‘คราฟต์โนแมดส์’ เรื่องเล่าบน ‘หน้ากากผ้า’ หัตถกรรมยั่งยืนจากวิถีชุมชน
by ชนากานต์ ปานอ่ำในวันที่วิกฤตการณ์ “โควิด-19” ยืดเยื้อ และงานแสดงสินค้าถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด กลุ่มผู้ผลิตงานฝีมือคือผู้ได้รับผลกระทบลำดับแรกๆ ไม่เพียงแต่รายได้ในส่วนนี้หดหาย ทว่า สภาวะภัยแล้งยังกระหน่ำซ้ำเติมให้การผลิตงานด้านการเกษตรเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่หนักหนาพอกัน
เพื่อต่อลมหายใจให้คนเหล่านี้ CraftNomads (คราฟต์โนแมดส์) โดย สุนิตย์ เชรษฐา จาก ChangeFusion และอีก 2 ผู้ร่วมก่อตั้ง ในฐานะกลุ่มคนที่เห็นคุณค่าของงานศิลปะ งานฝีมือ หัตถกรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมพื้นเมือง และคุณค่าความเป็นมนุษย์ของศิลปิน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายอนุรักษ์วัฒนธรรม ความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นให้ยั่งยืน โดยให้ความเคารพต่อรากเหง้า ที่มา และอัตลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรม จึงร่วมกับ Craft Artisans หรือศิลปินงานคราฟต์ทั้ง 3 แบรนด์ ประกอบด้วย ภูคราม (Bhukram), วันทา (Vanta) และ โฟล์คชาร์ม (FolkCharm) ริเริ่มโครงการ Craft It Forward จำหน่ายหน้ากากผ้าสุดพิเศษ ทำจากผ้าฝ้ายธรรมชาติ ย้อมสีธรรมชาติ และมีความปลอดภัย
ทั้งหมดยืนอยู่บนหลักการเดียวกัน นั่นคือ 1.พัฒนาชุมชนควบคู่ไปกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม 2.ให้ความเป็นธรรมกับศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน 3.มีความรับผิดชอบและเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และ 4.สนับสนุนแฟชั่นเนิบช้าที่ยั่งยืน
นอกเหนือจากแนวคิดและกระบวนการผลิตอย่างลุ่มลึกแล้ว คราฟต์โนแมดส์ยังจะนำรายได้หลังการจำหน่ายหน้ากากผ้า 20% บริจาคให้โครงการหน้ากากผ้าสำหรับเด็กขาดโอกาสที่ชายขอบ โดยวิสาหกิจเพื่อสังคม ๑4๑ สนับสนุนหน้ากากผ้าให้กับเด็กๆ ในชุมชนตะเข็บชายแดนที่ขาดโอกาส และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 อีกด้วย
ไม่เพียงแต่ช่วยรักษ์โลก งดสร้างขยะมลพิษ แต่หน้ากากผ้าหนึ่งชิ้นที่สามารถนำกลับมาซักใช้ได้ใหม่ยังช่วยเหลือศิลปิน ช่างฝีมือ ช่วยชาวบ้านในชุมชนที่ได้รับผลกระทบได้ในเวลาเดียวกัน
ผ้าฝ้ายปักมือ เล่าวิถีชุมชน
เสน่ห์ล้นเหลือ กลุ่มคราฟต์ ‘ภูคราม’
งานทุกชิ้นจากกลุ่มคราฟต์ ภูคราม สร้างสรรค์ขึ้นจากผ้าฝ้ายทอมือ เข็นมือ ย้อมสีธรรมชาติ โดยชาวบ้านใน ชุมชนภูพาน จ.สกลนคร โดดเด่นด้วยลวดลายปักสวยงามที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติรอบตัวบนเทือกเขาภูพาน รวมถึงวิถีชีวิตของชุมชน
ด้วยความถนัดด้านประวัติศาสตร์ชุมชน ปิลันธน์ ไทยสรวง จึงมุ่งเน้นให้สินค้าภูครามเล่าถึงกระบวนการทำงาน ทั้งในเชิงอนุรักษ์วิถีภูมิปัญญาดั้งเดิมและการอนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่
“การทำงานกับชุมชนตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมามีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป แต่เกิดการจ้างงานจริง ตั้งแต่การปลูกฝ้ายตามหัวไร่ปลายนาที่ไม่ได้เยอะมาก เพราะไม่ได้ทำเป็นอุตสาหกรรม หากต้องการเพิ่มเติมก็ไปซื้อจากที่อื่น ส่วนการย้อมสีธรรมชาติใช้วัตถุดิบในพื้นที่ 100 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีการตัดเย็บ การปัก ซึ่งจ้างงานในชุมชนทั้งหมด
“ภูครามเองเป็นการฟื้นฟูและสร้างใหม่ โดยการฟื้นฟูนั้น แต่ก่อนชาวบ้านทำผ้าก็จริงแต่ห่างจากการทำผ้ามากว่า 20 ปี ทำบ้าง ไม่ทำบ้าง ความเชี่ยวชาญลดน้อยลง น้อยคนที่ยังทำต่อเนื่อง เมื่อมาจับงานตรงนี้จึงต้องมีการฟื้นฟู ฝึกฝนใหม่ บางคนทำใหม่หมดเลย ส่วนเรื่องการปักผ้า ต้องบอกว่าแถวนี้ไม่มีวัฒนธรรมการปักผ้าอย่างจริงจัง จึงต้องฝึกฝนใหม่ แต่เป็นการฝึกแบบพื้นฐาน เน้นการถ่ายทอดเรื่องคุณค่าในพื้นที่” ปิลันธน์กล่าว
เธอบอกอีกว่า แบรนด์ภูครามมีล็อตการผลิตอยู่ที่ 3 เดือนต่อการจำหน่าย 1 ครั้ง แต่ละครั้งได้ผลิตภัณฑ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องแต่งกายสตรีราว 300 ชิ้น โดยเพิ่งจำหน่ายสินค้าล็อตล่าสุดไปเมื่อปลายเดือนมีนาคม ฉะนั้น เมื่อไวรัสโควิด-19 เข้ามาเยือน และงานเทรดโชว์ต้องเลื่อนออก แทนที่จะได้ออกบูธจำหน่าย เธอจึงหันมาขายออนไลน์ พร้อมร่วมโครงการกับคราฟต์โนแมดส์ผลิตหน้ากากผ้ารุ่นลิมิเต็ดอิดิชั่น
“เราลองขายในออนไลน์ดูพบว่าก็ยังขายได้ปกติ ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิดสักเท่าไหร่ ส่วนตอนนี้อยู่ระหว่างการผลิตอีกรอบ และยังไม่ได้จำกัดคนทำงานหรือผู้ผลิตต่างๆ ขณะเดียวกันก็ตั้งรับไว้ก่อนว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรบ้าง เพราะเราเพิ่มช่องทางการขายมากขึ้น แต่จำนวนการผลิตเท่าเดิม ดังนั้น ต้องขยันขายมากขึ้น เราเป็นแบรนด์ที่ทำไว้ก่อนจะมีโควิด ดังนั้น หลังผ่านโควิดไปแล้วก็อยากทำสตูดิโอของแบรนด์ขายเองที่หมู่บ้าน เน้นให้คนรู้จักภูครามมากขึ้น อยากให้เขาเข้ามาซื้อในพื้นที่
“ภูครามไม่ค่อยมีไซซ์ ถ้าลูกค้าอยากรู้ว่าใส่ได้หรือไม่ได้ต้องมาลอง บางครั้งก็มีตำหนิเรื่องงานปัก หรือในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งอยากให้ลูกค้ามาเห็นงานก่อนซื้อ ต่อให้ขายแบบออนไลน์ดีขึ้น หรือขยันขายออนไลน์มากขึ้น แต่ก็รู้สึกว่าการขายออกบูธก็สำคัญเช่นกัน”
ฝ้ายออร์แกนิคเมืองเลย
โปร่งใสทุกขั้นตอนผลิต อ่อนโยนทุกการสัมผัส
ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่และหัวใจที่รักความเป็นธรรม โฟล์คชาร์ม โดย ภัสสร์วี ตาปสนันทน์ ได้รวมตัวกับชาวบ้านและเกษตรกรผู้ปลูกฝ้ายธรรมชาติ ออร์แกนิค 100% เป็นผ้าฝ้ายปลอดสารเคมี ปลูกแบบอินทรีย์ และทอมือ ย้อมสีธรรมชาติ โดย ชุมชนใน จ.เลย ผลิตชิ้นงานที่อ่อนโยนต่อผิวหนัง
ขณะเดียวกันทางกลุ่มยังเน้นย้ำเรื่องความโปร่งใสด้านราคา โดยเม็ดเงินลงไปถึงชุมชนและชาวบ้านผู้ผลิตอย่างแท้จริง พร้อมให้ความสำคัญกับความตระหนักรู้ของผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์ชุมชน และแฟชั่นเนิบช้าที่ยั่งยืน
