https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20200525/news_HuiFdWrbFu164002_533.jpg?v=20200525198

'Salmonella'เชื้อในขนมจีบมรณะ 'แบคทีเรีย'ที่ปนมากับอาหารดิบๆ

มาทำความรู้จักกับการติดเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลลา (Salmonella) ที่สามารถติดต่อได้ผ่านการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น เนื้อสัตว์ปีกดิบๆ ไข่ เนื้อวัว ผักและผลไม้ที่ไม่ได้ทำความสะอาด พร้อมวิธีป้องกัน และการรักษา

กรณีที่ชาวบ้านใน จ.สมุทรปราการ เกือบ 20 ราย ล้มป่วยจากอาการท้องเสียอย่างรุนแรง และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย จากการซื้อและกินขนมจีบที่มีแม่ค้ารถเร่มาขาย จากการตรวจตัวอย่างขนมจีบที่ผู้ป่วยกิน เปรียบเทียบกับผลตรวจของผู้ป่วย พบว่า มีเชื้อแบคทีเรีย salmonella ที่ทำให้ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ร่างกายอ่อนเพลีย หากเสียน้ำในร่างกายมาก ๆ อาจช็อกจนเสียชีวิตได้ โดยเชื้อดังกล่าวเกิดจากการเก็บอาหารไว้นาน ซึ่งขนมจีบก็ถือเป็นหนึ่งในอาหารที่เสียง่าย

โดย โรคติดเชื้อซาลโมเนลลา Salmonella Infection หรือโรคติดเชื้อซาลโมเนลลา หรือโรคซาลโมเนลโลสิส เป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียซาลโมเนลลา มักเกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเป็นไข้ ถ่ายเหลว หรืออาเจียน โดยอาการอาจปรากฏอยู่นาน 8-72 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่สุขภาพแข็งแรงอาจมีอาการดีขึ้นเองภายใน 2-3 วันโดยไม่จำเป็นต้องรับการรักษา ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ เกิดขึ้น

อาการของ Salmonella Infection
การติดเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา อาจใช้เวลานานหลายชั่วโมงจนถึง 2 วัน จึงจะปราฏอาการของโรค เช่น
- ปวดท้อง
- ท้องเสีย โดยอุจจาระอาจมีเลือดปน
- อาเจียน
- ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
- เป็นไข้ หนาวสั่น
- เบื่ออาหาร

โดยปกติแล้วอาการของ Salmonella Infection จะคงอยู่ประมาณ 2-7 วัน ส่วนอาการท้องเสียอาจคงอยู่ประมาณ 10 วัน ซึ่งอาจอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนจนกว่าลำไส้จะกลับมาทำงานปกติ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีสุขภาพดีบางคนอาจฟื้นตัวจากอาการต่าง ๆ ได้เองภายใน 2-3 วันโดยไม่ต้องรับการรักษา หรือบางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ เลยก็ได้

ทั้งนี้ หากยังมีอาการผิดปกตินานเกิน 7 วัน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์อีกซ้ำ นอกจากนี้ หากผู้ติดเชื้อเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง แล้วมีอาการอุจจาระเป็นเลือด มีไข้สูง หรือมีภาวะขาดน้ำ เกิดขึ้นนานกว่า 2-3 วัน ควรไปพบแพทย์ซ้ำเช่นเดียวกัน

สาเหตุของ Salmonella Infection
ซาลโมเนลลา เป็นแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ของคนหรือสัตว์และสามารถปนออกมากับอุจจาระได้ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนแบคทีเรียนี้ โดยมีตัวอย่างปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดดังกล่าว ดังนี้
- เนื้อดิบ เนื้อหมู เนื้อไก่ หรือเนื้อสัตว์ชนิดอื่นอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ในระหว่างกระบวนการผลิตได้
- ไข่ดิบ โดยแม่ไก่ที่มีเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลาอาจส่งผ่านเชื้อโรคไปสู่ไข่ไก่ตั้งแต่เปลือกไข่ยังไม่ก่อตัว จึงทำให้การรับประทานไข่ดิบหรือรับประทานอาหารที่มีไข่ดิบเป็นส่วนผสมอาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ได้
- ผักและผลไม้ ผักและผลไม้อาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลาจากการใช้น้ำที่มีเชื้อโรคดังกล่าวในระหว่างเพาะปลูก ล้างผักหรือผลไม้ด้วยน้ำที่ปนเปื้อน หรือสัมผัสกับน้ำจากเนื้อดิบที่มีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ในระหว่างประกอบอาหาร
- สัตว์เลี้ยง สัตว์เลี้ยงบางชนิดอาจมีเชื้อซาลโมเนลลาได้โดยที่เจ้าของไม่ทราบ เช่น สุนัข แมว นก กิ้งก่า หรืองู เป็นต้น เมื่อใช้มือสัมผัสขนหรือผิวหนังของสัตว์เลี้ยงที่ปนเปื้อนเชื้อนี้จากอุจจาระสัตว์แล้วนำนิ้วมือเข้าปาก อาจเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวได้

นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้ อาจยิ่งมีโอกาสเสี่ยงเกิดโรค Salmonella Infection
- ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหารหรือลำไส้
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ โรคมาลาเรีย  ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ และผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกันหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น
- ผู้ที่เสี่ยงสัมผัสเชื้อซาลโมเนลลา เช่น ผู้ที่เลี้ยงนกหรือสัตว์เลื้อยคลาน และผู้ที่ต้องเดินทางไปยังประเทศกำลังพัฒนาและมีปัญหาด้านระบบสาธารณสุข

