นจำนวนมากและยืดเยื้อต่อเนื่องในศาลเป็นเวลาหลายปี

ในที่สุดศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้บริษัท ฯ พ้นจากตำแหน่งผู้บริหารแผน และมีคำสั่งตั้งกระทรวงการคลังโดยคณะบุคคล จำนวน 5 คน ให้เข้ามาเป็นผู้บริหารแผนแทน โดยมีนโยบายในการดำเนินการคือ

1.ทีพีไอต้องดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างมั่นคง

2.พนักงานของทีพีไอ ทั้ง 8,000 คน ต้องไม่ตกงาน

3. เจ้าหนี้ต้องได้รับเงินคืน

4. ทีพีไอ ลูกหนี้ ต้องได้รับความเป็นธรรม

และได้มีการปรับปรุงแก้ไขแผน บริหารและฟื้นฟูกิจการของทีพีไอต่อมา จนทีพีไอมีผลประกอบการที่ดีขึ้นมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นและหนี้สินลดลง และฟื้นกิจการกลับมามีกำไร และต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ทีพีไอออกจากการฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่  26 เมษายน 2549 เมื่อการฟื้นฟูกิจการของทีพีไอประสบผลสำเร็จตามแผนและต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. จนถึงปัจจุบันนี้

มีสิ่งหนึ่งที่สังคมให้ความชื่นชมกับทีพีไอ คือ การที่ทีพีไอฟื้นกิจการกลับมาเป็นปกติได้ปัจจัยส่วนหนึ่งที่สำคัญเป็นเพราะพนักงานของทีพีไอมีความผูกพันต่อองค์กรที่สูงและมีความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกันต่อสู้เรียกร้องความถูกต้องและความเป็นธรรมให้แก่ทีพีไอมาโดยตลอด

ถ้านับจากวันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2543 จนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้ว กระบวนการฟื้นฟูกิจการของทีพีไอใช้ระยะเวลานานถึง 6 ปีเศษ สาเหตุสำคัญที่ทำให้การฟื้นฟูกิจการของทีพีไอต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน นอกจากเป็นเพราะจำนวนหนี้ที่สูงเป็นแสนล้านบาทขนาดองค์กรที่ใหญ่ จำนวนพนักงานที่มากถึงประมาณ 8,000 คน และความซับซ้อนของปัญหาแล้ว น่าจะเป็นเพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้และผู้บริหารแผนอย่างรุนแรง     ในหลาย ๆ เรื่องรวมทั้งการที่ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนขาดประสบการณ์ ความรู้ความชำนาญในการบริหารธุรกิจปิโตรเคมีแบบครบวงจรด้วย

ถอดบทเรียนจากกรณีทีพีไอสู่การฟื้นฟูกิจการของการบินไทย

1. การบินไทยถึงแม้จะไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้วแต่ก็ยังคงเป็นสายการบินของชาติ เป็นหน้าเป็นตาและเป็นความภาคภูมิใจของคนในชาติ และเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศโดยตรง ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ฝ่ายการบินไทย ลูกหนี้หรือฝ่ายรัฐ หรือฝ่ายเจ้าหนี้ จึงต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน และที่สำคัญต้องเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ของเจ้าหนี้ กลุ่มทุนเจ้าของธุรกิจรายใหญ่ และกลุ่มอำนาจต่าง ๆ

2. แผนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยต้องเป็นไปเพื่อฟื้นฟูกิจการของการบินไทยให้กลับคืนดีดังเดิมจนมีผลประกอบการที่ดีสามารถเพิ่มจำนวนสินทรัพย์และลดภาระหนี้สินที่มีอยู่ จนกลับมาทำกำไรได้ไม่ใช่เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ กลุ่มทุนเจ้าของธุรกิจรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ หรือกลุ่มอำนาจต่าง ๆ

3. ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนต้องมีประสบการณ์และความรู้ความชำนาญในธุรกิจการบินแบบครบวงจร เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการของการบินไทยประสบผลสำเร็จโดยเร็ว

4. ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนต้องได้รับการยอมรับจากฝ่ายการบินไทย ลูกหนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งที่จะทำให้การฟื้นฟูกิจการของการบินไทยต้องสะดุดหยุดลง

5. ต้องมีการควบคุมและตรวจสอบของผู้เกี่ยวข้องไม่ให้ค่าใช้จ่ายในการทำแผนและในการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยสูงเกินสมควร

6. พนักงานของการบินไทยต้องมีความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกันเช่นเดียวกับพนักงานของทีพีไอเพื่อความอยู่รอดขององค์กร