ภัสสร์วีขยายประเด็นเหล่านี้ให้ฟังว่า ปัญหาที่เห็นตั้งแต่เริ่มทำ “โฟล์คชาร์ม” คือเรื่องรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งลูกค้าคุ้นชินกับการต่อราคาที่ตลาดโอท็อป ทำให้ชาวบ้านเคยชินกับการขายราคาถูก ดังนั้น ทางกลุ่มจึงให้ความสำคัญกับเรื่องความโปร่งใสด้านราคา อีกทั้งการตรวจสอบย้อนกลับไปถึงต้นตอของผลิตภัณฑ์ และความโปร่งใสในกระบวนการผลิต
“ลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์ของเราสามารถรู้ได้เลยว่ากระบวนการผลิตของโฟล์คชาร์มเป็นอย่างไร ใครเป็นคนปลูกฝ้าย ใครเข็นฝ้าย ใครย้อม ทอ ตัดเย็บ ทราบได้หมด เราเป็นแค่ตัวอย่างเล็กๆ ของโครงการหรือชุมชนที่เป็นสโลว์แฟชั่น อยากให้ผู้บริโภคเห็นว่าเขามีทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ใช่ฟาสต์แฟชั่น หรือแค่แบรนด์ไฮเอนด์
“เรื่องหน้ากากผ้านั้นอย่าลืมว่าหน้ากากผ้าสะท้อนน้ำทำจากโพลีเอสเตอร์ ใช้เวลาย่อยสลายนานมาก ส่วนของโฟล์คชาร์มที่ร่วมในโปรเจ็กต์คราฟต์โนแมดส์ทำจากฝ้ายร้อยเปอร์เซ็นต์ ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย คนที่ซื้อไปแล้วก็มารีวิวว่าใส่สบายกว่ายี่ห้ออื่น หายใจง่าย สายคล้องก็เป็นฝ้ายออร์แกนิค ปรับได้ ไม่เจ็บหู ใส่ได้ทั้งวัน”
แด่การเปลี่ยนแปลงที่ยากยิ่งแต่ยั่งยืน
ย้อนกลับไปราว 1 ปีก่อน ขณะที่ เกรียงไกร บุญเหลือ สร้างกลุ่มคราฟต์ วันทา เขาก็เจอความยากตั้งแต่แรกเริ่ม โดย ชาวบ้านใน จ.สุรินทร์ มีอาชีพหลักเป็นเกษตรกร มีรายได้เสริมจากงานหัตถกรรม ทอผ้าไหม และงานฝีมือ ทว่า แม้จะถนัดงานเรื่องการทอผ้า แต่กลับย้อมด้วยสีเคมี เขาจึงต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง ชักชวนชาวบ้านให้หันมาทอผ้าฝ้ายออร์แกนิคย้อมสีธรรมชาติ แต่มีช่างทอสนใจเพียง 2 คนเท่านั้น
“เดิมทีผมเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ย้ายมาอยู่สุรินทร์ได้ 5 ปีแล้ว เห็นปัญหารายได้ภาคเกษตรไม่แน่นอน และเห็นว่าชาวบ้านมีความถนัดเรื่องการทอผ้า จึงอยากช่วยให้เขามีรายได้เสริมจากงานหัตถกรรม แต่ปรับเปลี่ยนวัตถุดิบและการผลิต จากเดิมที่ทอผ้าไหมย้อมสีเคมีมาเป็นทอผ้าฝ้ายออร์แกนิคย้อมสีธรรมชาติ ช่วงการเปลี่ยนแปลงมีแม่ๆ ช่างทออยากมาทำกับเราแค่ 2 คน แต่พอทำไปเรื่อยๆ สินค้าขายได้ ชาวบ้านที่ทำกลุ่มแรกๆ ได้ซึ่งผลตอบแทนเต็มที่จึงไปบอกกันปากต่อปาก มีคนสนใจร่วมงานกับเรามากขึ้น
“สำหรับฝ้ายที่นำมาผลิต ตอนนี้ทางกลุ่มซื้อจากสหกรณ์กรีนเนท รวมทั้งซื้อจากชาวบ้านใน จ.อุบลราชธานี ที่ปลูกแบบออร์แกนิค ส่วนการย้อมสีใช้การย้อมแบบธรรมชาติ โดยย้อมจากเปลือกไม้ที่เป็นวัตถุดิบจากที่อื่น จึงคิดว่าหากในอนาคตเรามีวัตถุดิบในพื้นที่ก็น่าจะดี ดังนั้น จึงไปขอพันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติของศูนย์หม่อนไหมในจังหวัดแจกจ่ายให้สมาชิกปลูก เมื่อต้นไม้พวกนี้โต ชาวบ้านจะได้มีรายได้เสริมจากการขายวัตถุดิบให้ผมด้วย และทำให้ชุมชนมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นด้วย” เกรียงไกรกล่าว
