“สุริยะ” ลั่นพานาโซนิคยังปักฐานผลิตไทยถึง 18 โรงงาน ย้ายไปเวียดนามแค่เล็กน้อย

by
https://mpics.mgronline.com/pics/Images/563000005593301.JPEG

“สุริยะ” ไม่กังวลพานาโซนิคย้ายฐานผลิตไปเวียดนามแค่สายผลิตตู้เย็นและเครื่องซักผ้า ยันอีก 18 โรงงานจ้างงานกว่าหมื่นคนยังปักฐานอยู่ในไทย พร้อมดึงงบหมื่นล้านหนุนเศรษฐกิจชุมชน 4 มิติช่วยได้กว่า 1.25 ล้านคน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีบริษัทพานาโซนิคย้ายฐานการผลิตตู้เย็นและเครื่องซักผ้าไปยังประเทศเวียดนาม ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นแผนธุรกิจเดิมที่พานาโซนิควางไว้อยู่แล้วเพื่อให้ขนาดการลงทุนมีความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น (Economy of scale) เพื่อรวมสายการผลิตไว้ที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันเป็นฐานการผลิตหลักของตู้เย็น และเครื่องซักผ้าของกลุ่มบริษัทพานาโซนิคในอาเซียนอยู่ ปัจจุบันกลุ่มบริษัทพานาโซนิคยังมีโรงงานอยู่ในประเทศไทยอีก 18 โรงงาน ใช้แรงงานกว่า 10,000 คน โดยมีผลิตภัณฑ์หลักๆ เช่น เครื่องเสียง โทรทัศน์ แผ่นพิมพ์วงจรไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดยังคงเดินสายการผลิตที่ประเทศไทย

"การย้ายฐานพานาโซนิคไปเวียดนามส่วนน้อยเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมาทางบริษัทได้นำเข้าชิ้นส่วนของเครื่องซักผ้าและตู้เย็นชิ้นส่วนมาจากเวียดนามเป็นหลักเพื่อนำมาประกอบในประเทศไทยอยู่แล้ว จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่บริษัทตัดสินใจย้ายสายงานดังกล่าวไปเวียดนาม เช่นเดียวกับกรณีของผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศไดกิ้นก็ย้ายไปเวียดนามเฉพาะโมเดลทั่วไปฐานผลิตที่ไทยยังคงเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง" นายสุริยะกล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศโดยจะใช้งบประมาณดำเนินการ 10,000 ล้านบาทภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาทที่คาดว่าจะสามารถช่วยประชาชนในภาพรวมได้กว่า 1.25 ล้านคน ผ่านการเร่งรัดดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพ ธุรกิจอิสระ ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการจ้างงานลดลง

"ขณะนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนงบประมาณจำนวน 35% จากงบประมาณคงเหลือของปี 63 นำมาช่วยเหลือและฟื้นฟูใน 4 มิติข้างต้นแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการจ้างงานลดลงจะถูกช่วยเหลือให้มีโอกาสสร้างงานสร้างอาชีพกว่า 6,000 คน และจะพิจารณาขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศในระยะต่อไป" นายสุริยะกล่าว

ทั้งนี้ จะมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนใน 4 มิติ คือ 1. มิติผู้ประกอบการ SMEs โดยการปรับธุรกิจให้อยู่รอดในสถานการณ์โควิด-19 และเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้ความปกติวิถีใหม่ (New Normal) 2. มิติชุมชนและวิสาหกิจชุมชน เน้นให้สามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น 3. มิติเกษตร ให้เน้นเกษตรอุตสาหกรรมผ่านระบบเทคโนโลยี (Farming 4.0) และ 4. มิติประชาชน แรงงาน และบัณฑิตจบใหม่ โดยการสร้างอาชีพอิสระทั้งในแง่ของการสร้าง และการนำทักษะของแต่ละคนมาประกอบอาชีพอิสระ รวมถึงการเริ่มธุรกิจค้าขายและบริการตามที่ตนเองถนัด เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้