ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ฯเปิดปมพิรุธ จุดใดที่สงสัย'อมยิ้ม-อิ่มบุญ'ป่วย
ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ แถลง ‘น้องอมยิ้ม’ – ‘น้องอิ่มบุญ’ รักษาตามสิทธิ์ กองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยเด็ก เผยพิรุธ ที่ทำให้ทีมแพทย์สงสัยอาการป่วยของเด็กทั้ง 2 คน
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ และดร.ขนิษฐา บูรณพันธ์ศักดิ์ หัวหน้างานสังคมสงเคราะห์ ได้ร่วมกันแถลงข่าวการรักษา น้องอมยิ้ม และน้องอิ่มบุญ โดย รศ.นพ.พฤหัส กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.61 แม่ของน้องอมยิ้ม วัย 3 ปี 7 เดือน ได้นำตัวลูกสาวมารักษาที่โรงพยาบาล เนื่องจากอาเจียนเป็นสีดำคล้ำ ผู้ปกครองแจ้งว่าเด็กแพ้ยา azithromycin, แพ้ซีอิ้ว อาหารทะเล ถั่ว เนื้อวัว แป้งสาลี แบบรุนแรง (anaphylaxis) ซึ่งจะวนเวียนรับการรักษาจากโรงพยาบาลถึง 7 ครั้ง จนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 ต.ค.62
ต่อมาวันที่ 13 ม.ค.63 แม่ของ ด.ช.อิ่มบุญ ได้นำตัวลูกเข้ารักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เนื่องจากมีอาการอาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเหลวสีดำ ปวดท้อง มีอาการหลังจากกินปลาหมึกย่าง โดยกรณีของน้องอมยิ้ม ทางทีมแพทย์ผู้รักษาได้ร่วมประชุมสืบค้นข้อมูลการรักษาย้อนหลัง เมื่อวันที่ 14 พ.ค.63 ลงความเห็นว่าปัญหาที่พบขณะรักษา ดังนี้ 1.เลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน จากการตรวจวินิจฉัยที่ทำทั้งการส่องกล้องทางเดินอาหาร ตรวจชิ้นเนื้อเยื่อบุหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และตรวจหาเชื้อ ผลการตรวจพบเม็ดเลือดขาวที่เกี่ยวข้องกับภาวะภูมิไวในทางเดินอาหาร ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การแพ้อาหาร หรือการได้รับสารบางอย่าง อย่างไรก็ตาม ได้ให้การรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกันหลายชนิดแล้วไม่ตอบสนองต่อยา และไม่สามารถควบคุมภาวะเลือดออก ทีมแพทย์จึงลงความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยได้รับสารบางอย่างที่มีฤทธิ์ทำให้เยื่อบุหลอดอาหารและกระเพาะอาหารอักเสบ
2.ความดันโลหิตสูง จากการตรวจวินิจฉัยที่ทำทั้งการตรวจเลือด การฉีดสีหลอดเลือดไต การใช้คลื่นแม่เหล็กตรวจหลอดเลือด (MRI, MRA) รวมถึงการผ่าตัดไตออกบางส่วน เนื่องจากข้อมูลเบื้องต้นที่บ่งชี้ว่าอาจจะเป็น reninoma ก็พบว่าผลตรวจปกติ ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อเด็กอยู่ในหอผู้ป่วยวิกฤต การควบคุมความดันทำได้ดี และสามารถลดยาลดความดันได้อย่างรวดเร็ว แต่ความดันกลับสูงขึ้นใหม่เมื่อเด็กออกจากหอผู้ป่วยวิกฤต ไปอยู่ในการดูแลของผู้ปกครองจนต้องเพิ่มยาควบคุมความดันหลายชนิด และเป็นปรากฏการณ์ที่พบซ้ำๆ ทีมแพทย์จึงลงความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยได้รับสารบางอย่างที่มีฤทธิ์เพิ่มความดันโลหิตในร่างกายโดยตั้งใจ 3.ตับวายเฉียบพลัน การตรวจหาสาเหตุตามมาตรฐานรวมถึงการตรวจชิ้นเนื้อ ไม่สามารถหาสาเหตุได้ชัดเจน แต่เนื่องจากเป็นช่วงท้ายของชีวิต ทีมแพทย์มีเวลาตรวจหาสาเหตุไม่นานพอ ไม่สามารถลงความเห็นว่าเกิดจากสาเหตุอะไร
ส่วน ด.ช.อิ่มบุญ ขณะที่อยู่รักษาตัวที่โรงพยาบาลนั้นได้รับการดูแลต่อเนื่องดังนี้ 1.แผลรูเปิดของหลอดอาหารด้านข้างคอ ยังคงมีอาหารออกมาที่แผลนี้เมื่อกินหรือดื่ม รักษาโดยทำแผล และรอให้แผลปิดเอง ในการตรวจติดตาม ถ้ารูเปิดไม่เล็กลง จะพิจารณาผ่าตัดปิดรูโดยกุมารศัลยแพทย์ 2.เสียงแหบ และมีเสมหะขณะกินอาหาร ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการการอักเสบของกล่องเสียงเนื่องจากการสำลักสารกัดกร่อนร่วมกับการใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นเวลานาน รักษาโดยติดตามและอาจพิจารณาส่องกล้องตรวจกล่องเสียง และตรวจปัญหาการกลืนต่อไป
3.นิ้วโป้งและนิ้วชี้มือขวาข้อสุดท้ายเป็นเนื้อตาย นิ้วชี้เนื้อตายหลุดออกไปแล้ว ดูแลโดยทำแผลให้วันละครั้ง สำหรับนิ้วโป้งรอให้เนื้อตายหลุดออกเอง หลังจากแผลหายดี สามารถฝึกให้เด็กใช้นิ้วมือ เพื่อลดข้อจำกัดการใช้นิ้วมือ และค่ารักษาน้องอิ่มบุญนั้นอยู่ที่ประมาณ 1 แสนกว่าบาท 4.อาการเหนื่อยเมื่อเล่น เป็นผลจากมีการอักเสบรุนแรงของปอด เกิดการอักเสบเรื้อรังตามมา โดยอาการดีขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้จะมีการนัดตรวจติดตามกับกุมารแพทย์ และศัลยแพทย์
ด้านดร.ขนิษฐา บูรณพันธ์ศักดิ์ หัวหน้างานสังคมสงเคราะห์ กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ ได้มีกองทุนที่ช่วยเหลือผู้ป่วยผู้ยากไร้อยู่แล้ว ส่วนเรื่องข้อมูลต่างๆ นั้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามอยู่ในระหว่างหาหลักฐานซึ่งทางแพทย์ก็ไม่ขอเปิดเผยอะไรมาก และขณะนี้น้องอิ่มบุญอยู่การในดูแลของกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.