การวินิจฉัย Salmonella Infection
แพทย์สามารถวินิจฉัย Salmonella Infection ได้โดยนำตัวอย่างอุจจาระของผู้ป่วยไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการผิดปกติ นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่แบคทีเรียจะเข้าสู่กระแสเลือด แพทย์อาจตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว นอกจากนี้ แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีการอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาและสายพันธุ์ของแบคทีเรียชนิดนี้

การรักษา Salmonella Infection
การรักษา Salmonella Infection ทำได้หลายวิธีโดยมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยได้รับสารน้ำอย่างเพียงพอเพื่อทดแทนส่วนที่เสียไป ซึ่งอาจดูแลอาการด้วยตนเองที่บ้านได้โดยป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ ผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ควรใช้วิธีดื่มน้ำตาลเกลือแร่ให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ ส่วนผู้ป่วยที่เป็นเด็กอาจให้รับประทานน้ำตาลเกลือแร่สำหรับเด็กแทน รวมทั้งเฝ้าระวังอาการท้องเสียหรืออาเจียนที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะขาดน้ำได้

แต่หากอาการที่เกิดขึ้นมีความรุนแรง อาจต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยการให้ของเหลวผ่านทางหลอดเลือด ซึ่งแพทย์อาจรักษาด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม ดังนี้
- ใช้ยาแก้ท้องเสีย อย่างยาโลเพอราไมด์เพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องเสียของผู้ป่วย แต่ยาอาจทำให้อาการท้องเสียที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลาหายช้าลง หรืออาจเกิดผลข้างเคียงอย่างอื่นได้ จึงควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ใช้ยาปฏิชีวนะ หากอาการที่เกิดขึ้นมีความรุนแรง หรือผู้ป่วยมีความบกพร่องด้านระบบภูมิคุ้มกัน หรือมีความเสี่ยงที่แบคทีเรีย Salmonella จะเข้าสู่กระแสเลือด แพทย์อาจใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว แต่การใช้ยาปฏิชีวะในผู้ป่วยที่มีอาการไม่ซับซ้อนอาจไม่มีประโยชน์ต่อการรักษา และยังอาจทำให้แบคทีเรียอยู่ในร่างกายผู้ป่วยนานขึ้นซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้

ภาวะแทรกซ้อนของ Salmonella Infection
แม้อาการของ Salmonella Infection อาจไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากเกิดภาวะดังกล่าวขึ้นกับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ ดังนี้
- ภาวะขาดน้ำ เกิดขึ้นจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอกับที่ร่างกายสูญเสียน้ำ จนอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความผิดปกติต่าง ๆ เช่น ปากแห้ง ลิ้นแห้ง ปัสสาวะน้อย ร่างกายผลิตน้ำตาน้อยลง หรือเบ้าตาลึก เป็นต้น

- ภาวะเลือดเป็นพิษ หากแบคทีเรียซาลโมเนลลาเข้าสู่กระแสเลือด อาจทำให้เนื้อเยื่อส่วนอื่นในร่างกายติดเชื้อจนอาจเกิดอาการที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ กระดูกอักเสบ เป็นต้น
โรคข้ออักเสบรีแอคทีฟ ผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลาอาจมีความเสี่ยงต่อโรคข้ออักเสบรีแอคทีฟมากขึ้น ซึ่งโรคข้ออักเสบชนิดนี้อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดตามข้อต่อ ปวดเมื่อปัสสาวะ หรือมีอาการตาอักเสบ

การป้องกัน Salmonella Infection
เชื้อแบคทีเรีย Salmonella อาจแฝงอยู่ในเนื้อดิบ ผักผลไม้ หรือบนผิวหนังของสัตว์เลี้ยง ซึ่งการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนหรือสัมผัสสัตว์เลี้ยงอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคชนิดนี้ได้ จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อป้องกันเชื้อโรคดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย
- ล้างมือด้วยน้ำอุ่นและสบู่หลังทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น สัมผัสเนื้อดิบ เข้าห้องน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ทารก เล่นกับสัตว์เลี้ยง สัมผัสสัตว์เลื้อยคลาน หรือเก็บมูลสัตว์ เป็นต้น
- ห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ที่ยังไม่สุก เช่น เนื้อไก่ เนื้อวัว หรือเนื้อหมู เป็นต้น    

- หลีกเลี่ยงการรับประทานไข่ดิบหรืออาหารที่ใช้ไข่ดิบเป็นส่วนผสม หากไข่นั้นยังไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ (Pasteurization)
- ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด หากเป็นไปได้ควรปอกเปลือกก่อนรับประทาน
- แยกเนื้อสัตว์ที่ยังดิบออกจากวัตถุดิบอื่น ๆ เมื่อเก็บในตู้เย็น
ทำความสะอาดครัวบริเวณที่ใช้วางวัตถุดิบสำหรับทำอาหาร และควรใช้เขียงหรืออุปกรณ์อื่น ๆ แยกกันระหว่างเนื้อดิบและผักหรือผลไม้   
- ล้างภาชนะที่ใช้ใส่เนื้อดิบให้เรียบร้อยก่อนนำมาใส่อาหารที่ปรุงสุกแล้ว