เมื่อถามถึงผลตอบรับจากหน้ากากผ้าที่ผลิตภายใต้โปรเจ็กต์ Craft It Forward เกรียงไกรเล่าว่า การผลิตช่วงแรกเจอปัญหาว่าหน้ากากผ้ามีขนาดเล็กไปสำหรับผู้ชาย จึงแก้ไขด้วยการเพิ่มขนาดหน้ากากและสายยางยืด อีกทั้งใช้ลูกปัดไม้เป็นตัวปรับสายให้สามารถปรับขนาดได้ตามต้องการ เหมาะสำหรับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
เสน่ห์ของงานคราฟต์ไม่เพียงแต่สร้างสรรค์ขึ้นอย่างละเมียดละไม แต่ยังล้นเหลือไปด้วยอัตลักษณ์ท้องถิ่น สะท้อนให้งานทุกชิ้นมีคุณค่ายิ่งขึ้น
ทุกผืนผ้ามีชีวิต ทุกชิ้นงานมีเรื่องราว
หัวใจสำคัญของการรวมตัวกันทำโครงการ Craft It Forward คือเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับงานคราฟต์ซึ่งละเอียดลออทุกขั้นตอน อีกทั้งความโปร่งใสในการตรวจสอบย้อนกลับทุกชิ้นงาน
หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งโครงการกล่าวถึงประเด็นนี้สั้นๆ ว่า เมื่อโควิด-19 ทำให้ออกไปไหนไม่ได้ ตอนนี้จึงวางแผนเตรียมเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับเล่าเรื่องราวงานคราฟต์ของแต่ละศิลปิน แต่ละชุมชน ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ของคราฟต์โนแมดส์ เพื่อให้คนทั่วไปได้มีโอกาสเข้าใจถึงคุณค่าและความแตกต่างของงานคราฟต์ที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Crafts และได้เห็นถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ
ด้าน สุนิตย์ เชรษฐา จาก ChangeFusion อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ เปิดเผยว่า ได้พูดคุยกับทีมผู้ร่วมก่อตั้งคราฟต์โนแมดส์ถึงแนวคิดโครงการสนับสนุนงานคราฟต์ที่ยั่งยืนมาพักหนึ่งแล้ว โดยตั้งใจจะสร้างสินค้าเป็นคอลเล็กชั่นที่น่าสนใจ หรือตั้งหัวข้อที่มีจุดเชื่อม เช่น แม่น้ำ ผู้หญิง สัญลักษณ์ในงานทอ งานปักของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจุดร่วมเหล่านี้จะเป็นความสนุกหรือความตั้งใจที่จะเล่าเรื่องให้แตกต่างกันออกไป เพียงแต่เจอโควิด-19 เสียก่อน ทำให้โครงการแรกที่เปิดตัวมาเป็นการสร้างสรรค์หน้ากากผ้า
“สิ่งที่อยากเน้นนอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ที่เราให้ความสำคัญคือการสร้างช่องทางการขายใหม่ที่ให้คุณค่ากับงานประเภทนี้ ทั้งเรื่องของชุมชนและเนื้องาน วิถีที่ดีกับสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านพร้อมๆ กัน ซึ่งก็เป็นแนวคิดเดียวกับแฟชั่นเนิบช้าที่ยั่งยืน เพราะรู้สึกว่าช่องทางเทรดโชว์ที่มี หรือการขายออนไลน์ หรือการฝากขายทำให้ศิลปินงานคราฟต์และชาวบ้านอาจได้เงินจริงไม่เยอะเท่าไหร่ กล่าวคือกลไกการตลาดเดิมขายของแบบนี้ไม่ได้ เราเลยสร้างกลไกตลาดใหม่ เพื่อให้ผู้บริโภคที่สนใจเรื่องเหล่านี้และคนทำงานเติบโตไปด้วยกัน”
สำหรับผู้สนใจหน้ากากผ้ารุ่นลิมิเต็ดอิดิชั่น ปัจจุบันมีทั้งหมด 9 แบบ คลิกเข้าไปเลือกสรรพร้อมสั่งซื้อได้ที่เว็บไซต์ https://www.craftnomads.com เพจเฟซบุ๊ก CraftNomadsShop อินสตาแกรม craftnomadsshop และไลน์ CraftNomads